ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

  การดัดแปลงอาคารที่ไม่ต้องขออนุญาต (1465 อ่าน)

1 ก.ค. 2553 15:16

สืบเนื่องจากมีสถาปนิกท่านนึงปรึกษาผมเรื่องการดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้ขออนุญาตแต่ไม่แน่ใจเรื่องข้อกฎหมาย ผมจึงขออนุญาตเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ครับ
 “การดัดแปลงอาคารที่ไม่ต้องขออนุญาต”                                              
 บ้านที่เราพักอาศัยอยู่ในปัจจุบันหรือที่กำลังจะซื้อเพื่ออยู่อาศัยนั้นบางครั้งอาจมีลักษณะไม่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับความต้องการพักอาศัยหรือใช้งาน จึงมีความจำเป็นต้องมีการต่อเติมดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ถูกใจผู้เป็นเจ้าของบ้านไม่มากก็น้อยแต่การกระทำดังกล่าวหากดำเนินการไม่ถูกต้องอาจมีความผิดตามกฎหมายควบคุมอาคารได้             
        ในการดัดแปลงอาคารที่อยู่อาศัยนั้นต้องได้รับอนุญาตหรือแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน ตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ อาคารที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา มากที่สุด ก็คือบ้านพักอาศัยซึ่งสามารถดัดแปลงได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ๕ ประการ คือ
(๑) การดัดแปลงโครงสร้างบ้าน โดยการใช้วัสดุขนาดจำนวนและชนิดเดียวกันกับของเดิม     เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กคอนกรีตอัดแรงหรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ โครงสร้างของอาคาร เช่นเสาหรือคานหากเสาบ้านที่เป็นไม้มีปลวกขึ้นทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เจ้าของบ้านจำเป็นต้องเปลี่ยนเสาบ้านนั้นใหม่การใช้เสาไม้ต้นใหม่ที่เป็นชนิดเดียวกับของเดิม และมีขนาด น้ำหนัก เท่าเดิม ก็ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารแต่อย่างใดแต่หากโครงสร้างเหล่านี้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก (คอนกรีตที่มีเหล็กเสริมฝังภายในให้ทำหน้าที่รับแรงได้มากขึ้น) คอนกรีตอัดแรง(คอนกรีตที่มีเหล็กเสริมอัดแรงฝังภายในที่ทำให้เกิดหน่วยแรงที่มีปริมาณพอจะลบล้างหน่วยแรงอันเกิดจากน้ำหนักบรรทุก)หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (เหล็กที่ผลิตออกมามีหน้าตัดเป็นรูปลักษณะต่างๆใช้ในงานโครงสร้าง) เกิดเป็นสนิมผุกร่อนหรือเหตุอื่นใดอันจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ก็ต้องขออนุญาตตามมาตรา๒๑แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.๒๕๒๒ก่อนแม้จะใช้วัสดุอุปกรณ์ขนาดและจำนวนเท่าเดิมก็ตาม กล่าวโดยสรุปหากโครงสร้างบ้านที่ดัดแปลงไม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กคอนกรีตอัดแรง หรือไม่มีเหล็กผสมอยู่ ก็ไม่ต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
 (๒) การดัดแปลงส่วนต่างๆ ของบ้าน เป็นการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างๆของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคารโดยใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิมหรือวัสดุชนิดอื่นซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมในส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ หมายถึงการดัดแปลงส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างอาคารเช่นฝาผนัง พื้นบ้านเป็นต้นในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนพื้นบ้านที่เป็นพื้นปาเก้ไม้ขนาดเล็กเป็นพื้นปาเก้ไม้ขนาดใหญ่กว่าของเดิมอย่างนี้ ก็สามารถทำการดัดแปลงได้แต่ควรต้องให้วิศวกร สถาปนิก หรือช่างผู้ชำนาญการคำนวณน้ำหนักของวัสดุที่จะทำการดัดแปลงทั้งหมดเสียก่อนว่าเพิ่มขึ้นเกินร้อยละสิบของวัสดุเดิมหรือไม่ถ้าไม่เกิน      ก็ไม่เป็นไรแต่หากเกินก็ต้องขออนุญาตเพราะหากน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากจนเกินไปก็จะทำให้โครงสร้างอาคารต้องรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยอย่างนี้อันตราย
(๓) การดัดแปลงที่ไม่เพิ่มน้ำหนักบ้าน เป็นการเปลี่ยนแปลงการต่อเติมการเพิ่มการลดหรือการขยายซึ่งลักษณะขอบเขตแบบรูปทรงสัดส่วนน้ำหนักเนื้อที่ของส่วนต่าง ๆของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร  ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ ซึ่งไม่แตกต่างจาก ข้อ (๒) มากนักเพราะเป็นการเปลี่ยนแบบเปลี่ยนสไตล์ของพื้นที่เล็กๆ น้อยๆในพื้นที่บางส่วนภายในตัวอาคารที่อยู่อาศัยเช่น การเปลี่ยนแบบประตูจากประตูไม้เป็นประตูกระจกการเปลี่ยนหน้าต่างเปลี่ยนลายกระเบื้องฝ้าเพดานกรณีเช่นนี้ ไม่ต้องยื่นขออนุญาตแต่ถ้าหากการเปลี่ยนอุปกรณ์เหล่านั้นทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากจนเกินร้อยละสิบของน้ำหนักเดิมก็จำเป็นต้องยื่นขออนุญาตเพื่อมิให้ผิดกฎหมายเช่นกัน
 (๔) การดัดแปลงขนาดพื้นบ้าน การลดหรือการขยายเนื้อที่ของพื้นชั้นหนึ่งชั้นใดให้มีเนื้อที่น้อยลง หรือมากขึ้นรวมกันไม่เกินห้าตารางเมตรโดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคานเป็นเรื่องของพื้นบ้าน ยกตัวอย่าง เช่นเดิมพื้นบ้านเป็นพื้นเรียบๆติดต่อเป็นแผ่นเดียวกันอยู่แล้วเราไปลดขนาดของพื้นบ้านโดยการเจาะเป็นช่องเพื่อระบายอากาศเพื่อจะได้พูดคุยกันระหว่างชั้นหรือด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่อย่างนี้ไม่ต้องยื่นขออนุญาต หากมีเนื้อที่ที่ทำการลดหรือขยายไม่เกินห้าตารางเมตร โดยไม่มีการลดหรือเพิ่มเสาหรือคาน และไม่ทำให้คานและเสาเดิมต้องรับน้ำหนักเพิ่มเกินกว่าร้อยละสิบจากเดิมตามข้อ(๒)และ(๓) ก็ไม่ต้องขออนุญาต  
(๕) การดัดแปลงหลังคาบ้าน การลดหรือการขยายเนื้อที่ของหลังคาให้มีเนื้อที่มากขึ้นรวมกันไม่เกินห้าตารางเมตรโดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน เป็นการดัดแปลงหลังคาบ้านที่ไม่ต้องขออนุญาต ยกตัวอย่างเช่นการทำหลังคาคลุมดาดฟ้าโดยยื่นจากเดิมออกไปโดยรวมแล้วเป็นการเพิ่มเนื้อที่ออกไปไม่เกิน   ๕ ตารางเมตรโดยไม่มีการเพิ่มหรือลดจำนวนเสาหรือคาน และไม่ทำให้คานและเสาเดิมต้องรับน้ำหนักเพิ่มเกินกว่าร้อยละสิบจากเดิมตามข้อ(๒)และ(๓)อย่างนี้ก็ไม่ต้องยื่นขออนุญาต
                 ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ไม่ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคารและไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น อย่างไรก็ดีก่อนดำเนินการดัดแปลงควรจะได้ตรวจสอบข้อบัญญัติท้องถิ่นของแต่ละ ท้องถิ่นเพิ่มเติมด้วยนะครับเพราะอาจมีข้อบัญญัติที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นได้
            แม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้ดัดแปลงบ้านพักอาศัยได้ แต่ในความเป็นจริงโอกาสที่จะดัดแปลงบ้านพักอาศัยให้ถูกกฎหมายมักจะมีเฉพาะบ้านเดี่ยวที่มีพื้นที่ดินขนาดพอสมควรเท่านั้นถ้าเป็นทาวน์เฮ้าส์และอาคารพาณิชย์ โอกาสที่จะดัดแปลงได้อย่างถูกกฎหมายนั้นมีน้อยทั้งนี้เพราะการก่อสร้างทาวน์เฮ้าส์และอาคารพาณิชย์จะเว้นระยะห่างจากอาคารและที่ดินข้างเคียงไว้พอดีตามที่กฎหมายกำหนดเช่น ตามกฎกระทรวงฉบับที่๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.๒๕๒๒ข้อ๓๓ , ๓๔และ๓๖ กำหนดให้ทาวน์เฮ้าส์และอาคารพาณิชย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า๓๐ใน๑๐๐ส่วนของพื้นที่ ชั้นใดชั้นหนึ่งที่ มากที่สุดของอาคารที่อยู่อาศัยและให้ ทาวน์เฮ้าส์เว้นพื้นที่ว่างทางด้านหลังกว้างไม่น้อยกว่า    ๒เมตร ด้านหน้า๓เมตร และให้อาคารพาณิชย์เว้นพื้นที่ว่างทางด้านหลังกว้างไม่น้อยกว่า๓เมตร เป็นต้น ด้วยเหตุนี้บริเวณด้านหน้าและด้านหลังของทาวน์เฮ้าส์ และอาคารพาณิชย์ จึงไม่อาจดัดแปลงโดยพลการได้   ตามกฎหมาย แต่สภาพความเป็นจริงกลับมีการดัดแปลงโดยพลการ เช่น ดัดแปลงเป็น ลานซักล้าง ห้องครัว   ห้องเก็บของไม่ว่าจะทำเป็นชั้นเดียวหรือ สองชั้นหรือตลอดทุกชั้นตามความสูงเท่าทาวน์เฮ้าส์หรืออาคารพาณิชย์ส่วนด้านหน้าที่มักจะต่อเติมเป็นที่จอดรถล้วนเป็นการดัดแปลงอาคารโดยพลการที่ผิดกฎหมายแทบทั้งสิ้นเพราะทำให้ที่ดินที่เป็นที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุมลดน้อยลงไปกว่าร้อยละ๓๐ตามที่กฎหมายกำหนด การดัดแปลงอาคารลักษณะดังกล่าว จึงจำเป็นต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน
      สรุป การดัดแปลงบ้านพักอาศัยที่ไม่ต้องขออนุญาต ทำได้เฉพาะการเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่ไม่ใช่โครงสร้างที่เป็นเหล็ก โดยใช้วัสดุขนาด จำนวน ชนิดเดียวกับของเดิม , การดัดแปลงส่วนอื่นที่ไม่ใช่โครงสร้างอาคารโดยไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเกินร้อยละสิบจากของเดิม และการเพิ่มหรือลดขนาดของพื้นบ้าน หรือหลังคา ไม่เกินห้าตารางเมตร โดยไม่มีการเพิ่มหรือลดจำนวนเสาหรือคาน และไม่ทำให้เสาและคานเดิมต้องรับน้ำหนักเพิ่มเกินกว่า ร้อยละสิบ จากเดิม นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ดัดแปลงบ้านพักอาศัยได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่นกล่าวคือเมื่อได้แจ้งการดัดแปลงดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และได้ดำเนินการตามมาตรา ๒๑ ประกอบมาตรา ๓๙ ทวิ ตามแบบ ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลและ      ยื่นเอกสาร เช่น ชื่อสถาปนิก วิศวกร ผู้ควบคุมงาน พร้อมใบอนุญาตและหนังสือรับรองของบุคคลดังกล่าว    แบบแปลนพร้อมรายการดัดแปลง วันเริ่มต้น และวันสิ้นสุดการดัดแปลง ตลอดจนค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการดัดแปลงอาคาร  ซึ่งหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา ๒๑ อาจมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

หรือใช้ข้อกำหนดง่ายๆ ตามนี้ได้ครับ 
     1. เป็นการเพิ่มหรือขยายพื้นไม่เกิน 6 ตารางเมตร
     2. เปลี่ยน หรือขยายหลังคาที่เป็นการเพิ่มน้ำหนักอาคารไม่เกิน 10% 
     3. ไม่ได้เพิ่ม หรือลดจำนวนเสา 
     4. ไม่มีการเปลี่ยนเสา คาน พื้นไม้ ผนัง หรือการเพิ่มผนัง ที่เป็นการเพิ่มน้ำหนัก มากกว่า 10%

เปิดดูที่: ข้อบัญญัติกทม. พ.ศ.2522 ข้อ 30 
[๑]พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. ๒๕๒๒
 มาตรา ๔ “ดัดแปลง” หมายความว่า เปลี่ยนแปลงต่อเติมเพิ่มลดหรือขยายซึ่งลักษณะขอบเขตแบบรูปทรงสัด
               ส่วนน้ำหนักเนื้อที่ของโครงสร้างของ อาคารหรือส่วนต่างๆ ซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม
               และมิใช่การซ่อมแซมหรือการดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง    
[๒]พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. ๒๕๒๒
 มาตรา ๔ “อาคาร”หมายความว่าตึกบ้านเรือนโรงร้านแพคลังสินค้าสำนักงานและสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นซึ่งบุคคล
               อาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้
[๓]พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. ๒๕๒๒
 มาตรา ๔ “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” หมายความว่า
              (๑) นายกเทศมนตรีสำหรับในเขตเทศบาล
              (๒) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
              (๓) ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลสำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
              (๔) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
              (๕) นายกเมืองพัทยาสำหรับในเขตเมืองพัทยา
              (๖) ผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดสำหรับในเขต
                    องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
[๔]พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. ๒๕๒๒
 มาตรา ๒๑  “ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือ
                 แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตาม มาตรา ๓๙ ทวิ” 
[๕]กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒
           ข้อ ๑ การกระทำดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร คือ 
                  (๑) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอาคารโดยใช้วัสดุขนาด จำนวนและชนิดเดียวกับของเดิมเว้นแต่การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคาร ที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กคอนกรีตอัดแรงหรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ
                  (๒) การเปลี่ยนส่วนต่างๆของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคารโดยใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิมหรือวัสดุชนิดอื่นซึ่งไม่เป็น     การเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ
                  (๓) การเปลี่ยนแปลงการต่อเติมการเพิ่มการลดหรือการขยายซึ่งลักษณะขอบเขตแบบรูปทรงสัดส่วนน้ำหนักเนื้อที่ของส่วน ต่างๆ  ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคารซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ
                (๔) การลดหรือการขยายเนื้อที่ของพื้นชั้นหนึ่งชั้นใดให้มีเนื้อที่น้อยลงหรือมากขึ้นรวมกันไม่เกินห้าตารางเมตรโดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสา หรือคาน
                (๕) การลดหรือการขยายเนื้อที่ของหลังคาให้มีเนื้อที่มากขึ้นรวมกันไม่เกินห้าตารางเมตรโดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน   
[๖]กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพศ.๒๕๒๒ 
   หมวด ๓ ที่ว่างภายนอกอาคาร      
           ข้อ ๓๓ อาคารแต่ละหลังหรือหน่วยต้องมีที่ว่างตามที่กำหนดดังต่อไปนี้
                           (๑) อาคารอยู่อาศัย และอาคารอยู่อาศัยรวม ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า ๓๐ ใน ๑๐๐ ส่วนของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร
                           (๒) ห้องแถว ตึกแถว อาคารพาณิชย์ โรงงาน อาคารสาธารณะ และอาคารอื่นซึ่งไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า ๑๐ ใน ๑๐๐ ส่วนของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร แต่ถ้าอาคารดังกล่าวใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วยต้องมีที่ว่างตาม (๑)
           ข้อ ๓๔ ห้องแถวหรือตึกแถวซึ่งด้านหน้าไม่ติดริมถนนสาธารณะ ต้องมีที่ว่างด้านหน้าอาคารไม่น้อยกว่า ๖ เมตรโดยไม่มีส่วนใดของอาคารยื่นล้ำเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว
                           ห้องแถวหรือตึกแถว ต้องมีที่ว่างด้านหลังอาคารกว้างไม่น้อยกว่า ๓ เมตร เพื่อใช้ติดต่อถึงกันโดยไม่มีส่วนใดของอาคารยื่นล้ำเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว เว้นแต่การสร้างบันไดหนีไฟภายนอกอาคารที่ยื่นล้ำไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร
               ข้อ ๓๖ บ้านแถวต้องมีที่ว่างด้านหน้าระหว่างรั้วหรือแนวเขตที่ดินกับแนวผนังอาคารกว้างไม่น้อยกว่า ๓ เมตร และต้องมีที่ว่างด้านหลังอาคารระหว่างรั้วหรือแนวเขตที่ดินกับแนวผนังอาคารกว้างไม่น้อยกว่า ๒ เมตร [๗]พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. ๒๕๒๒
 มาตรา ๓๙ ทวิ “ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ได้โดยการแจ้งต่อ เจ้าพนักงาน ท้องถิ่นและต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑)      แจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลและยื่นเอกสารดังต่อไปนี้ด้วย
                          (ก) ชื่อของผู้รับผิดชอบงานออกแบบอาคารซึ่งจะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมประเภทวุฒิสถาปนิกตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสถาปัตยกรรม และจะต้องไม่เป็นผู้ได้รับการแจ้งเวียนชื่อตามมาตรา ๔๙ ทวิ 
                          (ข) ชื่อของผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณอาคารซึ่งจะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทวุฒิวิศวกรตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม และจะต้องไม่เป็นผู้ได้รับการแจ้งเวียนชื่อตามมาตรา ๔๙ ทวิ 
                          (ค) ชื่อของผู้ควบคุมงานซึ่งจะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสถาปัตยกรรม และเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม และจะต้องไม่เป็น ผู้ได้รับการแจ้งเวียนชื่อตามมาตรา ๔๙ ทวิ
                          (ง) สำเนาใบอนุญาตของบุคคลตาม (ก) (ข) และ (ค)
                          (จ) หนังสือรับรองของบุคคลตาม (ก) (ข) และ (ค) ว่าตนเป็นผู้ออกแบบอาคาร เป็นผู้ออกแบบและคำนวณอาคาร หรือ    จะเป็นผู้ควบคุมงาน แล้วแต่กรณี พร้อมทั้งรับรองว่าการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารนั้นถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงและข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทุกประการ
                           (ฉ) แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนและรายการคำนวณของอาคารที่จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายซึ่งมีคำรับรองของบุคคลตาม (ก) และ (ข) ว่าตนเป็นผู้ออกแบบอาคารและเป็นผู้ออกแบบและคำนวณอาคารนั้น
                            (ช) วันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดการดำเนินการดังกล่าว
(๒)     ชำระค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลนก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารในกรณีที่เป็นการแจ้งการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร    ถ้าผู้แจ้งได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่งครบถ้วนแล้ว ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบรับแจ้งตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดเพื่อเป็นหลักฐานการแจ้งให้แก่ผู้นั้นภายในวันที่ได้รับแจ้ง และให้ผู้แจ้งเริ่มต้นดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารตามที่ได้ แจ้งไว้ได้ตั้งแต่วันที่ได้รับใบแจ้ง   ให้นำมาตรา ๓๘ และมาตรา ๓๙ มาใช้บังคับแก่ใบรับแจ้งตามมาตรานี้โดยอนุโลม 
__________________________________________________________________________________________
credit photo : Alan Family House Extension by NMDA 
                     www.coolboom.net/architecture/alan-family-house-extension-by-nmda/

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

noky

noky

ผู้เยี่ยมชม

5 พ.ย. 2553 11:20 #1

ขอบคุณมากค่ะ

noky

noky

ผู้เยี่ยมชม

สถาปนิกสุดหล่อ

สถาปนิกสุดหล่อ

ผู้เยี่ยมชม

18 พ.ย. 2553 22:02 #2

ขอบคุณคับ:):):):)

สถาปนิกสุดหล่อ

สถาปนิกสุดหล่อ

ผู้เยี่ยมชม

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้