Ahingsagha

Ahingsagha

ผู้เยี่ยมชม

  การซื้อขายที่ดินหลายมือแต่ไม่ได้โอน (ขอความกรุณานักกฏหมายช่วยด้วยนะครับ) (2609 อ่าน)

14 พ.ย. 2555 11:35

ความเป็นมา
ประมาณ 30 ปีที่แล้ว ที่ดิน น.ส.๓ ประมาณ 20 ไร่ 1 ฉบับ นาย ก. มีชื่อเป็นเจ้าของและมีลูกทั้งหมด 6 คน กับนาง ข. (ขณะนี้วันที่ ๑๗ ส.ค. ๕๕ ที่ดิน
นัดรังวัดรอขึ้นเป็นโฉนด ) ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๑ นาย ก. ได้เสียชีวิตลง นาง ข. ผู้เป็นภรรยานาย ก. ได้แบ่งขายที่ดินจำนวน 6 ไร่
(แต่ยังไม่ได้แบ่งออกจาก 20 ไร่ เพียงแต่ชี้อาณาเขตและเอกสารน.ส.๓ ยังเป็นชื่อ นาย ก. อยู่ ) ให้นาง ค. โดยมีสัญญาซื้อขาย (โดยมีนาง ข.เป็นชื่อผู้ขาย
และลูกอีก 2 คน เป็นพยาน ปัจจุบัน 1 ใน 2 ได้เสียชีวิตแล้ว) แต่ไม่ได้ทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่ดินและนาง ค. ได้ทำกินบนที่ดินแห่งนี้โดยเปิดเผยตั้งแต่ซื้อมา
เป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี และต่อมา นาง ค. ได้ขายที่ดินดังกล่าว ให้นาย ง. (พ่อผมเอง) โดยไม่มีสัญญาซื้อขายกันระหว่าง นาง ค. และนาย ง.
เพียงแต่ได้ให้สัญญาซื้อขายระหว่าง นาง ข. กับนาง ค. ไว้กับนาย ง. และนาย ง. ได้ทำกินบนที่ดินแห่งนี้โดยเปิดเผยตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันประมาณ
20 กว่าปีได้ พร้อมกับชำระค่าภาษีที่ดิน จำนวน 6 ไร่ที่ได้ทำการซื้อมาโดยตลอดแต่ต่อมาได้รับแจ้งจากทาง อบต. ว่าผู้ที่จะชำระภาษีที่ดินได้ต้องมี
เอกสารหลักฐาน การครอบครองที่ดินตามประกาศของรัฐบาล ทำให้นาย ง. ไม่ได้ชำระภาษีไปโดยปริยาย และพยายามทวงถามการแบ่งแยกที่ดิน
ดังกล่าวจากนาง ข. ตลอดมา แต่นาง ข. ก็พยายามบ่ายเบี่ยงโดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวติดจำนองธนาคารอยู่ เลยยังไม่ได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดิน
ดังกล่าวจนกระทั่งนาง ข. เสียชีวิต ต่อมานาย ง. มาทราบภายหลังจาก นาง ข. เสียชีวิตว่า นาง ข. ได้กู้ยืมเงินกับบุคคลธรรมดา มิได้ติดจำนอง
ธนาคารตามที่นาง ข. กล่าวอ้าง และได้นำที่ดิน น.ส.๓ ประมาณ 20 ไร่ดังกล่าวไปค้ำประกัน
ต่อมานาง ข. ได้เสียชีวิตลง และนาง จ. ผู้เป็นบุตรสาวคนโตของ นาง ข. จึงยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้แต่งตั้ง นาง จ. เป็นผู้จัดการมรดกแทน
นาย ก. ผู้เป็นบิดา และได้ไถ่ถอนที่ดินออกมาจากเจ้าหนี้เงินกู้ และทำการโอนที่ดินทั้งหมดเป็นชื่อของนาง จ. แต่เพียงผู้เดียว คือมีชื่อนาง จ. เป็นเจ้าของที่ดินใน
น.ส.๓ มาประมาณ 10 ปี และจะมาขอที่ดินคืนจาก นาย ง. ประมาณ 3 ไร่ ที่นาง จ. กล่าวว่าที่ดินส่วนนี้เป็นของน้องนาง จ. อีกคน และที่ดินบริเวณผืน 3 ไร่นี้
ยังถูกกล่าวหาว่าที่ผ่านมาเป็นป่ามาตลอดไม่มีใครทำมาหากิน (ทั้งๆ ที่มีต้นกระกินขึ้นอยูู่เต็มพื้นที่ หรือแม้กระทั่ง ตอต้นมะขาม มะม่วง ยังมีอยู่ เพียงแต่มันรกชัฏ)
เพื่อจะนำที่ดินดังกล่าวไปแบ่งให้กับพี่น้องทุกคน โดย นาง จ. อ้างสิทธิในเอกสาร น.ส.๓ ที่มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินมาประมาณ 10 ปีแล้ว แต่นาง จ. ไม่เคย
เข้ามาทำมาหากินบนที่ดินผืนที่มีปัญหาเลย เพราะทาง นาย ง. ยังทำมาหากินอยู่ พร้อมทั้งนัดเจ้าหน้าที่จากสำนักงานที่ดินให้มารังวัดเพื่อแบ่ง เอกสารที่ดิน
น.ส.๓ ประมาณ 20 ไร่ดังกล่าว
พอถึงวันนัด วันที่ ๑๗ ส.ค. ๕๕ เจ้าหน้าที่พนักงานรังวัดได้ออกมาทำการรังวัด แต่นาย ง. ได้เข้าทำการคัดค้านการรังวัดไว้ก่อน และ
ทางเจ้าหน้าที่พนักงานรังวัดให้เวลามาตกลงรอมชอมกันเป็นเวลา 1 เดือน ถ้าไม่มีการรอมชอม หรือตกลงกันไม่ได้ เจ้าหน้าที่รังวัด จะไม่ทำการรังวัดให้
แต่ปรากฏว่าทางนาง จ. ไปขอยื่นเวลารอมชอมออกไปอีก 1 เดือน ทั้งๆ ที่ 1 เดือนก่อนหน้านั้น นาง จ. ไม่เคยมาพูดทำความตกลงกับ นาย ง. เลย
หลังจากนั้นทางนาง จ. ก็ไปขอความช่วยเหลือให้ทางอัยการจังหวัด ช่วยไกล่เกลี่ยอีกรอบ ในวันที่ ๑o ตุุลาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถ
ไกล่เกลี่ยได้ครับ ในเมื่อไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ทาง นาย ง. จึงทำการจะปรับปรุงหน้าดินเพื่อที่จะนำผลไม้ มาปลูกในที่ดิน 3 ไร่ที่นาง จ. กล่าวหาว่าเป็นป่ารกชัฏ
และมาขอคืน เพราะอีก 3 ไร่ที่เหลือนั้น นาย ง. ได้ทำการปลูกสัปปะรดเต็มพื้นที่แล้ว ปรากฏ นาง จ. และญาติๆ ได้เข้ามาห้ามและบอกให้หยุดเข้าไปทำมาหากิน
บนพื้นที่ 3 ไร่ที่นาง จ. กล่าวหาว่าเป็นป่ารกชัฏนี้ พร้อมกับแจ้งตำรวจให้ลงบันทึกประจำวันว่า นาย ง. ได้บุกรุกพื้นที่ และทางนาย ง. เองก็ได้แจ้งความเหมือนกันว่า
นาง จ. ได้บุกรุกพื้นที่เช่นกัน ทางตำรวจก็เลยแนะนำให้ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างห้ามเข้าไปยุ่งกับที่ดิน 3 ไร่ที่เป็นป่ารกชัฏนั้น และให้ไปฟ้องร้องที่ศาลกันเอง เพราะไม่สามารถ
ไกล่เกลี่ยให้ได้เหมือนกันครับ หลังจากนั้นนาง จ. ก็ไปยื่นเรื่องขอให้ที่ดินออกมารังวัดเพื่อแยกโฉนดในวันที่ 7 ธันวาคม ๒๕๕๕ ที่จะถึงนี้ ส่วน นาย ง.
ก็จะรอคัดค้านเช่นกัน

ข้อปรึกษา
1.นาย ง. (พ่อผมเอง) จะต้องดำเนินการอย่างไรกับที่ดิน หรือกับทางศาลครับ เพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิในที่ดินจำนวน 6 ไร่ที่ซื้อไป
2.หาก นาง จ. ฟ้องเรียกร้องสิทธิในการถือครองที่ดิน นาย ง. จะฟ้องแย้งการครอบครองได้อย่างไร เนื่องจาก นาย ง. ได้ทำกินบนที่ดิน 6 ไร่ โดยเปิดเผย
มาโดยตลอดเกินกว่า 20 ปี
3.ถ้ามีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น และถ้านาย ง. เป็นฝ่ายชนะ นาย ง. สามารถให้นาง จ. ยินยอมชดใช้เสียค่าทนายให้กับนาย ง. ได้หรือไม่
4.ข้อสำคัญเลยครับ ข้อนี้ หากมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นโอกาสที่ นาง จ. จะชนะมีมั้ยครับ และจะแก้ปัญหาอย่างไรครับ
5.นาย ง. สามารถฟ้องร้องต่อศาลให้ศาลสั่งสำนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้กับกับนาย ง. ก่อนที่นาง จ. จะฟ้องร้องได้หรือไม่ครับ หรือ
ยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินให้ออกโฉนดที่ดินให้กับกับนาย ง. ดีครับ
6.หากมีความเห็นเป็นอย่างอื่น รบกวนท่านช่วยชี้แนะด้วยครับ

ขอความกรุณาท่านด้วยนะครับ
ขอบคุณมากครับ

Ahingsagha

Ahingsagha

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

3 ธ.ค. 2555 19:43 #1

ก่อนอื่นต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งที่ตอบคำถามล่าช้าครับ
        ตามคำถาม ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) นาย ก. ผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิจึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น  แม้การซื้อขายที่ดินระหว่าง นาย ก. กับนาง ค. จะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อนาย ก. ได้ส่งมอบการครอบครองและนาง ค. เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว และไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทถือเป็นการสละเจตนาครอบครองและไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป การซื้อขายย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบการครอบครองหาตกเป็นโมฆะไม่ นาง ค. ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 นาย ก. จึงไม่มีสิทธิในที่ดินจำนวน 6 ไร่อีกต่อไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6597/2542)
        ต่อมาเมื่อนาง ค. ได้ขายที่ดินพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่นาย ง. แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ก็ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้นาย ง.แล้ว และนาง ค. ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทนับเป็นการสละเจตนาครอบครองและไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไปเช่นกัน ดังนั้น การที่พ่อคุณได้ครอบครองต่อมาและชำระภาษีบำรุงท้องที่มาตลอดจึงเป็นการยึดถือโดยเจตนาจะยึดเพื่อตน  และย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามกฎหมาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001 - 4002/2548)
        ส่วนการที่บุคคลอื่นใดได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวอันมีลักษณะรบกวนการครอบครองหรือแย่งการครอบครอง พ่อคุณจึงมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านและรักษาสิทธิในความเป็นผู้ครอบครองที่ดินได้ตามกฎหมาย
        นอกจากนี้ หากนาย ก. หรือทายาท นำที่ดินส่วนดังกล่าวซึ่งไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้ว ไปออกโฉนดที่ดิน หากมีการออกโฉนดให้จริง ก็เป็นการออกโฉนดที่ดินโดยคลาดเคลื่อน พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทได้ หรือไปขายต่อให้บุคคลอื่น ย่อมไม่สามารถทำได้เพราะผู้ขายไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองอีกต่อไปแล้ว
        ตอบข้อปรึกษา
        1. นาย ง.ควรจะทำหนังสือโต้แย้งพร้อมแสดงหลักฐานต่าง ๆ ที่ยืนยันความเป็นผู้มีสิทธิครอบครองต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยอ้างเหตุผลตามที่ได้ตอบไปแล้ว และอ้างหลักคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็มซึ่งผมจะโพสในลำดับถัดไปเพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกโฉนดให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิอันเป็นการป้องกันไว้ก่อน หรือขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดให้ตนเองก็ย่อมทำได้ นอกจากนี้ หากไม่ขอออกโฉนดก็สามารถใช้สิทธิทางศาล (เริ่มฟ้องก่อน) เพื่อขอให้ผู้มีชื่อใน น.ส.3 แบ่งแยกตามจำนวนที่ซื้อและครอบครอง    
        2. หาก นาง จ. เป็นฝ่ายเริ่มฟ้องเรียกร้องสิทธิในการถือครองที่ดินก่อน นาย ง. สามารถฟ้องแย้งให้แบ่งแยกที่ดินได้ ไม่ใช่ฟ้องให้ส่งมอบการครอบครอง เพราะนายง. มีสิทธิครอบครองอยู่แล้ว 
        3. ถ้ามีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น และถ้านาย ง. เป็นฝ่ายชนะ ศาลจะมีคำพิพากษาให้ผู้แพ้คดีชดใช้ค่าทนายให้กับผู้ชนะคดีอยู่แล้ว แต่เป็นจำนวนน้อย และหากไม่พอใจจำนวนนั้นก็คงไม่สามารถฟ้องใหม่เพื่อให้รับผิดได้อีก
        4. หลักของที่ดินมือเปล่า ผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์จริง ๆ ย่อมมีสิทธิดีกว่า ผู้ที่มีเพียงแต่ชื่อในเอกสารที่ดินเท่านั้น ดังนั้น คดีนี้ นาย ง.ย่อมมีโอกาสชนะคดีสูงมากตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว
        5. นาย ง. สามารถยื่นคำร้องขอให้สำนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้กับกับนาย ง. ได้เพราะความจริงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองอยู่แล้ว  หากไม่ปฏิบัติตามก็ต้องใช้สิทธิทางศาลต่อไป  
 

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

3 ธ.ค. 2555 19:46 #2


 




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6597/2542

 




ป.พ.พ. มาตรา 456, 1378 ป.ที่ดิน มาตรา 4 ทวิ, 58 ตรี, 62

        โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 บุกรุกเข้าไปในที่ดินส่วนที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทกันในคดีนี้เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2537 จำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 4211 และ 4212 ซึ่งจำเลยที่ 2 ซื้อมาจากจำเลยที่ 1แสดงว่าการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวทับที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนกระท่อมออกไปจากที่ดินพิพาท กับเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 4211, 4212 และให้จำเลยทั้งสองชำระราคาต้นไม้ 20,000 บาท กับค่าขาดประโยชน์ปีละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
        จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 4211 และ4212 เป็นคนละแปลงกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3386 คำฟ้องเกี่ยวกับความเสียหายเคลือบคลุม และโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกคืนการครอบครองภายในหนึ่งปี ขอให้ยกฟ้อง
        ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
        โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
        โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์แล้วพร้อมกับที่นางมอญขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3386 ให้โจทก์เมื่อปี 2531 จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเพิ่งออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2535 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำการซื้อขายที่ดินพิพาทในปี 2531 ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็นเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ไม่ใช่โฉนดที่ดิน ผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิจึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น ดังนั้น แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง หรือตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้วการซื้อขายที่ดินพิพาทย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบการครอบครอง มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หาตกเป็นโมฆะไม่ และโจทก์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
        คดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมิได้วินิจฉัยประเด็นพิพาทแห่งคดีข้ออื่น ๆ แต่ศาลชั้นต้นได้สืบพยานในประเด็นพิพาทครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นพิพาทข้ออื่น ๆ ตามฎีกาของโจทก์ด้วย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การออกโฉนดที่ดินของที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นการเปลี่ยน น.ส.3 ก.เป็นโฉนดที่ดินตามความในมาตรา 58 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดินตามเอกสารหมายจ.18 และ จ.19 การเปลี่ยน น.ส.3 ก. เป็นโฉนดที่ดินดังกล่าวให้นำหลักฐานเกี่ยวกับระวางรูปถ่ายทางอากาศที่ใช้กับหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาปรับตามหลักวิชาการแผนที่รูปถ่ายทางอากาศโดยไม่ต้องทำการสำรวจรังวัด และการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวให้ออกแก่ผู้มีชื่อซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่ในขณะที่ออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้ว การออกโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ 1 โดยคลาดเคลื่อน พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาท ได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 62 เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เป็นจำเลยด้วย ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เพิกถอนโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทไม่ได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นเพียงบางส่วน
        ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่าโจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใด ปัญหานี้โจทก์นำสืบกล่าวอ้างลอย ๆ ว่าต้นไม้ที่จำเลยที่ 2 ตัดมีราคา20,000 บาท และขาดประโยชน์จากการใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทปีละ 20,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าต้นไม้ที่จำเลยที่ 2 ตัดมีมูลค่าที่แท้จริงเป็นเงินเท่าไร แต่จำเลยทั้งสองให้การรับว่าต้นไม้ที่จำเลยที่ 2 ตัดในที่ดินพิพาทมีราคา 1,000 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายต้นไม้ที่จำเลยที่ 2 ตัดเป็นเงิน 1,000 บาท ส่วนค่าขาดประโยชน์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทเป็นเงินเท่าไร ศาลฎีกาจึงไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นเพียงบางส่วน"
        พิพากษากลับว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท (ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3112 และ 3378 หรือโฉนดที่ดินเลขที่ 4211และ 4212 ตำบลสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ หรือที่ดินแปลงหมายเลข 2 และ 3ในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.1) กับให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนกระท่อมออกจากที่ดินพิพาทห้ามจำเลยทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ต่อไปและให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียแก่โจทก์เป็นเงิน 1,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
         ( วิชัย ชื่นชมพูนุท - ธรรมนูญ โชคชัยพิทักษ์ - สุรศักดิ์ กาญจนวิทย์ )
 

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

3 ธ.ค. 2555 19:48 #3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001 - 4002/2548
ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1373 ป.วิ.พ. มาตรา 167
________________________________
        คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
        โจทก์สำนวนแรกฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 3,000 บาท แก่โจทก์ นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกไปจากที่ดินพิพาท
        จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
        โจทก์สำนวนหลังฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 87 ตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยทั้งสองเข้ารบกวนการครอบครองของโจทก์ในที่ดินดังกล่าว ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
        จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
        จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
        ศาลชั้นต้นให้เรียกชื่อคู่ความทั้งสองสำนวนดังนี้ นายธงหรือธงชัย ร่มเย็น เป็นโจทก์ที่ 1 นายปรีชา สายคำ เป็นโจทก์ที่ 2 นายสมพร ปาสาเนาว์ เป็นโจทก์ที่ 3 นางบัวลอย บุญสะอาด เป็นจำเลยที่ 1 นางวรรณพร ปัดใจ เป็นจำเลยที่ 2 ตามลำดับ
        ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 87 ตำบลเปือย อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ) ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในส่วนสำนวนที่จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ทั้งสามให้ยกฟ้อง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
        จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
        จำเลยที่ 2 ทิ้งอุทธรณ์สำหรับโจทก์ที่ 3 ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีอุทธรณ์เฉพาะโจทก์ที่ 3
        ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 พร้อมบริวารออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 87 ตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ห้ามมิให้เกี่ยวข้อง และให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าเสียหายปีละ 10,000 บาท นับแต่ปี 2542 เป็นต้นไป ให้แก่จำเลยที่ 2 จนกว่าจะออกจากที่ดินของจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องสำนวนที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยทั้งสอง ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 2
        โจทก์ฎีกา
        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า เดิมจำเลยที่ 1 ยืมเงินโจทก์ที่ 1 และมอบที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 87 ตำบลเปือย อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ) เนื้อที่ 21 ไร่ 36 ตารางวา ให้โจทก์ที่ 1 ทำประโยชน์แทนดอกเบี้ย ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ที่ 1 ทำนาในที่ดินพิพาทและชำระภาษีบำรุงท้องที่ติดต่อกันมา ครั้นวันที่ 30 มีนาคม 2541 จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 มีว่า โจทก์ที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ที่ 1 แม้ไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่กัน แต่จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท นับเป็นการสละเจตนาครอบครองและไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป การที่โจทก์ที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาและชำระภาษีบำรุงท้องที่มาตลอด จึงเป็นการยึดถือโดยเจตนาจะยึดเพื่อตน โจทก์ที่ 1 ย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แม้ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2541 จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิเช่นนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยไม่แยกเป็นรายสำนวนนั้นไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นคู่ความในสำนวนแรก และโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นคู่ความในสำนวนหลัง ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง”
        พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสามในสำนวนแรก และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ที่ 1 ในสำนวนหลัง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ
( คมวุฒ บุรีธนวัต - วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ - มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด )

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้