ทนายภูวรินทร์
ระวัง ! เช็คเด้ง แล้วฟ้องให้ผู้ออกเช็ครับผิดชำระเงินตามเช็คไม่ได้ (16634 อ่าน)
30 ก.ค. 2555 15:15
เช็ค คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้สั่งจ่าย” สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับเงิน” หากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อมีการนำเช็คไปเรียกเก็บโดยชอบแล้ว ผู้สั่งจ่ายก็สัญญาว่าตนจะใช้เงินจำนวนตามเช็คนั้นให้ด้วย
หนังสือตราสารที่จะเป็นเช็คตามกฎหมายจะต้องมีรายการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค
(2) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
(3) ชื่อ หรือยี่ห้อ และสำนักของธนาคาร
(4) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
(5) สถานที่ใช้เงิน
(6) วันและสถานที่ออกเช็ค
(7) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย
เช็คจึงเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่างผู้สั่งจ่ายและผู้ทรงซึ่งมีเช็คไว้ในครอบครองโดยเป็นผู้รับเงินตามเช็คว่า เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็ค จึงถือว่า เช็คเป็นตราสารที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสำคัญต่อการประกอบธุรกิจที่ใช้เช็คชำระหนี้แทนเงินสดเป็นอย่างมาก หากเช็คมีรายการครบถ้วนสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วก็คงไม่มีปัญหาให้ผู้รับเงินตามเช็คปวดหัวและเจ็บใจอย่างใด เพราะอาจมีเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ผู้สั่งจ่าย หรือผู้สลักหลังไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คก็ได้
ดังนั้น ผมจึงได้นำตัวอย่างเช็คที่ผู้สั่งจ่ายไม่ต้องรับผิดตามเช็คมาแสดงชี้แจงให้ผู้อ่านที่มีความเกี่ยวข้องกับเช็คในการประกอบกิจการได้ศึกษาและเป็นอุทาหรณ์เพื่อจะได้ระมัดระวังในการรับเช็คจากบุคคลอื่นที่รู้หน้าแต่ไม่รู้ใจให้ดียิ่งขึ้น เรื่องมีอยู่ว่า นายเลวสั่งจ่ายเช็คจำนวน 500,000 บาท ส่งมอบเพื่อชำระเป็นค่าสินค้าให้แก่นายดี โดยเช็คฉบับดังกล่าวนายเลวซึ่งรู้กฎหมายเรื่องเช็คเป็นอย่างดีได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออกและเขียนคำว่า “สด” ลงไปในช่องว่างหลังคำว่า “จ่าย” ต่อมานายดีได้นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค นายดีทวงถามนายเลวให้รับผิดชำระเงินตามเช็คนั้น ปรากฏว่านายเลวต่อสู้ว่าเช็คดังกล่าวมีรายการขาดตกบกพร่องในขณะออกเช็ค ไม่สมบูรณ์เป็นเช็ค ตนเองจึงไม่ต้องรับผิดตามเช็คนั้น นายดีจึงฟ้องให้นายเลวรับผิดชำระเงินตามเช็คต่อศาล ผลการดำเนินคดีเป็นที่สุดแล้ว ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 6305/2548 พิพากษายกฟ้องตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์โดยวินิจฉัยสรุปว่า “เช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายมีการขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก แล้วเขียนคำว่า "สด" ลงไปในช่องว่างหลังคำว่า "จ่าย" ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988 (4) บัญญัติไว้ และการขีดฆ่าดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 ซึ่งเป็นเรื่องการเขียนข้อความที่มิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะตั๋วเงิน ข้อความที่เขียนลงไปจึงไม่มีผลแก่ตั๋วเงิน การที่เช็คพิพาทขาดรายการซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมี ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตามมาตรา 987 และมาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง แม้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังก็ไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น”
ท่านผู้อ่านเห็นใช่ไหมครับว่า ผู้ที่มีความรู้แต่ใช้ไปในทางเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นด้วยเจตนาทุจริตนั้นมีอยู่ในสังคมเป็นอันมาก ดังนั้น ผู้รับเช็คจึงต้องระมัดระวังและรู้เท่าทันอยู่เสมอ หากเป็นเช็คที่มีลักษณะตามตัวอย่างข้างต้น ก็ไม่ควรรับไว้และแจ้งให้ผู้ออกเช็คจัดทำเช็คที่มีรายการครบถ้วนตามกฎหมายให้ใหม่ทันที ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบุคคลผู้ไม่หวังดี ดังนั้น ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านคงจะได้รับทราบความรู้เรื่องเช็คเพื่อใช้เป็นประโยชน์ต่อกิจการ หรือต่อบุคคลที่ต้องการความรู้ทางด้านเช็คนะครับ แล้วพบกันในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ
ทนายภูวรินทร์
ผู้ดูแล
เนเน้
8 ก.ย. 2556 12:57 #3
ขอบคุณมากค่ะ แปลว่าเวลารับเช็คต้องมีครบใน 7 ข้อข้างบนที่แจ้งใช่ไหมคะ
แล้วถ้ากรณีเจอเช็คที่ขีดค่าตัวเลขแล้วเซ็นกำกับจะได้เงินครบไหมคะหรือไม่ได้คะ ตอบทางอีเมลล์ส่วนตัวก็ได้นะคะ
ขอบคุณคุณทนายภูวรินทร์มากค่ะ
เนเน้
ผู้เยี่ยมชม
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
8 ก.ย. 2556 23:41 #4
ตอบคำถามคุณเนเน้
ถูกต้องครับเช็คจะต้องมีรายการครบถ้วนทั้งเจ็ดข้อดังกล่าวข้างต้น ส่วนกรณีที่มีการขีดฆ่าตัวเลขแล้วลงลายมือชื่อกำกับก็ต้องให้เขียนจำนวนเงินที่ถูกต้องใหม่ลงไปแทนด้วย แต่จะได้เงินตามเช็คหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะขึ้นอยู่กับว่าบัญชีตามเช็คมีเงินอยู่พอที่จะจ่ายเงินตามเช็คหรือไม่
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
ผู้ดูแล
Krit
3 ก.พ. 2557 23:55 #6
เรียนถามทนายภูวรินทร์หน่อยครับ ลูกค้าจ่ายค่าสินค้าด้วยเช็คเมื่อวันที่ 25พย.2556 เช็คเด้งผมจะทำอย่างไรจึงจะได้เงินคืนบ้างครับ ขั้นตอนอย่างไรบ้างครับ รบกวนคุณทนายภูวรินทร์ช่วยตอบทางอีเมลล์ส่วนตัวครับผมอาจจะโทรหาคุณทนายภูวรินทร์เพื่อปรึกษาครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ
Krit
ผู้เยี่ยมชม
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
18 ก.พ. 2557 17:05 #7
ทนายภูวรินทร์ได้ตอบคำถามคุณ Krit ทางอีเมลล์แล้ว
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
ผู้ดูแล
ธีรสิทธิ
12 ก.ย. 2557 10:17 #8
นาย ก. จ่ายเช็คชำระค่าสินค้า กับ นาย ข. นาย ข. นำเช็คของนาย ก. ไปชำระค่าสินค้ากับนาย ค. โดยนาย ข.สลักหลัง เช็คเด้ง ใครรับผิดชอบ แจ้งคดีอาญากับใครครับ
ธีรสิทธิ
ผู้เยี่ยมชม
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
4 ต.ค. 2557 15:43 #9
~~ตอบคำถามคุณธีรสิทธิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2550 "ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 คำว่า "ผู้ใดออกเช็ค" มิได้มีความหมายเฉพาะผู้ออกเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำ ความผิดได้ บุคคลอื่นแม้มิใช่ผู้สั่งจ่ายก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คโดยเป็นตัว การร่วมกันตาม ป.อ. มาตรา 83 ได้ ดังนั้น ผู้สลักหลังเช็คจึงอาจเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คได้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาท โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ออกเช็คพิพาทและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันออกเช็คพิพาทชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุมีคำสั่งให้ระงับการจ่าย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง"
คดีตามคำพิพากษาดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผู้สลักหลังเช็คทำการสลักหลังต่อหน้าผู้ออกเช็ค ศาลวินิจฉัยว่าเป็นตัวการร่วมกระทำผิดได้เพราะอยู่พร้อมกันในขณะส่งมอบเช็คแก่ผู้เสียหาย แต่กรณีตามคำถามหากผู้สลักหลังไม่ได้ร่วมอยู่ด้วย ก็คงไม่ผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันออกเช็คครับ เรื่องนี้น่าจะดำเนินคดีอาญากับผู้ออกเช็คเท่านั้น
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
ผู้ดูแล
Mr.ling
9 ธ.ค. 2557 05:15 #10
กรณีตัวอย่างนะครับ นายเลวไม่มีเงินจ่ายหรือธ.ไม่สามารถจ่ายได้แม้มีเงินก็ตามครับ:k:
Mr.ling
ผู้เยี่ยมชม
ชญานน อนุจารีวัฒน์
21 ส.ค. 2559 19:18 #12
พี่สาวทำงานร้านยางตำแหน่งบัญชี วันนึงนายจ้างไปบวช แล้วให้พี่สาวทำหน้าที่ซื้อขายยาง โดยการจ่ายเปนเชคเพื่อซื้อยางเข้าร้าน โดยนายจ้างบอกจะโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อเปนค่ายาง แต่ไม่ได้โอนให้ บริษัทยางเอาเชคไปขึ้นเงินไม่ได้เชคเด้ง จึงไปแจ้งความจะดำเนินคดีกับพี่สาวครับ ตอนนี้พี่สาวออกจากร้านยางนั้นแล้ว เจ้าร้านยางก็ไม่ยอมไปจ่ายค่ายางบริษัทยาง ควรทำอย่างไรดีครับ. เพราะเงินค่ายางประมานหกแสนกว่าบาท
ขอความกรุณาด้วยครับ ขอบคุณครับ
ชญานน อนุจารีวัฒน์
ผู้เยี่ยมชม
ขนิษฐา
16 ม.ค. 2560 13:48 #13
รบกวนสอบถามค่ะ
ในกรณีเช็คตีกลับหรือเช็คเด้ง ก่อนดำเนินคดีเราจำเป็นต้องทำหนังสือทวงถามไปก่อนมั้ยคะ แล้วในหนังสือทวงถามนั้นเราสามารถคิดดอกเบี้ยจากยอดเช็คได้หรือไม่คะ อยากทราบแนวทางในการร่างหนังสือทวงถามค่ะ
ขนิษฐา
ผู้เยี่ยมชม
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
16 ม.ค. 2560 16:46 #14
ตอบคำถามคุณขนิษฐา
เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ผู้ทรงเช็ค มีสิทธิดำเนินคดีอายาภายใน 3 เดือน นับแต่วันเช็คขึ้นเงินไม่ได้ โดยไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวหรือทวงถามก่อน ก็สามารถแจ้งความหรือฟ้องคดีเองได้
เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ตามกฎหมายให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ได้ หนังสือทวงถามจึงแจ้งยอดดอกเบี้ยไปได้
แต่หากฟ้องคดีอาญา เป็นเรื่องขอให้ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก หากมีการไกล่เกลี่ยก็แจ้งยอดให้ชำระดอกเบี้ยด้วยได้ ส่วนคดีแพ่งสามารถเรียกดอกเบี้ยผิดนัดได้
แนวทางร่างหนังสือ ก็ต้องทำหนังสือเป็นสามวรรคแบบคร่าวๆ
1.ท้าวถึงความเป็นมาแห่งหนี้ เมื่อไหร่ ยอดเท่าไหร่ ถึงกำหนดเมื่อใด และจ่ายเป็นเช็คมา
2.ใส่รายละเอียดการผิดนัดชำระหนี้ คือเช็คเด้ง ทวงถามแล้วไม่จ่าย
3. ขอให้จัดการชำระหนี้ภายในกี่วัน หากไม่ชำระจะทำอะไร
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
ผู้ดูแล
วชิระ
29 พ.ค. 2560 15:57 #15
เช็คเด้งแล้ว แต่ลูกหนี้บอกว่าจะหาเงินมาเข้าบัญชีให้อีก 15 วัน หลัง 15 วันแล้วให้เอาไปเช็คฉบับเดิมไปขึ่นเงินกับธนาคาร ผมรบกวนถามว่าแบบนี้ทำได้ไหมครับ
วชิระ
ผู้เยี่ยมชม
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
9 ก.ค. 2560 22:51 #16
ตอบคำถามคุณวชิระ
เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินครั้งแรกแล้ว อายุความคดีอาญาย่อมเดินไป หากเกินสามเดือน คดีก็ขาดอายุความ ส่วนคดีแพ่งเรียกเงินตามเช็คมีอายุความ 1 ปี กฎหมายให้เริ่มนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
ส่วนกรณีที่ผู้สั่งจ่ายให้เอาเช็คไปขึ้นเงินอีกนั้น ผมแนะนำให้เอาเช็คฉบับแรกไปเปลี่ยนเป็นฉบับใหม่จะดีที่สุดครับ เพราะเจ้าหน้าที่ธนาคารอาจไม่ยอมเอาไปเรียกเก็บอีกครั้ง เนื่องจากอาจถูกเจ้าของบัญชีฟ้องร้องได้ เพราะเมื่อเช็คถูกธนาคารปฏิเสธไปแล้ว สิทธิหน้าที่ตามเช็คในการดำเนินการทางกฎหมายย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันนั้น
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
ผู้ดูแล
น้ำ
21 ก.พ. 2561 21:26 #17
เล่นเชร์แล้วท้าวแชร์ให้ลูกแชร์เอาสมุดเช็คแบบยกเล่ม เซ็นชื่อในเช็คทุกฉบับเพิ่อให้ท้าวแชร์ถือไว้เพื่อเป็นการคำ้ประกันวงแชร์ที่เล่น เมื่อไม่ได้เล่นแชร์แล้วเจ้าของบัญชีได้ไปปิดบัญชีลงเพราะไม่มีความจำเป็นในการเปิดไว้ แต่ต่อมาทางสามีของท้าวแชร์ได้เขียนยอดงเินเช็คของเรา แล้วน้ำไปขึ้นเงิน จากนั้นก็ฟ้องคดีอาญา ความผิดเรื่องการใช้เช็คเรามา แบบนี้เราควรทำอย่างไรคะ
น้ำ
ผู้เยี่ยมชม