ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

  หลักฐานการฟ้องคดีสัญญากู้ยืมเงิน (127635 อ่าน)

29 เม.ย 2556 16:37


             การให้กู้ยืมเงินนั้น เป็นการเอาเงินให้บุคคลอื่นยืมไปเป็นก้อนเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทน แต่เวลาจะขอเงินกู้คืนทั้งหมด หากเจอลูกหนี้ชั้นดีไม่ต้องออกปากทวงถามก็ได้รับเงินคืนตามสัญญาหรือแม้ไม่มีสัญญากู้เป็นหลักฐานก็ตาม แต่เจ้าหนี้หลายรายมักจะเจอปัญหาต่าง ๆ เช่น  ลำบากทวงแล้วทวงอีกก็ไม่ยอมจ่ายคืนเสียที ลูกหนี้ใช้วิธีไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย แบบนี้ เจ้าหนี้ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้ชำระหนี้ต่อไป เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์บางคนอาจโชคดีเมื่อฟ้องศาลแล้วก็ได้เงินคืน แต่เจ้าหนี้บางคน แม้ลูกหนี้จะมาศาลก็ต้องยินยอมให้มีการผ่อนชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ค่อยๆได้รับเป็นรายเดือนอีก เรียกว่าได้บ้างได้ทีละน้อยดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เจ้าหนี้บางคนลูกหนี้ไม่มาศาล และศาลตัดสินให้เป็นฝ่ายชนะคดีแล้ว ก็อาจไม่ได้รับชำระหนี้ ก็ได้ เพราะจะได้แต่เพียงคำพิพากษามากอดเป็นที่ระลึกเท่านั้น การลงทุนลงแรงฟ้องคดีต่อศาลย่อมเปล่าประโยชน์ แต่หากไม่ลองเสี่ยงลงทุนฟ้องคดีก็ต้องทนเจ็บใจไปตลอดชีวิต
             ดังนั้น เจ้าหนี้บางคนจึงต้องยอมลงทุนลงแรงฟ้องคดีต่อศาล และเจ้าหนี้บางรายอาจต้องพบปัญหาต่าง ๆ เมื่อจะฟ้องคดีต่อศาลว่าสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้จะฟ้องร้องใช้บังคับกันได้เพียงใดหรือไม่  เช่น สัญญากู้มีแต่ลายมือชื่อผู้กู้ ไม่มีลายมือชื่อผู้ให้กู้ จะใช้บังคับได้ไหม, สัญญากู้ไม่มีพยานจะใช้ฟ้องคดีได้หรือไม่, เปลี่ยนหนี้อย่างอื่นมาเป็นหนี้เงินกู้จะบังคับได้หรือไม่, จะแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสัญญากู้ที่ทำไว้แล้วได้หรือไม่อย่างไร, สัญญากู้ทำขึ้นทีหลังได้หรือเปล่า, คลิปวีดีโอให้กู้เงินหรือส่งมอบเงินให้ผู้กู้ หรือสลิปโอนเงินเอทีเอ็มใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องกู้ยืมเงินได้หรือไม่ หรือสัญญากู้ต้องปิดอากรแสตมป์หรือไม่และต้องปิดตอนไหน และคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับสัญญากู้ยืมเงินอื่น ๆ  คำถามเหล่านี้มีคำตอบและยกตัวอย่างแนวคำพิพากษาศาลฎีกาประกอบ ดังนี้ครับ
             ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
 

*****************************

ดังนั้น หลักฐานการกู้ยืมเงินสามารถทำขึ้นภายหลังจากมีการกู้ยืมกันจริงก็ได้ ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8175/2551

            “หลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 นั้นอาจเกิดมีขึ้นในขณะกู้ยืมเงินกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ และมิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นหลักฐานที่ได้มอบไว้แก่กัน แม้คำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีอาญาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จะเกิดมีขึ้นภายหลังการกู้ยืมเงินและไม่มีการส่งมอบให้ไว้แก่กันก็ตามก็ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยและโจทก์เป็นกรณีที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานการใช้เงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดง จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้ เพราะเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น”

  สัญญากู้ต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมในหนังสือนั้นหรือไม่ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2982/2535

             “คำว่า หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 นั้น กฎหมายมิได้มีความหมายเคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมอยู่ในหนังสือนั้น เมื่อโจทก์มีหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีใจความว่าจำเลยเป็นหนี้เงินโจทก์จำนวน 19,780 บาท จำเลยรับจะชดใช้เงินให้แก่โจทก์กับมีลายมือชื่อจำเลยในฐานะลูกหนี้ลงไว้มาแสดงและมีพยานบุคคลมาสืบประกอบอธิบายได้ว่าหนี้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินจำนวนเท่าใด จากการซื้อสินค้าเชื่อจำนวนเท่าใดก็ถือได้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือแล้ว”
 

หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินต้องมีข้อความแสดงให้เห็นว่าผู้กู้มีหนี้สินอันจะพึงต้องชำระด้วย ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14712/2551

             “แม้เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไม่จำเป็นต้องระบุชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ แต่เอกสารที่จะเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินจะต้องมีข้อความแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีหนี้สินอันจะพึงต้องชำระให้แก่โจทก์ จึงจะนำสืบพยานบุคคลเพื่ออธิบายว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นเป็นหนี้อันเกิดจากนิติสัมพันธ์ในเรื่องกู้ยืมเงินได้ เอกสารที่โจทก์อ้างมีข้อความเพียงว่า "ได้รับเงินจำนวน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน)" ไม่ได้ความว่าโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินและจำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ อันมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์หรือมีหนี้จะต้องชำระแก่โจทก์แต่อย่างใด เอกสารดังกล่าวจึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่จะใช้ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้”
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007/2552
 
             “จำเลยเป็นพนักงานธนาคารย่อมรู้ดีถึงความแตกต่างระหว่างสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาตัวแทน หากโจทก์มอบเงิน 300,000 บาท ให้จำเลยเพื่อให้จำเลยไปปล่อยเงินกู้แทนโจทก์โดยจำเลยเพียงมีหน้าที่เก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้มาส่งให้โจทก์ตามข้อกล่าวอ้างของจำเลย จำเลยก็สามารถทำสัญญาตัวแทนมอบเป็นหลักฐานให้แก่โจทก์ตรงตามข้อเท็จจริงได้ แต่จำเลยกลับทำเป็นสัญญากู้เงินจำนวนดังกล่าวให้ไว้แก่โจทก์เท่านั้น ย่อมชี้ให้เห็นว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันจริง แม้จำเลยนำเงินที่ได้จากโจทก์ไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมต่อในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ก็เป็นเรื่องที่จำเลยได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของดอกเบี้ย การที่จำเลยไม่ได้รับชำระหนี้จากบุคคลที่กู้ยืมเงินจากจำเลยก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องเสี่ยงภัยเอาเอง แต่จำเลยยังคงต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินที่ทำให้ไว้แก่โจทก์ กรณีไม่ใช่เรื่องที่จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์แต่อย่างใดข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสัญญาที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์เป็นสัญญากู้ยืมเงินที่แท้จริงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางสัญญาตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว”
 

หลักฐานการกู้ยืมเงินไม่จำต้องระบุวันเดือนปีที่ทำสัญญา หรือวันครบกำหนดชำระเงินกู้ ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883/2551

             “ป.พ.พ. มาตา 653 วรรคหนึ่ง บังคับให้ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ยืมจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยไม่จำเป็นว่าหลักฐานเป็นหนังสือนั้นต้องระบุวันเดือนปีที่ทำสัญญา วันเดือนปีที่ครบกำหนดชำระและอัตราดอกเบี้ยไว้
             ในวันทำสัญญากู้เงิน ย. ผู้เขียนสัญญาได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ตรงตามจำนวนที่โจทก์จำเลยตกลงกัน และจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ โจทก์จึงนำสัญญากู้เงินมาฟ้องร้องบังคับคดีได้ ส่วนการกรอกข้อความอื่นๆ แม้จะกระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยหรือจะไม่ระบุไว้เลย ก็ไม่มีผลทำให้หลักฐานการฟ้องร้องที่สมบูรณ์อยู่แล้วและบังคับคับแก่จำเลยได้นั้นเสียไป สัญญากู้เงินจึงไม่ใช่เอกสารปลอม”
 

สัญญากู้ยืมเงินไม่จำต้องระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้ก็ได้ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่  2725/2526

             “จำเลยเขียนกรอกข้อความลงในแบบพิมพ์สัญญากู้ยืมเงินว่าวันที่ 1 กันยายน 2524 จำเลยได้กู้ยืมเงินไปเป็นจำนวน 60,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 3 เดือน คือวันที่1 ธันวาคม 2524 แล้วลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ แต่มิได้กรอกข้อความในช่องว่างที่ว่าได้ทำหนังสือให้ไว้แก่ผู้ใด ไม่มีลายมือชื่อในช่องผู้ให้กู้ พยานและผู้เขียนสัญญา
              ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิได้บังคับว่าหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือต้องมีข้อความว่ากู้ยืมเงินจากผู้ใด ถ้าได้ความว่าจำเลยทำมอบให้แก่โจทก์ ก็มีความหมายอยู่ในตัวว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ไปและทำหลักฐานการกู้ยืมไว้ให้ หนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวย่อมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือแล้ว”
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1302/2535
                “สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 อยู่ที่มีการแสดงให้เห็นว่า มีการกู้ยืมเงินกันไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้ด้วย เอกสารที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ยืม มีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินของผู้ให้กู้ซึ่งมิได้ระบุชื่อลงไว้จำนวนเท่าใด เมื่อวันเดือนปีใด ถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้มิได้ระบุว่ากู้ยืมเงินจากผู้ใด โจทก์ก็นำสืบพยานบุคคลอธิบายให้เห็นได้ว่า โจทก์เป็นผู้ให้จำเลยทั้งสองกู้ยืม ไม่เป็นการสืบเพิ่มเติมเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข)
               จำเลยทั้งสองเป็นหนี้เงินกู้ยืมต่อโจทก์ เมื่อไม่มีการกำหนดเวลาชำระหนี้ต่อกันไว้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันโจทก์บรรยายว่า ได้ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระแต่ตามคำฟ้องและพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามวันเวลาใด จึงต้องฟังให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองผิดนัดในวันฟ้องนั้นเอง จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224”
 
คำพิพากษาฎีกาที่ 2106/2543
             “ป.พ.พ. มาตรา 653 บังคับให้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ โดยมิได้บังคับว่าต้องระบุชื่อผู้ให้กู้และผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อด้วย จำเลยเป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้เงินและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้กับได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์แล้ว แต่สัญญากู้เงินได้เว้นช่องผู้ให้กู้และกำหนดเวลาชำระเงินคืนไว้ เมื่อโจทก์เป็นผู้ให้กู้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะลงชื่อเพื่อเป็นหลักฐานในการนำคดีมาฟ้องร้องได้
                ส่วนการที่โจทก์กรอกข้อความกำหนดชำระเงินคืนนั้น ข้อความดังกล่าวจะระบุไว้หรือไม่ก็ตาม ก็หามีผลให้หลักฐานการฟ้องร้องที่สมบูรณ์อยู่แล้วและบังคับแก่จำเลยได้เสียไปไม่”
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6930/2537
             “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บังคับให้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ โดยมิได้บังคับผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อด้วย ดังนั้นเมื่อจำเลยเป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้เงินและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้แล้วย่อมฟ้องร้องบังคับคดีได้ แม้ลายมือชื่อผู้ให้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อ ส. ผู้ให้กู้แต่เป็นลายมือชื่อปลอม ก็หามีผลให้หลักฐานการฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยเสียไปไม่ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม (มาตรา 193/33 ใหม่)นั้น หมายถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันฟ้อง ส่วนดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระจะใช้มาตรา 166 เดิม (มาตรา 193/33 ใหม่) บังคับไม่ได้”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7064/2553
             “จำเลยที่ 1 ให้การยอมรับว่าได้กู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ น. ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 13 จริง ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.15 ทั้งรับว่าได้ชำระคืนแก่ผู้ให้กู้ดังกล่าวตลอดมาเพียงแต่ชำระไม่ครบจำนวนตามที่ตกลงกัน ชำระไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดในสัญญาและต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ว่าลายมือชื่อในสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเป็นลายมือชื่อปลอมเท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าลายมือชื่อในสัญญากู้เงินดังกล่าว เป็นลายมือชื่อที่แท้จริง ของจำเลยที่ 1 มิใช่ลายมือชื่อปลอมแล้ว แม้จำเลยที่ 3 จะได้ยกข้อต่อสู้ว่าลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้เงินดังกล่าว ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเป็นลายมือชื่อปลอมก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 3 จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ฟังได้ตามที่ยกขึ้นให้การต่อสู้ไว้ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบโดยแถลงไม่ขอสืบพยาน ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้
       หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ผู้กู้ โดยไม่มีลายมือชื่อของบริษัทเงินทุน น. ผู้ให้กู้อยู่ด้วย จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง แม้จะมีข้อความว่าหนังสือสัญญากู้เงิน เอกสารดังกล่าวก็มิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 104 และบัญชีอากรแสตมป์ลักษณะ 5 แต่อย่างใด หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ ตามความหมายของมาตรา 653 วรรคหนึ่งแล้ว ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ น. ไปตามฟ้องโดยไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์”
 

ผู้กู้ลงลายมือชื่อไว้ในช่องพยานในสัญญากู้ ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้แล้ว ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3262/2535

             “จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริง การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งในสัญญาตอนต้นระบุว่าเป็นผู้กู้ลงลายมือชื่อในช่องพยาน และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้โดยไม่มีชื่อเป็นผู้กู้ในตอนต้นของสัญญาไม่ทำให้เอกสารดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามข้อความในเอกสารดังกล่าว”
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2541
           “คำว่าหลักฐานเป็นหนังสือ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ม.653 วรรคหนึ่ง มิได้เคร่งครัด ถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมอยู่ในหนังสือนั้น เมื่อเอกสาร มีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์รวม 116,000 บาท มีลายมือชื่อจำเลยลงไว้ แม้ลายมือชื่อมิได้อยู่ในช่องผู้กู้ แต่มีตัวโจทก์มาสืบประกอบอธิบายว่าเหตุที่ให้จำเลยกู้ยืมเงิน เพราะเห็นว่าจำเลยเป็นคนน่าเชื่อถือได้ โดยจำเลยกู้เงินไป เพื่อทำสวน จำเลยเองก็เบิกความว่าตนมีสวนอยู่ 80 ไร่ ใช้ ปุ๋ยครั้งละประมาณ 2 ตัน เป็นเงินเกือบ 20,000 บาท จำเลย ถูกธนาคารฟ้องเรียกเงินที่กู้ยืม แสดงว่าฐานะของจำเลยไม่ดีนัก เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารที่มีข้อความระบุว่าจำเลย เป็นหนี้โจทก์ จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ จำเลยต้อง รับผิดตามเนื้อความที่ปรากฏในเอกสารนั้น”
 

ทำสัญญากู้เงินแทนบุคคลอื่นต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้หรือไม่ ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 580/2509

           “จำเลยทำสัญญาเป็นผู้กู้ แม้ในใจจริงจะถือว่าทำแทนผู้อื่นและไม่มีเจตนาให้ถูกผูกพันก็ตาม ก็ต้องผูกพันตามที่ได้แสดงเจตนาออกมา เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจนั้น
             แม้ผู้จัดการของนิติบุคคลโจทก์จะทราบความในใจดังกล่าวของจำเลยก็ตามแต่เมื่อผู้จัดการนั้นกับจำเลยได้ตกลงกันไว้ว่าการกู้เงินครั้งนี้ก็เพื่อเอาเงินมาให้ผู้จัดการและเมื่อกู้เงินได้แล้ว ผู้จัดการก็ได้รับเงินไปเป็นประโยชน์เฉพาะตัวผู้จัดการก็ไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนนิติบุคคลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 ความรู้ของผู้จัดการจึงถือเป็นความรู้ของนิติบุคคลด้วยไม่ได้
กู้เงินธนาคารเพื่อเอาไปปลูกบ้านโดยตรงไม่ใช่กรณีบัญชีเดินสะพัดเรียกดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้”
 

การกู้ยืมเงินเข้าลักษณะยืมใช้สิ้นเปลืองย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 3011/2527

       “การกู้ยืมเงินเข้าลักษณะยืมใช้สิ้นเปลือง ย่อมบริบูรณ์ต่อ เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม จำเลยย่อมนำสืบได้ว่าจำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์ อันเป็นการนำสืบว่าจำเลยมิได้รับมอบเงินกู้จากโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุให้สัญญากู้ไม่บริบูรณ์ ทั้งไม่มีมูลหนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์จำเลย ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94”
 

สัญญากู้อาจมีการส่งมอบเงินกันโดยตรง หรือสืบเนื่องมาจากหนี้อื่นแล้วแปลงหนี้ใหม่เป็นหนี้เงินกู้กันก็ได้ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2550

           “ป.กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการขายที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีเงินชำระค่าที่ดินในส่วนของที่ดินที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยตกลงรับโอนกรรมสิทธิ์โดยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินให้ผู้จะขาย ไว้ โดยระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เท่ากับเป็นการกู้เงินจากผู้จะขายมาชำระราคาที่ดินในส่วนเนื้อที่ที่เกินไปจากสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้ได้และผูกพันจำเลย
           หนี้เดิมเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกิน จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนที่เกิน ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงินโดยผู้ ให้กู้อยู่ในฐานะผู้จะขายเช่นกัน การแปลงหนี้ใหม่ในครั้งนี้จึงมิได้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติ ว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องจำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์”
      
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2552
              “โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินและรับเงินสดไปจากโจทก์ จำเลยให้การและนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยเคยนำเช็คไปขายลดแก่กลุ่มของโจทก์ ต่อมากลุ่มของโจทก์อ้างว่าจำเลยยังเป็นหนี้ประมาณ 700,000 บาท หากจำเลยยอมทำสัญญากู้จะลดยอดหนี้ให้เหลือ 500,000 บาท จำเลยจึงลงชื่อในสัญญากู้เงินโดยไม่เคยได้รับเงิน ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยถึงรายละเอียดที่มาแห่งมูลหนี้ในการทำสัญญากู้เงินระหว่าง  โจทก์กับจำเลยที่โต้แย้งกันนั้นได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จริง ไม่ว่ามูลหนี้จะเป็นการกู้ยืมเงินสดหรือเป็นหนี้เงินที่ค้างชำระจากการขายลดเช็ค สัญญากู้ก็มีผลบังคับได้”
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  878/2518
               “สินสอดนั้นตามกฎหมายเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสและเมื่อมีข้อตกลงจะให้สินสอดแก่กันแล้ว การให้สินสอดภายหลังการสมรสย่อมทำได้เพราะไม่มีอะไรห้ามซึ่งต่างกับของหมั้นอันจะต้องให้กันในเวลาทำสัญญาหมั้นคือก่อนสมรส
               บิดามารดาโจทก์จัดให้โจทก์และ ว. ทำพิธีแต่งงานกัน และโจทก์เต็มใจยอมสมรสมารดาโจทก์ได้เตือนให้โจทก์และ ว ไปจดทะเบียนสมรส แต่ทั้งสองคนละเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนโดยว่าจะไปจดวันหลังก็ได้ ครั้นอยู่ด้วยกัน 3 เดือนก็มีเหตุต้องเลิกร้างกันไปโดยไม่ได้จดทะเบียน ดังนี้จะถือว่าฝ่ายหญิงผิดสัญญาฝ่ายเดียวย่อมไม่ได้ ชายเรียกสินสอดคืนไม่ได้
                จำเลยและ ว. บุตรชายตกลงหมั้นโจทก์และตกลงจะให้เงินจำนวนหนึ่งเป็นสินสอดแก่บิดามารดาโจทก์ในวันสมรส ถึงกำหนดจำเลยขอผัดให้เงินสินสอดภายหลัง มารดาโจทก์ยินยอมให้โจทก์แต่งงานกับ ว. เพื่อมิให้เสียพิธี แต่มิได้มีการจดทะเบียนสมรสกันหลังจากสมรสแล้วจำเลยขอทำสัญญากู้ให้มารดาโจทก์แทนเงินสินสอดที่ตกลงจะให้ มารดาโจทก์ต้องการเอาเงินนั้นให้โจทก์ จึงให้โจทก์ลงชื่อเป็นผู้ให้กู้ในสัญญากู้ ดังนี้ แม้โจทก์กับ ว. จะมิได้จดทะเบียนสมรสกันแต่เมื่อการที่มิได้จดทะเบียนสมรสนั้น จะถือว่าฝ่ายหญิงผิดสัญญาฝ่ายเดียวไม่ได้แล้ว ชายย่อมเรียกสินสอดคืนไม่ได้ สัญญากู้จึงมีมูลหนี้เนื่องมาจากเงินสินสอดอันเป็นมูลหนี้ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อบิดามารดาโจทก์ตกลงยกให้โจทก์ และจำเลยยินยอมทำสัญญากับโจทก์เพราะมูลหนี้นี้แล้ว จำเลยย่อมต้องถูกผูกพันให้รับผิดตามสัญญากู้ที่แปลงหนี้มานี้”
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4252/2528
             “จำเลยทำสัญญากู้ยืมไว้แก่โจทก์แทนการวางมัดจำเป็นเงินสดตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สัญญากู้ยืมดังกล่าวจึงมีมูลหนี้มาจากการที่จำเลยมีหนี้ที่จะต้องวางมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อจำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวซึ่งโจทก์มีสิทธิริบเงินมัดจำโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับตามสัญญากู้ยืมได้เพราะมีมูลหนี้ต่อกันและกรณีเช่นนี้ถือได้ว่าได้มีการส่งมอบเงินให้ผู้กู้แล้ว เมื่อสัญญากู้ยืมครบกำหนด จำเลยไม่ชำระหนี้โจทก์ผู้ให้กู้มีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินได้โดยถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญากู้ยืมเป็นต้นไปและเรียกค่าเสียหายร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่ากับดอกเบี้ยโดยคิดตั้งแต่วันผิดนัดได้ด้วย”
 

สัญญากู้ไม่มีบุคคลอื่นลงชื่อเป็นพยานก็ใช้บังคับได้ตามกฎหมายดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 650/2536

             “จำเลยกู้เงินจากโจทก์จำนวน 120,000 บาท โดยไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้แล้วต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินให้โจทก์ไว้ ขณะที่จำเลยเขียนสัญญากู้เงินและลงชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญานั้น ไม่มีบุคคลอื่นลงชื่อเป็นพยานในสัญญา โดยพยานดังกล่าวได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เงินในภายหลัง ก็ไม่มีผลทำให้หนังสือสัญญากู้เงินเสื่อมเสียไป เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือนั้นจะต้องมีลายมือชื่อของพยานด้วย”
 

 สัญญากู้เงินที่ผู้กู้ลงลายมือชื่อเปล่าโดยไม่ได้กรอกข้อความ ผู้ให้กู้กรอกข้อความลงไปโดยไม่ได้รับความยินยอม แต่ได้กรอกตามความจริงที่ตกลงกันไว้ก็ใช้บังคับได้ ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7428/2543

               “จำเลยให้การรับแล้วว่าได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงตามที่โจทก์ฟ้องโดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในกระดาษที่ไม่มีการกรอกข้อความไว้ แม้หากข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำให้การของจำเลยว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารที่โจทก์กรอกข้อความขึ้นเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยก็ตาม แต่โจทก์ได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ยืมตามความเป็นจริงอัตราดอกเบี้ยก็ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือที่ได้ตกลงกันไว้ จึงเป็นการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่งจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง”
  
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5685/2548
               “หนังสือสัญญากู้เงินมีการกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท และหนังสือสัญญาค้ำประกันมีการกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ อันเป็นการกรอกข้อความที่มีมูลหนี้กันจริงแม้จะเป็นการกรอกข้อความภายหลังที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันแล้ว ก็ไม่ทำให้หนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม หนังสือสัญญาทั้งสองฉบับจึงมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยทั้งสอง”
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883/2551
              “ป.พ.พ. มาตา 653 วรรคหนึ่ง บังคับให้ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ยืมจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยไม่จำเป็นว่าหลักฐานเป็นหนังสือนั้นต้องระบุวันเดือนปีที่ทำสัญญา วันเดือนปีที่ครบกำหนดชำระและอัตราดอกเบี้ยไว้
                ในวันทำสัญญากู้เงิน ย. ผู้เขียนสัญญาได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ตรงตามจำนวนที่โจทก์จำเลยตกลงกัน และจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ โจทก์จึงนำสัญญากู้เงินมาฟ้องร้องบังคับคดีได้ ส่วนการกรอกข้อความอื่นๆ แม้จะกระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยหรือจะไม่ระบุไว้เลย ก็ไม่มีผลทำให้หลักฐานการฟ้องร้องที่สมบูรณ์อยู่แล้วและบังคับคับแก่จำเลยได้นั้นเสียไป สัญญากู้เงินจึงไม่ใช่เอกสารปลอม”
 

         สัญญากู้ระบุจำนวนเงินกู้ไว้แล้ว แก้ไขเพิ่มจำนวนให้มากกว่าเดิม ต้องรับผิดเท่าที่กู้ไปจริง ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2552

               “โจทก์มีหนังสือสัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท เป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือซึ่งจำเลยต้องรับผิดแม้ภายหลังโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้นเป็น 120,000 บาท ซึ่งไม่เป็นไปตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกัน แต่ก็ไม่ทำให้หลักฐานกู้ยืมเงินที่ทำไว้แต่เดิมและมีผลสมบูรณ์ต้องเสียไป จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่าที่กู้ไปจริง”
 

 

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

29 เม.ย 2556 16:53 #1


สัญญากู้ไม่ได้กรอกจำนวนเงินกู้ไว้ ผู้ให้กู้กรอกจำนวนเงินกู้เกินจากที่กู้ยืมกันจริง เป็นเอกสารปลอม ใช้เป็นหลักฐานกู้ยืมเงินไม่ได้ ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1651/2548
 

       “จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 10,000 บาท และได้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบไว้ให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินในหนังสือสัญญากู้เงินว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 300,000 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้เงินตามฟ้องจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงไม่อาจอ้างเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง”
 
สาระสำคัญในการกู้ยืมเงินคือการส่งมอบและการทำสัญญาหรือหลักฐานเป็นหนังสือ ธนาคารที่ผู้กู้เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้ ถือว่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิด ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2553
 

          “คำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 480,000 บาท จึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 653 ว่าจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ซึ่งโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันตามเอกสารท้ายฟ้อง การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยจึงอยู่ในบังคับของบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) กล่าวคือโจทก์จะนำสืบพยานบุคคลหรือกล่าวอ้างเป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจากสัญญากู้ยืมเงินหาได้ไม่ ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุว่าทำที่เขตกรุงเทพมหานครเป็นความเท็จ ความจริงแล้วทำที่สำนักงานของโจทก์ที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความตามสัญญากู้ยืมเงินในส่วนที่ระบุถึงมูลคดีที่เกิดขึ้น
         สาระสำคัญในการกู้ยืมเงินคือการส่งมอบและการทำสัญญาหรือหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น การที่โจทก์จะเบิกหรือถอนเงินจากธนาคารใดไปให้จำเลยกู้ยืมเงิน มิใช่สาระสำคัญในการกู้ยืมเงินแต่อย่างใด มิฉะนั้นแล้วจะทำให้มูลคดีเกิดขึ้นสถานที่ใดแล้วแต่โจทก์เพียงฝ่ายเดียว จำเลยไม่อาจทราบได้ ซึ่งจำเลยในฐานะคู่สัญญาน่าจะทราบถึงเขตอำนาจที่จะมีการฟ้องบังคับคดีในกรณีผิดสัญญาด้วย 
       เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการที่จำเลยจะรับเงินที่โจทก์ให้กู้ยืมได้จะต้องไปเบิกถอนเงินจากธนาคารที่โจทก์ร่วมกับจำเลยเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้ที่เขตกรุงเทพมหานคร ธนาคารนั้นจึงเป็นที่รับมอบเงินที่กู้ยืม อันถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดและเป็นท้องที่เดียวกับที่จำเลยมีภูมิลำเนาในขณะทำสัญญาและที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินว่าเป็นที่จัดทำสัญญากู้ยืมเงิน”

สัญญากู้ต้องปิดอากรแสตมป์ และสามารถปิดอากรก่อนหรือขณะนำเอกสารมาอ้างเป็นพยานหลักฐาน หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะติดสินชี้ขาดคดี ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5520/2549
 

       “สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนมาแต่ต้น โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ในสัญญากู้ก่อนหรือในขณะที่ได้นำเอกสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งหรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี
       การที่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาคดีแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไข ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินไปปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วน แล้วส่งคืนเข้าสำนวนในชั้นฎีกา จึงเป็นการไม่ชอบ และถือว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวยังคงเป็นตราสารที่ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน โจทก์จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ถือได้ว่าโจทก์มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมมาแสดง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7050/2548
       “การขอปิดอากรแสตมป์เพิ่มในหนังสือสัญญากู้เงิน จะต้องกระทำก่อนหรือในขณะที่นำเอกสารนั้นมาใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานก่อนศาลชั้นต้นตัดสิน เมื่อโจทก์กระทำหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ไม่สามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินไม่สามารถใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีได้แล้ว แม้โจทก์ได้ขออนุญาตปิดอากรเพิ่มเพื่อให้มีผลเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์ครบบริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 117 ก็ไม่ทำให้ผลเปลี่ยนแปลงไป”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3775/2546
          “การขอขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้เงิน หรือขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะกระทำเสียก่อนหรือในขณะที่ได้นำเอกสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี       การที่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลฎีกาหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปแล้ว โดยศาลอุทธรณ์ปฏิเสธที่จะรับฟังหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไข ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งไม่อนุญาต
          จำเลยกู้เงินโจทก์โดยทำสัญญาจำนองเป็นประกันไว้ และจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้ที่ดินที่จำนองเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับภริยาและจำเลยทำสัญญาจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาก็ตาม คงมีผลเพียงว่าภริยาจำเลยอาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 แต่ตราบใดสัญญาจำนองยังไม่ถูกศาลเพิกถอน ย่อมยังคงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
          โจทก์เป็นผู้อ้างเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินเป็นพยาน ย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการให้เอกสารดังกล่าวสมบูรณ์ถูกต้องสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลรัษฎากร มิใช่หน้าที่ของจำเลย
สัญญากู้เงินและสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมคนละประเภทที่สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน และปรากฏว่าสัญญากู้เงินที่ทำขึ้นไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ย่อมไม่อาจนำเอาอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาจำนองมาบังคับการกู้เงินได้”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8740/2543
          “การที่โจทก์ปิดแสตมป์บนสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันไม่บริบูรณ์ จะใช้เอกสารทั้งสองฉบับเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ ถือได้ว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง และมาตรา 680 วรรคสอง”
 สัญญากู้ยืมเงินที่ไม่ได้ระบุเวลาชำระเงินคืนไว้ ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกให้ผู้กู้ชำระหนี้คืนได้ทันที เช่นนี้ถือเป็นระยะเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้ โดยมีอายุความ 10 ปี ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2535
         “สัญญากู้ยืมเงินไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ผู้ให้กู้ย่อมจะเรียกให้จำเลยผู้กู้ชำระหนี้ได้โดยพลัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคแรก และมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระหนี้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 652 ก่อนก็ได้ จำเลยเพียงแต่ยกเอาข้อความที่จำเลยอุทธรณ์ขึ้นมากล่าวในคำฟ้องฎีกาว่าจำเลยอุทธรณ์ว่าอย่างไร ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอย่างไรแต่จำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ชอบหรือผิดพลาดข้อไหนอย่างไร เป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2539
        “การเรียกให้ชำระหนี้เงินยืมซึ่งมิได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้ไว้ จึงต้องปรับใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคแรก หาใช่เป็นกรณีเรียกให้คืนทรัพย์สินซึ่งยืมไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 652 ไม่ เมื่อสัญญากู้ยืมมิได้กำหนดวันชำระคืนผู้ให้กู้ย่อมจะเรียกให้จำเลยผู้กู้ชำระหนี้โดยพลันได้”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2660/2545
         “โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแต่ศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาอย่างไรก็ตาม
          เมื่อจำเลยไม่คัดค้านภายในกำหนดเวลาแก้อุทธรณ์ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลฎีกาพออนุโลมได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามมาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
สัญญากู้เงินลงวันที่ 12 มิถุนายน 2523 มีข้อตกลงว่าผู้กู้จะชำระหนี้เมื่อผู้ให้กู้เรียกร้อง มิได้มีข้อตกลงเรื่องการชำระหนี้ไว้จึงเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ได้ทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นระยะเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดไปคือวันที่ 13 มิถุนายน 2523 ตามมาตรา 193/3 วรรคสองและมาตรา 193/12
กฎหมายมิได้กำหนดอายุความของการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ ร. ผู้กู้ชำระหนี้แก่โจทก์ได้ภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2523เมื่อ ร. นำเงินบางส่วนมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันที่ 1 มิถุนายน 2531 เป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) และต้องเริ่มต้นนับอายุความใหม่ในวันถัดจากวันที่ได้มีการชำระหนี้คือ วันที่ 2 มิถุนายน 2531และจะครบกำหนดอายุความ 10 ปี ในวันที่ 1 มิถุนายน 2541 ตามมาตรา 193/3 วรรคสอง มาตรา 193/5 วรรคสอง และมาตรา 193/15 วรรคสอง
          ร. ถึงแก่ความตายวันที่ 2 กันยายน 2532 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะต้องฟ้องจำเลยซึ่งเป็นทายาทภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ร. ทั้งนี้มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่ ร. ถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม และวรรคท้าย กรณีมิใช่อายุความมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันถึงแก่ความตายของ ร. ตามมาตรา 193/23 เพราะการที่จะอยู่ภายใต้บังคับอายุความในมาตราดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ก่อนที่ ร. ถึงแก่ความตายจะครบกำหนดภายใน 1 ปี นับแต่ ร. ถึงแก่ความตายเท่านั้น แต่อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ก่อนที่ ร. จะถึงแก่ความตายจะครบกำหนดในวันที่ 1 มิถุนายน 2541 อันเป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี ภายหลังจากที่ ร. ถึงแก่ความตายแล้ว
         โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้หากอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวฟังขึ้น ศาลฎีกาก็ยังไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องของโจทก์ได้ เนื่องจากมีประเด็นข้อพิพาทอีกหลายข้อที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยซึ่งต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นเหล่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก) ”
 
 

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

29 เม.ย 2556 16:56 #2


             ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 บัญญัติว่า “ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของ หรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงิน ค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของ หรือทรัพย์สิน นั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
             ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือ ทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไป เพราะการชำระเช่นนั้นท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาด แห่งสิ่งของ หรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
             ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดั่งกล่าวมานี้ท่านว่าเป็นโมฆะ”
ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่  142/2550
           “หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ระบุว่า "เพื่อเป็นหลักฐาน ข้าพเจ้าฯได้นำโฉนดที่ดินพร้อมหลักฐานต่างๆ มอบอำนาจในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อข้าฯ ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดเมื่อครบสัญญาโดยไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาลใดๆ" ตามข้อตกลงดังกล่าวหากโจทก์หากไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ ส. บิดาจำเลย เมื่อครบกำหนดตามสัญญาก็ให้สิทธิ ส. โอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ได้ทันทีโดยไม่คำนึงถึงราคาที่ดินพิพาทว่าจะเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบคือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ จึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสองย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม ส. ไม่มีสิทธิบังคับให้โจทก์กำหนดการโอนที่ดินพิพาท
            การที่จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
           โจทก์มีคำขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามเดิมและหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา แต่เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมกลับมามีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามเดิม จึงไม่จำเป็นต้องพิพากษาบังคับตามคำขอดังกล่าวของโจทก์อีก”
 

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ผู้ให้กู้

ผู้ให้กู้

ผู้เยี่ยมชม

3 พ.ค. 2556 20:09 #3

ขอบคุณมากๆครับ คุณทนาย ถ้าไ่ม่ได้คุณทนายภูวรินทร์ ผมคงอกแตกตายแน่เลย

ผู้ให้กู้

ผู้ให้กู้

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

5 พ.ค. 2556 16:24 #4


ผู้ให้กู้อ่านเจอคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตรงกับเหตุการณ์ของท่านได้หรือยังครับ

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

jubjib

jubjib

ผู้เยี่ยมชม

17 ส.ค. 2556 16:51 #5

อยากทราบว่า การติดอากรแสตมป์ในสัญญากู้ยืมเงินนั้น ใครเป็นผู้ขีดคร่อมบนแสตมป์ค่ะ ผู้กู้หรือผู้ให้กู้ค่ะ และเราสามารถติดอากรแสตมป์ด้านหลังสัญญาได้ไหมค่ะ ช่วยแนะนำหน่อยนะค่ะเรื่องสัญญากู้เงินว่าแบบไหนถึงจะทำถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

jubjib

jubjib

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

19 ส.ค. 2556 11:31 #6


สัญญากู้ยืมเงินนั้น แม้ขณะทำสัญญากันจะไม่ได้ปิดอากรฯ ก็ใช้บังคับได้ ไม่ได้ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด เพียงแต่หากมีการฟ้องคดีต่อศาล การอ้างสัญญาเป็นพยานหลักฐานจะต้องปิดอากรฯ และขีดฆ่าก่อนยื่นศาลหรือก่อนศาลชั้นต้นตัดสินคดี มิฉะนั้น ต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีซึ่งมีผลเสียถึงกับศาลยกฟ้องทีเดียว การขีดฆ่าจะเป็นใครก็ได้ไม่ใช่สาระสำคัญเพียงแต่การขีดฆ่าต้องทำให้อากรใช้ไม่ได้เท่านั้น
ส่วนการปิดอากรฯนั้น สามารถปิดด้านหน้าสัญญา และหากมีพื้นที่ไม่พอ ก็ปิดด้านหลังต่อไปได้จนครบจำนวน





คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11073/2554



 





โจทก์ปิดอากรแสตมป์ด้านที่เป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินถึง 550 บาท ทั้งที่ต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 285 บาท แสดงว่าโจทก์ปิดอากรแสตมป์ตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันที่เป็นแบบพิมพ์ด้านหลังครบถ้วนแล้ว หนังสือสัญญาค้ำประกันจึงใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118





คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1506/2554



แจ้งแก้ไขข้อมูล





ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น ไม่ได้บังคับถึงเวลาที่ปิด ดังนั้น แม้สำเนาสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นฉบับภาพถ่ายที่โจทก์แนบมาเป็นเอกสารท้ายคำฟ้องจะไม่ปรากฏการปิดแสตมป์ แต่เมื่อต้นฉบับสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ปิดแสตมป์ครบถ้วนบริบูรณ์มาก่อนแล้วขณะโจทก์อ้างส่งเป็นพยานต่อศาล จึงย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ทั้งนี้ โดยโจทก์ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลให้ปิดแสตมป์อีก เพราะมิใช่เป็นกรณีขออนุญาตปิดแสตมป์ภายหลังอ้างส่งเอกสารเป็นพยานโดยเอกสารนั้นยังไม่ได้ปิดแสตมป์ ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังสัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานหลักฐานจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย





คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5715/2552



แจ้งแก้ไขข้อมูล





สัญญากู้ที่โจทก์อ้างส่งมีลักษณะเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 เมื่อโจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวแม้โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนในภายหลังได้ แต่ต้องกระทำเสียก่อนหรือในขณะที่ได้นำสัญญากู้มาอ้างเป็นพยานหลักฐาน หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา การที่โจทก์เพิ่งมาร้องขอต่อศาลฎีกาหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไขได้

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

jubjib

jubjib

ผู้เยี่ยมชม

19 ส.ค. 2556 13:53 #7

ขอบคุณค่ะสำหรับคำตอบดีๆ :h:

jubjib

jubjib

ผู้เยี่ยมชม

สมหวัง

สมหวัง

ผู้เยี่ยมชม

27 ส.ค. 2556 03:02 #8

ไม่ได้ทำสัญญาเงินกู้แต่เซ็นสำเนาบัตรประชาชนและเขียนรายละเอียดจำนวนเงินไว้และดอกเบี้ย5%ต่อเดือน จะฟ้องร้องได้ไหมคะ

สมหวัง

สมหวัง

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

27 ส.ค. 2556 15:52 #9


ตอบคำถามคุณสมหวัง
        เรื่องที่คุณถามผมได้ยกตัวอย่างคดีที่ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้มาให้อ่านแล้วในฎีกาที่ 14712/2551 
        การจะฟ้องได้จะต้องมีข้อความว่า ใครเป็นผู้กู้แล้วได้ยืมเงินใครไปและจะคืนเมื่อไร พร้อมดอกเบี้ยร้อยละกี่บาท และลงลายมือชื่อผู้ยืม  ข้อความแค่นี้ฟ้องได้ แต่ถ้าเป็นข้อความว่า รับรองสำเนาถูกต้องแล้วลงชื่อ มีรายละเอียดที่คุณบอกไว้คงฟ้องไม่ได้ครับ การจะกู้ยืมเงินกันควรจะเขียนให้ชัดเจน จะได้ไม่มีปัญหาและเสียใจภายหลัง หากจะให้ดีไม่ควรให้กู้เงินจะดีที่สุดครับ เพราะการเอาเงินคืนอาจจะได้ หรือไม่ได้เลย

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

นาย ภมร

นาย ภมร

ผู้เยี่ยมชม

25 ก.ย. 2556 18:16 #10

นาย ภมร

นาย ภมร

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

30 ก.ย. 2556 22:27 #11


การลงลายมือชื่อในสัญญาเปล่าโดยไม่ได้กรอกข้อความอาจมีความรับผิดตามสัญญานั้นได้ ตัวอย่างเช่น
คำพิพากษาฎีกาที่ 357/2548
                การที่จำเลยที่ 2 (นายประกัน) ลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความพร้อมกับมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการให้ไว้แก่โจทก์ (บริษัทผู้ให้เช่าซื้อ) เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อซึ่งเป็นการเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเองอย่างร้ายแรง แม้นางศิวพรจะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการค้ำประกันนายปิยะราษฎร์ (ลูกชาย) โดยกรอกข้อความในหนังสือค้ำประกันให้ผิดไปจากเจตนาของผู้ค้ำประกัน ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายประกันนายประกัน (ซึ่งตกเป็นจำเลยที่ 2) จึงไม่อาจอ้างความสำคัญผิดนั้นมาใช้ประโยชน์แก่ตน (ตามประมวลกฎหมายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158) จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชอบแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว  ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย  ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

 

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

Prapass

Prapass

ผู้เยี่ยมชม

6 ต.ค. 2556 21:39 #12

ถ้าเป็นกรณีที่เพิ่งมาเห็นว่าในส่วนเนื้อหาระบุว่าเราเป็นผู้กู้ แต่แท้จริงแล้วเราเป็นผู้ให้กู้ และที่ท้ายสัญญาลงชื่อถูกต้องว่าเราเป็นผู้ให้กู้แบบนี้จะเป็นยังไงคะ

Prapass

Prapass

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

7 ต.ค. 2556 16:55 #13


ตอบคำถามคุณ Prapass
        สาระสำคัญของสัญญากู้ยืมเงินคือ ต้องมีลายมือชื่อ (ลายเซ็นต์) ของผู้กู้เท่านั้น แม้สัญญากู้จะไม่มีลายมือชื่อของผู้ให้กู้ ก็ยังใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ดังนั้น แม้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้กู้และผู้ให้กู้จะไม่ตรงกัน แต่หากมีลายมือชื่อของผู้กู้ในช่องผู้กู้แล้วก็ใช้เป็นหลักฐานฟ้องศาลได้เช่นกัน ตัวอย่าง
  
         ผู้กู้ลงลายมือชื่อไว้ในช่องพยานในสัญญากู้ ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้แล้ว ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3262/2535

       “จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริง การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งในสัญญาตอนต้นระบุว่าเป็นผู้กู้ลงลายมือชื่อในช่องพยาน และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้โดยไม่มีชื่อเป็นผู้กู้ในตอนต้นของสัญญาไม่ทำให้เอกสารดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามข้อความในเอกสารดังกล่าว”
 

 

 

 

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

pan

pan

ผู้เยี่ยมชม

30 ต.ค. 2556 22:06 #14

คนบ้านใกล้กันยืมเงินไป190,000บาทว่าจะใช้คืนภายใน 2 เดือนผ่านไปแล้ว 6 เดือนยังไม่จ่ายสักบาท เราเป็นข้าราชการมีสิทธิ์ฟ้องร้องได้ไหมจะผิดระเบียบไหม มีสัญญาค้ำประกันใบเดียวอย่างอื่นไม่มี

pan

pan

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

31 ต.ค. 2556 22:06 #15

ตอบคำถามคุณ Pan
                  การกู้ยืมเงินที่จะฟ้องได้นั้นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้เป็นสำคัญจึงจะฟ้องได้ ส่วนจะทำงานเป็นข้าราชการก็มีสิทธิฟ้องร้องได้เช่นกัน เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามข้าราชการฟ้องร้องศาล และที่บอกว่ามีสัญญาค้ำประกันเพียงอย่างเดียวนั้น เหตุใดการกู้เงินจึงทำเป็นสัญญาค้ำประกัน ต้องอธิบายรายละเอียดสักนิดครับ แต่หากจะใช้สัญญาค้ำประกันมาฟ้องว่าเป็นการกู้ยืมเงิน จำเลยย่อมยกเป็นข้อต่อสู้ได้ เพราะสัญญากู้กับสัญญาค้ำมีความหมายแตกต่างกัน เท่ากับเปิดช่องให้คู่กรณีมีข้ออ้างประวิงเวลาชำระหนี้

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

pan

pan

ผู้เยี่ยมชม

11 พ.ย. 2556 22:04 #16

คนเดียวมีสัญญาเงินกู้ 3 ฉบับ ฉบับแรกผู้กู้เขียนและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้แต่นำสำเนาบัตรประชาชนเพื่อนมาให้บอกว่ากู้ไปให้เพื่อน ลงวันที่ 21 พ.ค 56 ฉบับที่ 2ผู้กู้เขียนและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้แต่นำสำเนาบัตรประชาชนของแม่มาให้บอกว่ากู้ไปให้ แม่ ลงวันที่ 9 ก.ค 56
ฉบับที 3 ผู้กู้เขียนและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ มีสำเนาที่ดินมาให้ ถ้าลักณะนี้สามารถนำมาฟ้องรวมกันได้มั๊ยคะ หรือจะต้องเขียนใหม่รวมเป็นฉบับเดียวกัน (ผู้เขียนเป็นคนเดียวกันและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ด้วย)
ขอบคุณค่ะ

pan

pan

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

12 พ.ย. 2556 12:46 #17


ตอบคำถามคุณ pan
               การกู้ยืมเงินกฎหมายประสงค์ให้มีหลักฐานการกู้เป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้เป็นสำคัญ และมีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมกันจริง ๆ เพียงแค่นี้ก็สามารถนำหลักฐานการกู้ยืมเงินไปฟ้องร้องผู้กู้หากผิดนัดชำระหนี้ได้แล้ว ส่วนจะกู้เงินไปให้บุคคลใดนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญ 
              แต่การเก็บสำเนาหลักฐานเอกสารสำคัญของผู้กู้จะเป็นสิ่งที่ยืนยันตัวตนผู้กู้ได้ดีกว่าและเป็นหลักฐานแสดงการกู้ยืมเงินกันได้ดีมากในชั้นศาล ฉะนั้น เอกสารสำคัญของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้กู้ไม่ควรเรียกเก็บไว้เป็นหลักฐานเพราะไม่มีประโยชน์อะไร และสำเนาโฉนดที่ดินก็ไม่มีประโยชน์อะไร ควรเก็บแต่ต้นฉบับโฉนดที่ดินเท่านั้น ซึ่งต้นฉบับโฉนดจะเป็นหลักประกันการได้รับชำระหนี้คืนอย่างมาก
              ดังนั้น เมื่อผู้กู้เป็นคนเดียวกันทั้งสามครั้ง ก็สามารถนำหลักฐานการกู้เงินดังกล่าวไปฟ้องศาลทีเดียวกันได้ โดยไม่ต้องไปให้เซ็นต์สัญญากู้ใหม่

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

pan

pan

ผู้เยี่ยมชม

12 พ.ย. 2556 19:54 #18

การจ้างคนเก็บเงินกู้นอกระบบเก็บเงินให้และยึดทรัพย์สิน เช่น โทรทัศน์ พัดลม อืื่นๆ แทนเงิน เมื่อถึงเวลาที่เรายื่นฟ้อง ผู้กู้สามารถนำเหตุการณ์นี้มาหักล้างคดีให้เรารับผิดได้มั๊ยคะ
ขอบคุณค่ะ

pan

pan

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

14 พ.ย. 2556 21:24 #19


ตอบคำถามคุณ pan
        การกระทำตามที่ได้สอบถามมานั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิโดยไม่ถูกช่องทางที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจถูกผู้กู้ร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ได้รับโทษจำคุก และนำมาเป็นเรื่องต่อรองไม่ชำระหนี้ก็ได้

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

pan

pan

ผู้เยี่ยมชม

15 พ.ย. 2556 12:31 #20

:-_-: ขอบคุณค่ะที่ให้ความกระจ่าง
แปลว่าผู้ให้กู้เสียเปรียบทุกอย่าง เงินก้ไม่ได้คืน ยึดทรัพย์ก้ไม่ได้ แต่คนกู้เป็นคนหลอกลวง บอกว่ากู้เอาเงินไปประกันน้องขับรถชนคนตายแต่สืบถามแล้วว่าไม่ใช่ เอาไปให้หลานค่ารถลงไปสอบกรุงเทพนก้ไม่ใช่ เราจะฟ้องข้อหาหลอกลวงได้ไหม อยากให้เข็ดหลาบไม่หยากให้ไปหลอกลวงคนอื่นอีก อยากทราบว่าค่าทนาย ค่าดำเนินการต่างๆตั้งแต่ต้นจนจบต้องจ่ายประมาณเท่าไหล่คะ

pan

pan

ผู้เยี่ยมชม

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้