ศิริพร เอี่ยมเทียน

ศิริพร เอี่ยมเทียน

ผู้เยี่ยมชม

  การหมิ่นประมาททางสังคมออนไลน์ (5864 อ่าน)

7 พ.ค. 2557 16:07

คำถาม ?
1.ถูกโพสด่าใน facebook คำหยาบคาย ด่าเสียๆ หายๆ โดยระบุชื่อ หรือ ระบุนามแฝงของ facebook โดยที่เราไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว เราจะสามารถเอาความผิดฐานหมิ่นประมาทได้หรือไม่

2.ถ้าเข้าข่ายหมินประมาทเราจะสามารถแจ้งความกับสถานีตำรวจท้องถิ่นที่ไหน **กรณีที่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ภูมิลำเนาบ้านเกิด
2.1 จะต้องใช้หลักฐานอะไรบ้างในการแจ้งความ ** หากข้อความที่โพสด่าเราขาดหายไปหรือถูกลบไปแล้ว แต่มีข้อความบางส่วนที่ถ่ายรูปเก็บไว้จะใช้เป็นหลักฐานได้หรือไม่

3.บุคคลที่เข้าไปคอมเม้นด่าเรา จะมีความผิดหรือไม่

4.ถ้าเป็นการหมิ่นประมาทจะมีอายุความนานเท่าไหร่ หลังจากที่รู้ตัวว่าโดนด่า

ช่วยตอบหน่อยนะคะ และขอคำแนะนำเพื่มเติม (ขอบคุณค่ะ) ด่วน....

ศิริพร เอี่ยมเทียน

ศิริพร เอี่ยมเทียน

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

14 พ.ค. 2557 16:10 #1

        1. การจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากถ้อยคำหรือข้อความนั้น ๆ ว่าเป็นการใส่ความผู้อื่นตามความหมายของกฎหมายเป็นประการสำคัญ ย้ำว่าต้องเป็นการใส่ความ ไม่ใช่การด่า แต่หลายคนเข้าใจผิดว่า การด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย เป็นการหมิ่นประมาททุกกรณี ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะบางครั้งคำด่าก็ไม่ใช่การหมิ่นประมาท แต่เป็นเรื่องการดูหมิ่นซึ่งเป็นความผิดแยกต่างหากจากกัน
        ตัวอย่างคดีที่ศาลฎีกาเคยตัดสินเป็นบรรทัดฐาน ได้แก่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2522 “การที่จำเลยพูดว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นข้าราชการว่า "ไอ้เหี้ยไอ้สัตว์ไอ้ท. โกงบ้านโกงเมือง" นั้น แม้ถ้อยคำที่ว่า อ้ายเหี้ยไอ้สัตว์จะเป็นเพียงการดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ถ้อยคำที่ว่าผู้เสียหายโกงบ้านโกงเมืองนั้น มีความหมายว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เบียดบังทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ของทางราชการมาเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต เป็นการใส่ความผู้เสียหายโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาท”
       จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่า คำว่า "ไอ้เหี้ยไอ้สัตว์" เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่ใช่การหมิ่นประมาท แต่คำว่า "ไอ้ ท. โกงบ้านโกงเมือง" เป็นการใส่ความผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาท
        ข้อแตกต่างระหว่างการ “ดูหมิ่น” กับ “หมิ่นประมาท”
       1. ดูหมิ่น คือ การดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท ด่าทอ ทำให้อับอาย เป็นการประทุษร้ายต่อเกียรติที่บุคคลมีอยู่ในตัวเอง โดยผู้ดูหมิ่นลดคุณค่าที่มีอยู่ในตัวของผู้ถูกดูหมิ่นด้วยตนเอง เป็นความผิดลหุโทษ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 “ผู้ใด ดูหมิ่น ผู้อื่นซึ่งหน้า หรือ ด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
การด่าหรือสบประมาทว่าเป็นคนต่ำต้อยหรือเลว บางกรณีเป็นเพียงคำพูดที่ไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ใช่เป็นคำด่าหรือเป็นการสบประมาทเหยียดหยามให้ได้รับความอับอาย ซึ่งก็ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด
       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551 การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่จึงต้อง พิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326

        2. หมิ่นประมาท คือ 1.การใส่ความผู้อื่น 2.ต่อบุคคลที่สาม 3.โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื้นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เป็นการประทุษร้ายต่อเกียรติที่บุคคลมีอยู่ในสังคม โดยผู้หมิ่นประมาททำให้บุคคลที่สามเป็นผู้ลดคุณค่าที่มีอยู่ในสังคมของผู้ถูกหมิ่นประมาท ซึ่งการใส่ความจะต้องโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำผิดด้วยการโฆษณาก็จะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท
       ตามพจนานุกรมฯ คำว่า “ใส่ความ” หมายถึงพูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ส่วนทางกฎหมายคำว่า “ใส่ความ” หมายถึงการยืนยันข้อเท็จจริง หรือกล่าวยืนยันความจริง หรือความเท็จ หรือเอาเรื่องไม่จริงไปแต่งความใส่ร้าย หรือเอาเรื่องจริงไปกล่าว ก็เป็นความผิด เรียกว่า ยิ่งจริงยิ่งหมิ่นประมาท หรือแม้แต่การเล่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาไปพูดให้บุคคลอื่นฟังก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ สำหรับข้อความจะเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไป มิใช่พิจารณาถึงความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว
        การกล่าวข้อความที่ไม่ได้ระบุชื่อผู้อื่นที่จะเป็นความผิดนั้นจะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ จึงจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ส่วนการกล่าวถึงผู้หนึ่งผู้ใดในกลุ่มบุคคลโดยไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงผู้ใดโดยเฉพาะ และถ้อยคำที่กล่าวไม่อาจเข้าใจได้ว่าหมายถึงผู้ใด จึงไม่เป็นหมิ่นประมาท
        ส่วนข้อเท็จจริงที่จะเป็นหมิ่นประมาท หรือการใส่ความนั้นพอจะสรุปตามแนวคำวินิจฉัยศาลฎีกาได้ดังนี้ ต้องไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นคำหยาบ หรือเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้, ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่แน่นอน ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คลุมเครือ หรือเลื่อนลอย หรือกล่าวด้วยความน้อยใจ, ข้อเท็จจริงที่กล่าวนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันในอดีต หรือปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงการคาดคะเน หรือกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคต แต่กรณีแสดงความคิดเห็นบางอย่างแม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นในอนาคต แต่หากฟังแล้วทำให้เข้าใจว่าในปัจจุบันเป็นเช่นไร ก็ย่อมเป็นหมิ่นประมาทได้
       ข้อความที่จะเป็นการจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องเป็นข้อความที่ทำให้เขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อาทิเช่น เป็นการใส่ความเกี่ยวกับความประพฤติ, เป็นการใส่ความเกี่ยวกับเรื่องประเวณี หรือการอันไม่สมควรทางเพศ, เป็นการใส่ความเกี่ยวกับหน้าที่การงาน หรือเป็นการกล่าวถึงความไม่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทางการเงิน เป็นต้น

        +++ตัวอย่างคดีที่ศาลฎีกาตัดสินเป็นบรรทัดฐานว่าเป็นการใส่ความ และเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เช่น
        +คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2503 จำเลยได้รับคำบอกเล่าจากญาติของโจทก์ว่า โจทก์รักใคร่กับชายในทางชู้สาว นอนกอดจูบและได้เสียกัน ต่อมามีผู้ถามจำเลยถึงเรื่องนี้ จำเลยก็เล่าตามข้อความที่ได้รับบอกเล่ามา เช่นนี้ถือว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยมีความผิดตามมาตรา 326
         +คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2537 หัวข้อข่าวที่ว่า แอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์เจ้าของร้านฟ้องศาลเรียกหนี้ 1 ล้าน คำว่าเบี้ยวมีความหมายพิเศษเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าหมายถึง ไม่ซื่อตรงหรือโกง หมายถึงแอมบาสเดอร์ไม่จ่ายค่าเฟอร์นิเจอร์ เพราะไม่ซื่อตรงหรือโกง เจ้าของร้านฟ้องศาลเรียกหนี้ 1 ล้านบาท และหัวข้อข่าวดังกล่าวเป็นถ้อยคำของหนังสือพิมพ์เอง ประกอบกับข้อความในเนื้อข่าวเป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
          +คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2371/2522 จำเลยพูดถึงผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงทำงานอยู่ที่สำนักงานที่ดินอำเภอว่ากระหรี่ที่ดิน คำว่า "กระหรี่" หมายความว่าหญิงนครโสเภณีหรือหญิงค้าประเวณี แม้จำเลยจะไม่ได้กล่าวรายละเอียดว่าค้าประเวณีกับใครประพฤติสำส่อนในทางเพศกับใครบ้างก็เพียงพอที่จะถือว่าเป็นคำหมิ่นประมาทแล้ว
         จากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การหมิ่นประมาทไม่ใช่การด่ากัน แต่เป็นการใส่ความผู้อื่น ทั้งเรื่องจริงและไม่จริง
         +++ตัวอย่างคดีที่ศาลฎีกาตัดสินเป็นบรรทัดฐานว่าไม่เป็นการใส่ความ และไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เช่น
         +คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2506 ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนว่า โจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้สึกต่ำโจทก์เป็นคนมีหนี้สินเป็นแสนๆ ยังใช้หนี้เขาไม่หมด อวดมั่งมีคาดเข็มขัดทองไม่เป็นถ้อยคำที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
         +คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2509 ความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องเป็นการแสดงข้อความให้คนฟังคนเห็นเชื่อ จึงจะเกิดความรู้สึกเกลียดชังดูหมิ่นขึ้นได้ จำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นผีปอบ เป็นชาติหมา ตามความรู้สึกนึกคิดของคนธรรมดา ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นได้ จึงไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นแต่อย่างใด และข้อความใดจะเป็นการทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ต้องถือตามความคิดของบุคคลธรรมดาผู้ได้ฟัง คำกล่าวของจำเลยข้างต้นไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท
         +คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10189/2546 ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า “โจทก์ร่วมเป็นบุคคลวิกลจริตไม่สามารถทำงานได้เป็นคนบ้าเหมือนหมาบ้า” นั้น เป็นถ้อยคำที่เลื่อนลอยไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งเมื่อฟังประกอบข้อความตอนท้ายที่ว่า “และยังได้นำใบ ร.บ. (ระเบียนการศึกษา) ไปจำหน่ายให้กับนักเรียนด้วย” แล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มุ่งหวังให้บุคคลอื่นเชื่อว่าโจทก์ร่วมเป็นบุคคลวิกลจริต ถ้อยคำดังกล่าวจึงไม่ทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          จากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น แสดงว่า การกล่าวข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ผีปอบ หรือชาติหมา ย่อมไม่ทำให้คนเชื่อ ไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นได้ ย่อมไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ตอบคำถามข้ออื่น ๆ
         2. หลักกฎหมายเรื่องการดำเนินคดี เมื่อความผิดเกิดขึ้นที่ไหน ก็ดำเนินคดีที่สถานที่มูลคดีเกิดขึ้น กรณีการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ผู้เสียหายพบเจอหรือทราบเรื่องที่ไหน ก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุได้ โดยไม่ต้องไปดำเนินคดีที่ภูมิลำเนาของผู้เสียหาย เช่น ลงข้อความหมิ่นประมาททางหนังสือพิมพ์ ผู้เสียหายอ่านเจอที่ไหนก็ดำเนินคดีที่นั่นได้
         2.1 หลักฐานในการแจ้งความร้องทุกข์ เมื่อผู้เสียหายกล่าวอ้างว่าถูกหมิ่นประมาท ก็ต้องอ้างพยานหลักฐานนั้น และยื่นหลักฐานดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนเพื่อประกอบการดำเนินคดี หากหลักฐานอยู่ในเว็บไซต์ก็ต้องปริ้นท์ไปให้ตำรวจด้วย ไม่ใช่กล่าวอ้างลอย ๆ
       3.บุคคลที่เข้าไปคอมเม้น จะมีความผิดหรือไม่ ต้องดูที่ข้อความหรือถ้อยคำเป็นหลักสำคัญว่าจะมีความผิดฐานใด หากครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมาย ก็มีความผิดได้เช่นกัน
        4. ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นความผิดอันยอมความกันได้ กฎหมายบังคับว่า ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ดำเนินคดี หรือฟ้องศาลเพื่อให้ลงโทษ ภายในกำหนดสามเดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้น คดีขาดอายุความ

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้