มุก
จะฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร จดทะเบียนสมรสกัน (1078 อ่าน)
13 พ.ค. 2560 10:13
สวัสดีค่ะ หนูอยากปรึกษาว่าสามีนอกใจไปมีคนอื่นตั้งแต่ตอนท้อง ไม่มารับผิดชอบอุปการะค่าเลี้ยงดูลูกเลยค่ะ หนำซ้ำยังยกย่องคนใหม่ว่าเป็นเมียที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งๆที่หนูกับเขาจดทะเบียนสมรสกันยังไม่ได้หย่าเลยค่ะ เขาไปขอขมากันละโพสในเฟสว่าเขาเป็นเมียที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดเวลาที่ผานมาหนูคิดว่าเราคงจะคุยกันได้ในเรื่องลูกแต่หนูคิดผิดค่ะ คุยไปกี่ครั้งก้อไม่เป็นผลเลย เขาท้าตรวจดีเอ็นเออย่างเดียว หนูก้อตรวจค่ะ เพื่อเรียกความยุติธรรมให้ลูกของหนู แต่เขาไม่มาไม่ติดต่อ หายไปเลย หนูก้อพยายามคุยกับแม่เขาว่าจะเอายังไง เขาก้อบอกว่าคุยกับลูกชายแล้วจะส่งให้หนูเดือนละ 1000 บาท ทุกเดือน ตั้งแต่ที่คุยกันในวันนั้นจนวันนี้หนูไม่เคยได้เลยสักบาท หาเลี้ยงลูกเองคนเดียว ตอนนี้ัลูกได้ขวบสองเดือนแล้วค่ะ ยิ่งโตค่าใช้จ่ายยิ่งเยอะ ลูกอยู่กับตากับยายซึ่งเป็นตายายของหนูเองค่ะ หนูต้ัองทำงาน ตากับยายก้อแก่แล้ว ไม่มีรายได้ หนูอยากจะฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดู จากสามี ก้อไม่รู้ว่าต้องทำยังไงบ้าง เห็นพี่ที่ทำงานบอกหนูสามารถฟ้องชู้ได้ด้วย ยังไงรบกวนทีนะค่ะ หนูขอปรึกษาหน่อยค่ะ ยิ่งมองหน้าลูกยิ่งเศร้าค่ะ อยากเรียกร้องสิทธิให้ลูกได้ความยุติธรรมบ้างค่ะ ปัจจุบันหนูก้อยังไม่ได้หย่ากันนะค่ะ ขอบคุณล่วงหน้านะค่ะ
มุก
ผู้เยี่ยมชม
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
20 พ.ค. 2560 15:23 #1
กรณีตามคำถามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 บัญญัติสิทธิของภริยาที่ชอบด้วยกฎหายไว้ว่า
“เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น
สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้”
ข้อเท็จจริงตามที่ให้มาถือว่าหญิงอื่นแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวกับสามีคุณอย่างเปิดเผยแล้ว ดังนั้น คุณจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากสามี และหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีคุณในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง โดยไม่ต้องมีการฟ้องหย่าสามีก่อนก็ได้ เพราะหากคุณฟ้องหย่าสามีไปด้วย สามีและหญิงอื่นจะสบายรีบมาหย่าให้เพื่อจะได้ไปจดทะเบียนสมรสกันทันที ดังนั้น จึงไม่ต้องฟ้องหย่าสามี แต่ฟ้องเรียกร้องค่าทดแทน และให้สามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นรายเดือนร่วมไปในคดีเดียวกันได้
อนึ่ง เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาวนั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่สำคัญด้วยว่า มีการแสดงตนว่ามีความสัมพันธ์โดยเปิดเผยเท่านั้น จึงจะฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายได้
ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10851/2555
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง การที่ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาวได้ก็เฉพาะแต่หญิงนั้นต้องแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาว เมื่อโจทก์เพียงแต่สงสัยในความสัมพันธ์ระหว่างสามีโจทก์กับจำเลย เช่น การที่สามีโจทก์ไปค้ำประกันหนี้เช่าซื้อรถยนต์ให้จำเลย การรับฟังผู้อื่นเล่ามาว่ามีคนต้องการโทรศัพท์ไปหาสามีโจทก์ เมื่อโทรหาจำเลยก็ติดต่อกับสามีโจทก์ก็ได้ หรือมีผู้เล่าว่าสามีโจทก์ไปหาจำเลยที่บ้านเช่า แต่ไม่ปรากฏว่า มีพยานอื่นสนับสนุนยังไม่พอฟังว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผย ทั้งการที่จำเลยกับสามีโจทก์อยู่ด้วยกันตามลำพังในโรงแรมชานเมือง แม้เป็นพฤติกรรมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อสิทธิที่โจทก์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยนั้น จำเลยต้องแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลักลอบและพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยและสามีโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย
ส่วนกรณีที่จะถือว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผยขนาดไหนถึงจะมีสิทธิฟ้องคดี พิจารณาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2552
“แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยาแต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย”
หมายเหตุ คดีนี้ โจทก์ตั้งเรื่องฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ให้โจทก์เป็นผู้ปกครองบุตรทั้งสองเพียงผู้เดียวให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าทดแทน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 8,000 บาท จนกว่าบุตรทั้งสองจะมีอายุครบ 20 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาแก่โจทก์ cต่ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 บิดาจ่ายเงินค่าทดแทน 150,000 บาท และค่าเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนเดือนละ 3,000 บาท
ส่วนตัวอย่างคำพิพากษาที่เคยตัดสินเป็นบรรทัดฐานเกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าทดแทนและจำนวนค่าทดแทน ศาลจะกำหนดมากน้อยเพียงใด ดูตัวอย่างดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551
โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยโดยอ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับ พ. ในลักษณะชู้สาวและแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของ พ. จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่กับความสัมพันธ์ระหว่างสามี ภริยาโดยตรง หาใช่คดีละเมิดธรรมดาไม่ ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6
คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดย เปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการฟ้องหย่าก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่า ทดแทนได้ ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516 (1) เสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้อง
หมายเหตุ คดีนี้ โจทก์ตั้งเรื่องฟ้องขอให้จ่ายเงินค่าทดแทนจำนวน 100,000 บาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 50,000 บาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4130/2548
ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ภริยาชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าทดแทนจาก หญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวโดยมิได้มีเงื่อนไขว่า ภริยาจะต้องเกิดความเสียหายอย่างใดหรือจะต้องเป็นภริยาที่อยู่กินกับสามีและ อุปการะเลี้ยงดูกัน หรือต้องไม่มีคดีฟ้องหย่ากันอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้
หมายเหตุ คดีนี้ โจทก์ตั้งเรื่องฟ้องขอให้จ่ายเงินค่าทดแทนจำนวน 500,000 บาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 20,000 บาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2552
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกำหนดค่าทดแทนกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีเป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย เมื่อโจทก์เรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสเป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยมิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่าเพราะเหตุใดโจทก์จึงควรได้ค่าทดแทนจำนวนดังกล่าว ศาลจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์ จำเลยและพฤติการณ์แห่งคดี อีกทั้งทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองตามบทบัญญัติมาตรา 1525 ดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้มากไปกว่านี้
หมายเหตุ คดีนี้ โจทก์ตั้งเรื่องฟ้องขอให้จ่ายเงินค่าทดแทนจำนวน 5,000,000 บาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 500,000 บาท
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
ผู้ดูแล