ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
ถูกดำเนินคดียักยอกหลายกรรม จะมีสิทธิรอลงอาญาหรือไม่ (4911 อ่าน)
5 ก.พ. 2557 21:08
การถูกฟ้องคดีอาญาข้อหายักยอก หรือข้อหาอื่นใดลักษณะหลายกรรมต่างกัน กฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเรียงกระทงไป ซึ่งหากแต่ละกรรมศาลลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ก็อยู่ในหลักเกณฑ์ที่รอลงอาญาได้ โดยหลักกฎหมายเกี่ยวกับเรื่อง “การรอการลงโทษ” หรือ “การรอลงอาญา” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 มีหลักดังนี้ คือ
1. กระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
2. ในคดีที่มีการฟ้องสำนวนเดียวกันหลายข้อหาในความผิดหลายกรรม การรอการลงโทษต้องพิจารณาโทษเป็นรายกระทงความผิดไป ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 789/2524 วินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ฐานมีลูกระเบิดฐานพกพาอาวุธปืน และฐานยิงปืนในหมู่บ้าน แต่ละกระทงนั้นเป็นความผิดอยู่ในตัว ซึ่งโจทก์สามารถแยกฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นคดีละกระทงได้ เมื่อโทษจำคุกที่ศาลลงแก่จำเลยแต่ละกระทงไม่เกินกระทงละ 2 ปี จึงเท่ากับว่าศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นคดีๆ ไปตามกระทงความผิดที่โจทก์รวมฟ้องมาไม่เกินคดีละ 2 ปี ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1594/2523)”
3. ไม่ปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ (ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
4. ศาลจะวินิจฉัยโดยคำนึงถึง อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปรานี เช่น มีการชดใช้ค่าเสียหาย หรือชำระเงินคืนแก่ผู้เสียหายแล้วทั้งหมด หรือจนเป็นที่พอใจแล้ว เป็นต้น
5. เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาว่า ผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ได้
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
ผู้ดูแล