ตาล
สามีนอกใจ (1065 อ่าน)
21 ต.ค. 2557 14:15
สวัสดีค่ะ
ดิฉันขอปรึกษาเรื่องสามีทีานอกใจ ดิฉันกะสามีอยู่กินกันมาประมาณ13ปี แต่เพิางจดทะเบียนสมรสปี55สาเหตุที่จดืะเบียนเพราว่าดิฉันป่วยเป็นโรคไตวาย และสามีกะดิฉันตกลงว่าจะจดทะเบียนเพื่อเราสามารถเปลี่ยนถ่ายด้วยกันได้ ดิฉันกะสามีรักกันดีมาตลอด จนถึงปี56กลางปีสามีดิฉันนัดเลี้ยงรุ่นกะเพื่อนเก่า แล้วเค้าก็ติดต่อกันกัยผู้หญิงที่เป็นเพื่อนเก่าเค้า โดยที่ดิฉันไม่ทราบเลย พอมาปลายปี56ดิฉันจับได้ว่าเค้ามีคนอื่นโดยที่เค้ายอมรัยทุกอย่าง เค้าขอหย่าจากดิฉัน ดิฉันก็ตกใจว่าเค้ากล้าพูดคำนี้กะดิฉันได้ไง พอดิฉันบอกว่าไม่หย่าและให้เค้าไปเคลียกะผูหญิงคนนั้น อยู่ๆเค้าก็ออกจากบ้านโดยไม่ติดต่อกับดิฉันเลย เค้าตัดขาดการติดต่อทุกทาง ดิฉันก็ไม่แน่ใจเหตุผลเค้าเท่าใหร่ว่าทำไม่อแกไปไม่บอกไม่กล่าว เค้าทิ้งดิฉันให้เฝ้ารออยู่ครึ่งปีโดยไม่ติดต่อเลย ดิฉันก็พยายามหาข้อมูลผู้หญิงคนนั้นใจที่สุดเจอเลยทราบที่ทำงาน ดิฉันตามไปที่ทำงานผู้หญิงคนนั้นแล้วได้เจอเค้า เค้าโกรธดิฉันมากขอหย่าดิฉันต่อหน้าผู้หญิงคนนั้น หลังจากนั้นเค้ามาที่บ้านดิฉันอีกครั้งเพื่อขอหย่า แต่ดิฉันไม่หย่าและถาทเค้าว่าดิฉันทำไหรผิด เค้าบอกว่าฉันไม่ผิดเค้าผิดเอง
ตอนแรก ดิฉันว่าเค้าจะไปก็ปล่อยไปแต่ไม่หย่สเพราะดิฉันยังรักเค้าอยู่มาก ดิฉันได้ตกลงเรื่องหนี้สินที่เราเคยมีร่วมกัน คือค่าผ่อนรถ ค่าบัตรเครติด ซึ่งเค้าบอกยินดีเป็นคนรับผิดชอบ แต่พอเอาเข้าจริงเค้าไม่รับผิดชอบ ให้แม่มาปฏิเสธกับเจ้าหน้าที่ทุกครั่งที่โทรไป แถมไท่เคยสงเสียค่าใช้จ่ายๆอะไรเลย แถมไม่เคยติดต่ออะไรกลับมาเลย
ดิฉันรบกวนถามว่าในกรผณีดิฉันเรียกร้องอะไรได้ไหมค่ะ ดิฉันป่วยด้วยสามารถเรียกร้องอะไรจากสามีได้มั่ยค่ะ
ตาล
ผู้เยี่ยมชม
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
25 ต.ค. 2557 22:34 #1
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีตามคำถามดังนี้
มาตรา 1516 บัญญัติว่า “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้ (1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ ฯลฯ
มาตรา 1523 เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตาม มาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามี มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น
มาตรา 1526 ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรส ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่าง สมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่า เลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และ มาตรา 1598/41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดี หย่านั้น
ดังนั้น จึงอ้างเหตุตามมาตรา 1516 (1) ดังกล่าวเพื่อฟ้องหย่าได้ นอกจากนี้ ก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายและค่าทดแทนได้ตามมาตรา 1523 และ 1526
ตัวอย่างคดีที่ศาลฎีกาเคยตัดสิน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2552 ป.พ.พ. มาตรา 1516(1), 1523 วรรคหนึ่ง
แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยาแต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย
________________________________
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ให้โจทก์เป็นผู้ปกครองบุตรทั้งสองเพียงผู้เดียวให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าทดแทน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 8,000 บาท จนกว่าบุตรทั้งสองจะมีอายุครบ 20 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย มีบุตรผู้เยาว์ 2 คน คือ เด็กชาย น. และเด็กชาย อ. จำเลยทั้งสองรู้จักและติดต่อกัน มีทรัพย์สินบางอย่างของจำเลยที่ 1 อยู่ในบ้านของจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ จำเลยที่ 1 พร้อมกับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปนำกลับมา ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้มีหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสอง และโจทก์ยังมีหนังสือขอความเป็นธรรม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา อันเป็นเหตุหย่าหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ นางเบญจมาศ เด็กชาย น. จ่าสิบเอกบัญชาและนางสาวพรกนก เป็นพยานเบิกความถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสอง เริ่มจากเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 ขนเสื้อผ้าและเครื่องใช้ออกจากบ้านแล้วไม่ค่อยกลับ ต่อมาจำเลยที่ 1 กลับบ้านด้วยสีหน้าเคร่งเครียด โจทก์จึงสอบถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 รับว่าไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 วันรุ่งขึ้นโจทก์พร้อมด้วยจำเลยที่ 1 กับบุตรทั้งสองพากันไปที่บ้านของจำเลยที่ 2 และขนเสื้อผ้าและเครื่องใช้ของจำเลยที่ 1 กลับ ระหว่างนั้นได้พบกับจำเลยที่ 2 โจทก์จึงพูดตักเตือนแต่จำเลยที่ 2 กลับบอกว่าเรื่องไม่จบเพียงเท่านี้ ในเดือนกรกฎาคม 2546 โจทก์จองตั๋วเครื่องบินให้จำเลยที่ 1 เพื่อไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดสงขลา แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 แจ้งเลื่อนการเดินทาง โจทก์จึงว่าจ้างรถจักรยานยนต์ไปบ้านจำเลยที่ 2 โดยพาบุตรทั้งสองไปด้วย ขณะผ่านหน้าบ้าน โจทก์เห็นจำเลยทั้งสองนั่งอยู่ด้วยกันจึงให้คนขับรถจอดรถเลยบ้านไปแล้วโจทก์เดินไปดูแต่ไฟในบ้านปิดแล้ว โจทก์กดสัญญาณกริ่งเรียก จำเลยที่ 2 ออกมาบอกว่าจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ โจทก์จึงโทรศัพท์เรียกจ่าสิบเอกบัญชาและนางสาวพรกนกมารอดูอยู่จนถึง 1 นาฬิกา เห็นจำเลยที่ 1 นั่งรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ออกมา วันที่ 10 สิงหาคม 2546 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา โจทก์พร้อมด้วยบุตรทั้งสองไปบ้านจำเลยที่ 2 พบจำเลยที่ 2 นอกกอดจำเลยที่ 1 อยู่ จำเลยที่ 1 เห็นโจทก์จึงออกมาบอกให้กลับไปก่อน แต่โจทก์ไม่กลับ จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์และให้จำเลยที่ 2 ไปรอที่บันได ขณะนั้นนายไสวพนักงานรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านผ่านมาโจทก์จึงกลับบ้านพร้อมบุตรทั้งสอง ปลายเดือนตุลาคม 2546 เด็กชาย น. เห็นจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์เข้ามาจอดในหมู่บ้านเบญจทรัพย์ที่โจทก์อยู่อาศัย จึงไปบอกโจทก์และนางเบญจมาศมารดาโจทก์ โจทก์ขับรถยนต์ตามไปไม่ทัน ต่อมาโจทก์ร้องเรียนจำเลยที่ 2 ไปยังวิทยาลัยพลศึกษาสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร และมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยโจทก์ เด็กชาย น. จ่าสิบเอกบัญชาและนางสาวพรกนกได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการดังกล่าว เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างประกอบอาชีพรับราชการ มีตำแหน่งหน้าที่ราชการที่ดีและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน ที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู ส่วนเด็กชาย น. เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และโจทก์ย่อมมีความรักใคร่ในตัวจำเลยที่ 1 และโจทก์ผู้เป็นบิดามารดา สำหรับนางเบญจมาศเป็นมารดาของโจทก์ จ่าสิบเอกบัญชาและนางสาวพรกนกเป็นน้องชายและน้องสะใภ้ของโจทก์ย่อมมีความปรารถนาดีต่อครอบครัวของโจทก์ ไม่มีเหตุผลที่จะคิดปรุงแต่งเรื่องขึ้นหาเหตุให้ครอบครัวของโจทก์ต้องแตกแยกกัน ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์มีอาการผิดปกติทางจิตโดยบอกจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์เป็นร่างทรงของเจ้าแม่กวนอิม หากจำเลยที่ 1 ให้ของแก่ใครให้เอาคืนมา มิฉะนั้นบุตรจะถึงแก่ความตายนั้นในข้อนี้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ถามค้านโจทก์ไว้เพื่อให้มีโอกาสอธิบายว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่อย่างไร เป็นการนำสืบในภายหลังแต่ฝ่ายเดียวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นดังข้อนำสืบของโจทก์ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามหนังสือที่โจทก์ เด็กชาย น. จ่าสิบเอกบัญชา และนางสาวพรกนกชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่วิทยาลัยพลศึกษาสมุทรสาครแต่งตั้งขึ้นดังกล่าว โดยมีรายละเอียดของเหตุการณ์ทั้งวันเวลาและสถานที่ที่พบเห็นจำเลยทั้งสองอยู่ด้วยกันตามที่พยานโจทก์แต่ละคนรู้เห็น แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักจำเลยที่ 2 ในฐานะภริยา แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่อยู่ในบ้านเดียวกับจำเลยที่ 2 ในเวลากลางคืนและอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิดซึ่งบ้านดังกล่าวอยู่ในหมู่บ้านวรารมย์ แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมชน และจำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันโดยเปิดเผย ทั้งจำเลยที่ 2 เคยขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1 ออกจากบ้านดังกล่าวไปส่งที่สถานีตำรวจภูธรตำบลท่าฉลอมและขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 ที่สถานีตำรวจดังกล่าว หลังจากแวะซื้อผลไม้แล้วจำเลยที่ 1 จึงเปลี่ยนมาเป็นคนขับแทนการปฏิบัติของจำเลยที่ 1 ต่อจำเลยที่ 2 เช่นนั้นบ่งชี้ถึงการมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาวและมีการเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ถือเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) และเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองกับเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ได้ ที่นายอัคสิทิ์และนายไสว มาเป็นพยานจำเลยทั้งสองโดยนายอัคสิทิ์เบิกความว่า โจทก์ได้ให้พยานช่วยสืบดูว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ในทำนองชู้สาวกับหญิงอื่น พยานสืบดูแล้วไม่พบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ดังกล่าวและนายไสวเบิกความว่าพยานไม่ได้เขียนข้อความในเอกสารหมาย จ.10 เพียงแต่ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว ซึ่งขณะลงลายมือชื่อยังไม่มีข้อความ พยานไม่รู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน ก็ไม่ถึงกับทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ขาดน้ำหนักในการรับฟังสำหรับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากโจทก์และเด็กชาย น. ว่า จำเลยที่ 1 ได้เล่าเรื่องที่จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 ให้เด็กชาย น. ฟังด้วยนั้นคงเป็นเพราะโจทก์ได้ชวนเด็กชาย น. ไปบ้านที่จำเลยที่ 1 อยู่กับจำเลยที่ 2 ด้วยเพื่อขนสิ่งของของจำเลยที่ 1 กลับบ้าน เด็กชาย น. ย่อมจะต้องสอบถามว่าจำเลยที่ 2 เป็นใครนั่นเอง แม้คำเบิกความและข้อเท็จจริงที่โจทก์และพยานโจทก์มีหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนของจำเลยที่ 1 จะมีข้อที่แตกต่างหรือขาดตกบกพร่องไปบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดแต่ได้ความในสาระสำคัญตรงกัน พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองสำหรับประเด็นในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ค่าทดแทน และอำนาจปกครองบุตรนั้น แม้ศาลล่างทั้งสองจะยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานมาจนสิ้นกระแสความแล้วดังนั้น เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาในประเด็นดังกล่าวก่อน เมื่อฟังได้ว่าเหตุหย่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้แก่โจทก์ โดยคำนึงถึงความสามารถของจำเลยที่ 1 ฐานะของโจทก์ประกอบพฤติการณ์แห่งกรณีแล้วเห็นควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคน คนละ 3,000 บาทต่อเดือน สำหรับค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองต้องชำระให้แก่โจทก์นั้นเมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองต้องจ่ายให้แก่โจทก์ 150,000 บาท สำหรับอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้น เห็นว่า บุตรผู้เยาว์ทั้งสองสมัครใจที่จะอยู่กับโจทก์ และโจทก์ก็เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่แล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่กับโจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้โจทก์หย่ากับจำเลยที่ 1 และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง คือ เด็กชาย น. และเด็กชาย อ. แต่ผู้เดียว ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนละ 3,000 บาทต่อเดือน จนกว่าบุตรแต่ละคนจะบรรลุนิติภาวะ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 9,000 บาท คำขออื่นให้ยก
( พิษณุ ดำรงเกียรติวัฒนา - เกษม วีรวงศ์ - สิริรัตน์ จันทรา )
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
ผู้ดูแล