caga

caga

ผู้เยี่ยมชม

  แบบนี้ถูกครอบครองปรปักษ์ ไหม (1411 อ่าน)

16 มิ.ย. 2557 13:07

ยาย ข ซื้อที่ดินเปล่าจัดสรรเป็นล๊อกๆ แล้วปลูกบ้านเอง ปรากฏว่าที่ข้างเคียงมี ตา ง มาอยู่ก่อนแล้วโดยเป็นบ้านไม้และล้อมรั้วลวดหนามไว้ พอยาย ข ปลูกบ้านและล้อมรั้วบ้างจึงได้ดำเนินการในที่ของตนโดยเข้าใจว่าถัดจากรั่วลวดหนามของข้างบ้านก็คือที่ของตน เวลาผ่านมา 20 ปี ตา ง เสียชีวิต ลูกหลายของ ตา ง ได้ทำการรังวัดที่แบ่งมรดกกัน ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รังวัดบอกว่าที่ของ ตา ง รุกร้ำเขามาในที่ของยาย ข 1 ศอก แต่ก็มีข้อสังเกตว่าในวันก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่รังวัดไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้ ยาย ข ไปชี้เขต และหลังรังวัดไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้ยาย ข ทราบว่าที่ข้างบ้านได้รุกร้ำเข้ามา วันรังวัดที่ ยาย ข เป็นผู้เห็นคนมารังวัดจึงเดินเข้าไปดูเอง และลูกหลานของ ตา ง ก็ทำเป็นปกติไม่ได้ดำเนินการอย่างใดต่อทั้งที่ทราบแล้วว่าตนรุกร้ำที่ข้างเคียง สุดท้าย ยาย ข จึงได้ขอทำการรังวัดที่ของตนว่าจะถูกรุกร้ำหรือไม่
คำถาม 1. ยาย ข ต้องเสียที่ดินที่ถูกรุกร้ำเพราะเกิน 10 ปี และไม่ได้โต้แย้งหรือไม่ ตามกฎหมายครอบครองปรปักษ์ 2. เหตุใดเจ้าหน้าที่รังวัดถือไม่ดำเนินการเป็นหนังสือทางการในการแจ้งต่อ ยาย ข และเมื่อมีการรุกร้ำทำไมเจ้าหน้าที่ไม่แจ้งต่อยาย ข ทราบเป็นหนังสือ 3. มีข้อต่อสู้คดีใดที่ยาย ข จะใช้ในการสู้ในศาลเพื่อให้ไม่เสียที่ดินตามกฎหมายครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่

caga

caga

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

21 มิ.ย. 2557 23:14 #1

ตอบคำถามตามหลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานดังนี้

             1. ตา ง ได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินสิบปีแล้ว ย่อมได้สิทธิโดยปรปักษ์ เมื่อตา ง เสียชีวิต ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกย่อมรับโอนสิทธินั้นได้ โดยต้องดำเนินการทางศาลเพื่อนำคำสั่งศาลไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดิน คำถามนี้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยวางหลักกฎหมายไว้ คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5596/2552 การที่ผู้ร้องทั้งห้าได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นแม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม หากแต่ผู้ร้องทั้งห้าได้ยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องรู้มาก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นของผู้อื่นแล้วแย่งการครอบครองมาเป็นเวลา 10 ปี จึงจะได้กรรมสิทธิ์ แม้ผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านทั้งสามโดยเข้าใจผิดว่าเป็นของผู้ร้องทั้งห้าเองก็ถือได้ว่าเป็นการเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว หากผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปี ผู้ร้องทั้งห้าย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย
               2.เจ้าหน้าที่รังวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินไม่มีหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือต่อยาย ข ว่าใครรุกล้ำที่ดิน หรือที่ดินของใครถูกรุกล้ำ เพราะเป็นหน้าที่ของยาย ข หรือบุคคลที่เป็นเจ้าของที่ดินที่ต้องเสียสิทธิจะต้องดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง
               3. เมื่อเสียสิทธิโดยการถูกครอบครองปรปักษ์แล้ว ไม่มีข้อต่อสู้ใดที่จะทำให้ได้รับสิทธิคืนมา ยกเว้น ไม่ครบองค์ประกอบของกฎหมาย เช่น ผู้ครอบครองยอมรับความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน หรือเป็นการครอบครองแทนเจ้าของ หรือครอบครองโดยไม่เปิดเผย หลบๆซ่อนๆ หรือไม่ได้ครอบครองอย่างแท้จริง หรือครอบครองไม่ครบสิบปี  เป็นต้น
                นอกจากนี้ การได้สิทธิโดยปรปักษ์เป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม การได้มานั้นจะยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อมีคำสั่งแล้วนำคำสั่งนั้นไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง หากต่อมาเจ้าของที่ดินที่ถูกครอบครองปรปักษ์ขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกผู้สุจริต โดยเสียค่าตอบแทน คำว่าสุจริต คือไม่รู้ว่าที่ดินที่ซื้อมีบุคคลอื่นครอบครองอยู่ทั้งก่อนโอน หรือในขณะโอน บุคคลภายนอกผู้สุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่ต้องเสียที่ดิน คือ เวลาที่ถูกครอบครองปรปักษ์ที่ผ่านมาย่อมหายไปและต้องเริ่มนับสิบปีใหม่ เมื่อเป็นเช่นนั้น บุคคลภายนอกผู้รับโอนย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ครองครองปรปักษ์ออกไปจากที่ดินได้ แต่ถ้าโอนให้แก่คนอื่นโดยไม่เสียค่าตอบแทน หรือสมรู้ร่วมคิดกัน ถือว่าไม่สุจริต ผู้ที่ครอบครองปรปักษ์ยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอยู่
 

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้