สมศักดิ์

สมศักดิ์

ผู้เยี่ยมชม

  ลูกค้าสั่งผลิตของแล้วไม่ยอมรับของ ทำอย่างไรดีครับ (9200 อ่าน)

6 ส.ค. 2556 09:46

เรียนท่านทนาย
ลูกค้าได้ว่าจ้างให้ผมออกแบบและพัฒนาสินค้าให้ 15 ชุด โดยเราต้องนำไปติดตั้งยังจุดที่ลูกค้าระบุ โดยตกลงทำสัญญาซื้อขายและวางมัดจำเรียบร้อย ทางเราจึงได้ลงทุนออกแบบและพัฒนาสินค้าจนเรียบร้อยและแจ้งพร้อมส่งมอบสินค้าภายในกำหนดเวลาที่ทำสัญญากัน ทางลูกค้ามาดูสินค้าและแจ้งว่ายังไม่รับสินค้าให้เราเก็บรายละเอียดแก้ไขเพิ่มเติมอีกหน่อย ซึ่งเราก็ทำให้และลูกค้าก็เข้ามาดูของและปรับแก้จนพอใจ แล้วจึงนัดส่งสินค้าโดย วันที่ลูกค้านัดส่งนั้น ล่าช้ากว่ากำหนดในสัญญาไปประมาณ 15 วัน หลังจากรับสินค้าตัวแรกเมื่อลูกค้าทดลองใช้ก็มีการขอให้ปรับแก้อีกบางจุดจนลูกค้าพอใจ เมื่อพื้นทีติดตั้งพร้อมจึงให้ทยอยนัดส่งสินค้าไปอีก 3 ชุดกระจายตามจุดต่างๆในกรุงเทพ รวมเป็น 4 ชุด และในตอนนั้นลูกค้าได้ขอแบ่งชำระเงินมาแค่บางส่วน โดยอ้างว่าเพิ่งรับสินค้าได้เพียงบางส่วนและยังไม่ได้เริ่มใช้งาน จากนั้นลูกค้าก็ไม่แจ้งนัดส่งสินค้าที่เหลืออีก 11 ชุดเลย โดยอ้างว่ารอสถานที่ติดตั้งพร้อม เมื่อผ่านไป 1 เดือนผมจึงแจ้งทางลูกค้าว่ามันนานมากเกินไปขอให้เขาชำระเงินตามสัญญา ส่วนตัวสินค้าถ้ายังไม่พร้อมรับเราจะเก็บรักษาไว้ให้ก็ได้โดยยินดีจะนำไปติดตั้งให้ภายหลังเมื่อลูกค้าพร้อม เมื่อคุยถึงจุดนี้ลูกค้ากลับอ้างว่าจะไม่รับสินค้าที่เหลือ โดยอ้างว่า เรานำส่งสินค้าช้าเกินกำหนดในสัญญาบ้างล่ะ สินค้าไม่มีคุณภาพสมราคาบ้างล่ะ ต้องการบริการหลังการขายเพิ่มเติมจากในสัญญาบ้างล่ะ

จึงขอเรียนปรึกษาคุณทนายดังนี้
1. สินค้าอีก 11 ชุดที่เหลือ เราจะสามารถฟ้องบังคับให้ลูกค้ารับสินค้าไปได้หรือไม่ และจะฟ้องให้ชำระหนี้อย่างไร
2. การที่ลูกค้าไม่นัดให้เราส่งสินค้า และขอแก้ไขปรับปรุงสินค้า และนัดส่งมอบชุดแรกช้าไปเพียง 15 วันจากในสัญญา (แต่เราก็ส่งตรงตามวันที่เขากำหนด) จะเป็นเหตุอ้างยกเลิกสัญญา ไม่ยอมรับสินค้าที่เหลือทั้งหมดได้หรือไม่
3. การที่ลูกค้าอ้างถึงคุณภาพสินค้าว่าไม่สมราคา ทั้งที่สินค้ามีคุณสมบัติตามสัญญาทุกประการ และลูกค้าก็ได้รับมอบไปแล้วถึง 4 ชุด จะอ้างได้หรือไม่ เพราะลูกค้าอ้างถึงแค่วัตถุดิบ ไม่คิดถึงค่าใช้จ่ายในการพัฒนา และกำไรที่เราจะต้องมีเลย
4. เพื่อนเล่าให้ฟังว่าคดีแบบนี้ฟ้องไม่คุ้มเพราะขนาดส่งสินค้าไปแล้วฟ้องศาลยังได้แค่ประมาณ 30% ของมูลหนี้ ยิ่งยังไม่ส่งสินค้าไม่ครบคงได้ไม่กี่ % ไม่คุ้มค่าฟ้องร้อง (ถ้าส่งสินค้าได้ครบ หักเงินมัดจำและเงินที่เขาจ่ายมางวดนึงแล้วจะเหลือหนี้อีกประมาณ 1.3 ล้านครับ) จริงๆแล้วเป็นอย่างนั้นหรือไม่ครับ

รบกวนคุณทนายช่วยแนะนำด้วย เพราะสินค้าเป็นสินค้าสั่งทำเฉพาะ ถ้าลูกค้าไม่รับมันก็เท่ากับศูนย์เลย เพราะไม่รู้จะเอาไปขายใครครับ และส่วนที่รับแล้วก็ยังอ้างว่าไม่สมราคาจะจ่ายไม่เต็มอีกกลุ้มใจมากครับเพราะลงทุนไปเยอะแล้ว

สมศักดิ์

สมศักดิ์

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์ 081-9250144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250144

ผู้ดูแล

6 ส.ค. 2556 17:09 #1

ตอบคำถามคุณสมศักดิ์

หลักกฎหมายอ้างอิง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 “อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย” และ

มาตรา 587 “อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อ ผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น”

ดังนั้น การจ้างออกแบบและพัฒนาสินค้าตามคำถาม น่าจะเป็นสัญญาจ้างทำของ ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย เพราะตามหลักกฎหมายจะเห็นว่ากรณีของคุณเป็นการรับจ้างทำงานหนึ่งอย่างหลายชิ้นให้แก่ผู้ว่าจ้างจนเป็นผลสำเร็จ และผู้ว่าจ้างตกลงจะชำระเงินเมื่องานนั้นเสร็จ ผู้ว่าจ้างสามารถแจ้งให้ผู้รับจ้างแก้ไขปรับปรุงงานที่สั่งให้ทำได้ เช่น การจ้างออกแบบบ้าน ก็ถือเป็นสัญญาจ้างทำของ ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย และไม่ได้ดูจากชื่อของสัญญา เนื่องจากกฎหมายให้พิจารณาจากเนื้อหาสาระในการตกลงกันเป็นหลัก แม้ชื่อจะเป็นสัญญาซื้อขาย แต่ความจริงเป็นการจ้างทำของก็ได้ ฉะนั้น เมื่อเป็นสัญญาจ้างทำของก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้างทำของคือ เมื่อการงานนั้นสำเร็จแล้ว ผู้รับจ้างก็ต้องแจ้งให้ผู้ว่าจ้างรับของนั้นไปและเรียกเงินค่าจ้าง (ทำเอกสารแจ้งเป็นหนังสือมีหลักฐานการรับหนังสือด้วย) และหากผู้ว่าจ้างไม่ยอมรับมอบของ ผู้รับจ้างก็มีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้ผู้ว่าจ้างรับของและชำระเงินค่าจ้าง

คำถามข้ออื่นตอบดังนี้

1. สามารถฟ้องให้ลูกค้ารับมอบสินค้าและชำระเงินค่าจ้างได้ การฟ้องก็ต้องว่าจ้างทนายความเพื่อดำเนินคดีแทน เพราะต้องทำเอกสารทางกฎหมายหลายอย่าง การฟ้องคดีแบบนี้เป็นคดีแพ่ง นอกจากค่าจ้างทนายความแล้ว โจทก์ผู้ฟ้องต้องเสียเงินค่าขึ้นศาลอีกร้อยละ 2 บาทของยอดเงินที่ฟ้อง

2.-3. การยกเลิกสัญญาโดยฝ่ายผู้ว่าจ้างนั้น กฎหมายบัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 593 ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการ ชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจาก ความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่ สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิก สัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงกำหนดส่งมอบของนั้นเลย

มาตรา 594 ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาด หมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่องหรือ จะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญาเพราะความผิดของผู้รับจ้างไซร้ ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการ ให้เป็นไปตามสัญญา ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอก กล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไปท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะ เอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซม หรือทำต่อไปได้ซึ่งผู้รับจ้าง จะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

ส่วนผู้รับจ้างก็มีสิทธิและอ้างกฎหมายดังนี้

มาตรา 591 ถ้าความชำรุดบกพร่อง หรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะ หรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าว ตักเตือน

มาตรา 596 ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนด ไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญา เมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลาก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

มาตรา 597 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้ อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า

ความจริงกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างทำของมีเยอะ คุณสามารถหาอ่านได้ทางอินเตอร์เน็ตโดยใช้คำค้นหาว่า สัญญาจ้างทำของ

4. การฟ้องคดีเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ขั้นแรกต้องให้ศาลพิพากษาให้คุณผู้ฟ้องคดีชนะคดีเสียก่อน เมื่อศาลตัดสินให้ชนะคดีแล้วซึ่งอาจได้เต็มตามฟ้องหรือไม่เต็ม ก็มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไป แต่เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หมายความว่า คู่ความพอใจในผลคำพิพากษาแล้ว หรือเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดแล้ว หากโจทก์ชนะคดีก็สามารถบังคับคดีโดยตั้งเรื่องที่กรมบังคับคดีหรือสำนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นขั้นตอนหลังจากศาลตัดสินแล้ว และต้องเสียค่าใช้จ่ายให้รัฐเหมือนกันแต่อาจจะน้อยกว่าการฟ้องคดี และต้องตกลงกับทนายความด้วยว่า ค่าจ้างทนายถึงระดับใดด้วย การบังคับคดีนั้น หากลูกหนี้มีเงินหรือทรัพย์สินให้ยึดก็ไม่น่าห่วง แต่หากไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย ก็อาจกลายเป็นหนี้สูญ เงินที่ลงทุนฟ้องไปตั้งแต่แรกก็อาจไม่ได้คืนด้วย ดังนั้น การฟ้องคดีจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนที่เพื่อนคุณบอกมากนั้น ไม่ใช่แน่นอน เพราะการที่จะชนะคดีขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน หากหลักฐานดีมีน้ำหนัก ศาลย่อมพิพากษาให้เต็มตามราคาที่ตกลงกับลูกค้า พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปีของต้นเงิน การฟ้องคดีไม่มีเสมอ มีแต่แพ้กับชนะเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าชนะคดีจำนวนเท่าใดมากหรือน้อยซึ่งเป็นเพียงตัวเลขก่อน จะได้เงินตามคำพิพากษาหรือไม่เพียงใด ก็แล้วแต่โชคด้วย



ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐาน

5737/2552 เนื้อหาฎีกาย่อ “แม้สัญญาซื้อขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะมีรายละเอียดของแบบสินค้า จำนวนชุด ราคา วันจัดส่งและระบุด้วยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อ ส่วนโจทก์เป็นผู้ขาย แต่ในสัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดเกี่ยวกับผ้า วัสดุอุปกรณ์ กรรมวิธีการผลิต หีบห่อ และเศษวัสดุจากการตัดเย็บและสินค้าคุณภาพรองไว้ โดยสินค้าจะต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐานของโรงงานและเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 กำหนด อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการผลิตสินค้าจะต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 เสียก่อน และก่อนลงมือผลิตสินค้า โจทก์จะต้องส่งตัวอย่างสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อทำการอนุมัติและทดสอบก่อน หากไม่ผ่านการทดสอบ จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าได้ สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาที่กำหนดให้โจทก์ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้แก่จำเลยที่ 1 โดยผ้าและวัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานและได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ 1 ก่อน ทั้งจำเลยที่ 1 จะต้องส่งชุดต้นแบบไปให้แก่โจทก์เพื่อทำชุดตัวอย่างสำหรับลองขนาด สัญญาพิพาทจึงมิใช่สัญญาซื้อขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยทั่วไปที่โจทก์ได้ผลิตสินค้าไว้เรียบร้อยแล้ว หรือโจทก์สามารถผลิตสินค้าขึ้นตามแบบที่โจทก์คิดขึ้นได้เอง แต่เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยผ้า วัตถุดิบ รูปแบบการตัดเย็บ และขั้นตอนการผลิตล้วนอยู่ในการควบคุมมาตรฐานของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในบทบังคับแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 7 ในเรื่องจ้างทำของ”

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกานี้ ระบุหัวสัญญาเป็นเรื่องซื้อขาย แต่ความจริงเป็นสัญญาจ้างทำของ

ทนายภูวรินทร์ 081-9250144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250144

ผู้ดูแล

อลิษา

อลิษา

ผู้เยี่ยมชม

7 ก.ค. 2559 12:54 #2

ขออนุญาตปรึกษานะค่ะ

จ้างโรงงานแห่งนึงผลิตสบู่ให้ค่ะ จำนวน 1,000 ก้อน โดยจ่ายค่ามัดจำ 50% ในสัญญานะบุบส่งมอบสินค้าภายใน 60 วัน แต่ตอนนี้ผ่านไป 6 เดือนแล้วยังไม่มีการส่งมอบใดใด สอบถามไปก็บอกแต่ใกล้จะเสร็จ แบบนี้เราสามารถยกเลิกสัญญาและให้ผู้รับจ้างต้องคืนเงินมัดจำได้หรือไม่ค่ะ

อลิษา

อลิษา

ผู้เยี่ยมชม

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้