คดี

คดี

ผู้เยี่ยมชม

  ทัณฑ์บนเป็นโมฆะ ต้องถูกยกเลิกไปใช่หรือไม่ อย่างไร (5334 อ่าน)

6 ส.ค. 2555 15:56

เรียน ถามทุกท่านที่รู้และท่านทนาย phuwarin

ผมฟ้องคดีหน่วยงานที่ศาลปกครอง ตั่งแต่ ปี 2544
ฟ้อง 3 ประเด็น 1.ลดโทษ 2.เลื่อนขั้นเงินเดือน 3.เลื่อนระดับ

ปลายเดือน มิ.ย. 55 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินผมแพ้ ทั้ง 3 ประเด็น อย่างน่ากังขา

ประเด็นต่อสู้ที่สำคัญ คือ การละทิ้งหน้าที่ราชการ หน่วยงานกล่าวหาว่าผมละทิ้งหน้าที่ราชการ
ซึ่งเมื่อปลายปี 2542 ผมโทรไปถามสำนักนายก สำนักนายกบอกว่าลักษณะนี้ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการ เพราะคนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร ฑัณฑ์ต้องถูกยกเลิกไป

เรื่องเป็นดังนี้

ผมขอลาพักผ่อน ศุกร์ 24 กันยายน 2542 จันทร์ 27-พฤหัส30 กันยายน 2542 และวันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม 2542
ใบลาพักผ่อนก่อนลา
http://uploadingit.com/file/sdzgo5szmb5okqtc/best_Page_1.jpg
(ขออภัยที่ลบข้อมูลบางอย่างในเอกสารออกไป)

ใบลาพักผ่อนหลังลา เพื่อบอกว่ามีการต่อเติมเอกสารใบลา ตรงช่วงคำสั่ง (วงรีเอาไว้) โดยต่อเติมคำว่า “ในวันที่ 24 ก.ย. 42” (ใบลาพักผ่อนก่อนลา ไม่มีช่วงคำว่า “ในวันที่ 24 ก.ย. 42”)
ใบลาพักผ่อนหลังลาไปแล้ว
http://uploadingit.com/file/kgfxthaex0n01ezi/best_Page_2.jpg


ต่อมา 4 ต.ค. 42 หน่วยงานได้บอกให้ผมลาป่วย ลาป่วยตั้งแต่วันที่ 27-30 กันยายน 2542 และวันที่ 1 ตุลาคม 2542 มีกำหนด 5 วัน เพื่อไม่ให้ผมขาดราชการ (ประวัติการรับราชการใน 5 วันถูกบันทึกว่าป่วย)
ใบลาป่วย
http://uploadingit.com/file/dgeswyudhd7b5bsl/best_Page_3.jpg

และ 8 ต.ค. 42 หน่วยงานได้ทำ ทัณฑ์บน
ตรงนี้ขอสาบานว่าเป็นความจริง คือ
ช่วงที่ถูกเรียกทำทัณฑ์บน ตัวหัวหน้าได้พูดจาทำนองว่า ถ้าไม่เซ็นต์ยอมรับ จะส่งเรื่องให้ระดับกรมดำเนินการต่อไป (ถ้าเซ็นต์ยอมรับ จะหยุดเรื่องไว้เท่านี้) ด้วยความกลัวว่า ถ้าเรื่องถูกส่งให้ระดับกรมดำเนินการต่อ จะเกิดการตั้งกรรมการสวบสวน เรื่องราวจะใหญ่โตและใช้เวลานาน ผมจึงเซ็นต์ลงไป ถ้าจุดนั้นรู้ว่า จริงๆ แล้ว ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ ก็จะไม่เซ็นต์ลงไป

ทัณฑ์บน
http://uploadingit.com/file/c78yfdybykcslies/best_Page_4.jpg

ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินว่า
-แบบบันทึกทัณฑ์บนผู้ฟ้องคดีได้ทำขึ้นด้วยความสมัครใจ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดบังคับขู่เข็ญ ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดียอมรับว่าได้กระทำผิดจึงได้ทำทัณฑ์บนไว้ สำหรับบันทึกลาป่วยนั้นกระทำขึ้นภายหลังซึ่งเป็นคุณแก่ผู้ฟ้องคดีโดยมีผลทำให้ไม่ขาดราชการเท่านั้น ไม่มีผลทำให้ทัณฑ์บนใช้ไม่ได้หรือต้องเสียไปแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น-
(ผมมีความเห็นว่า การตัดสินของศาล ศาลยังไม่คิดไม่ถึงที่สุดของคดี การคิดที่ถึงที่สุดของคดีต้องคิดเหมือนที่สำนักนายกบอก
จึงทำให้คิดว่าศาลทำตัวเชี่ยวชาญระเบียบการลายิ่งกว่าสำนักนายกอีก
สำนักนายกต้นเรื่องระเบียบการลาบอกว่า ฑัณฑ์ต้องถูกยกเลิกไป (ประวัติการรับราชการถูกบันทึกว่าป่วย คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร)
ศาลตัดสินว่าไม่มีผลทำให้ทัณฑ์บนใช้ไม่ได้หรือต้องเสียไปแต่อย่างใด
และการที่ศาลบอกว่า โดยมีผลทำให้ไม่ขาดราชการเท่านั้น การไม่ขาดราชการ ก็คือ ไม่มีการการละทิ้งหน้าที่ราชการ)

ที่ศาลบอกว่า
-แบบบันทึกทัณฑ์บนผู้ฟ้องคดีได้ทำขึ้นด้วยความสมัครใจ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดบังคับขู่เข็ญ ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดียอมรับว่าได้กระทำผิดจึงได้ทำทัณฑ์บนไว้-
ตรงนี้ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในเอกสารในช่วงพิจารณาทั้งในศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดเลย แต่กลับมีอยู่ในคำตัดสินเลย
ศาลปกครองสูงสุด จึงเปิดประเด็นขึ้นมาใหม่ โดยไม่ให้ผมแก้ต่างเลย เพราะตามที่ผมบอกไปแล้ว
(ตรงประเด็นขึ้นมาใหม่ นี้ จะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมจะให้ศาลพิจารณาใหม่)
ข้อเท็จจริงคือ
ช่วงที่ถูกเรียกทำทัณฑ์บน ตัวหัวหน้าได้พูดจาทำนองว่า ถ้าไม่เซ็นต์ไม่เซ็นต์ยอมรับ จะส่งเรื่องให้ระดับกรมดำเนินการต่อไป (ถ้าเซ็นต์ยอมรับ จะหยุดเรื่องไว้เท่านี้) ด้วยความกลัวว่า ถ้าเรื่องถูกส่งให้ระดับกรมดำเนินการต่อ จะเกิดการตั้งกรรมการสวบสวน เรื่องราวจะใหญ่โต และใช้เวลานาน ผมจึงเซ็นต์ลงไป ถ้าจุดนั้นรู้ว่าจริงๆ แล้ว ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ ก็จะไม่เซ็นต์ลงไป จะเห็นว่า ผมไม่ได้สมัครใจทำ
ถ้าศาลให้พิจารณาคดีใหม่ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าให้ตัวหัวหน้ามาให้การที่ศาล ตัวหัวหน้าจะพูดความจริงตามที่บอกไปหรือเปล่า

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมชี้แจงในเอกสารให้ศาลปกครองสุงสุด
--ในแบบทัณฑ์บนระบุว่ากระทำผิดหยุดราชการโดยละทิ้งหน้าที่ในการส่งเอกสารงบประมาณในวันที่ 27 กันยายน 2542 หลังจากได้ทำทัณฑ์บน ต่อมาได้มีการให้ผู้ฟ้องคดีลาป่วยตั้งแต่วันที่ 27-30 กันยายน 2542 และวันที่ 1 ตุลาคม 2542 มีกำหนด 5 วัน ประวัติการรับราชการใน 5 วันถูกบันทึกว่าป่วย โดยเฉพาะในวันที่ 27กันยายน 2542 คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร ทัณฑ์บนจะต้องถูกยกเลิก เมื่อทัณฑ์บนเป็นโมฆะหรือใช้ไม่ได้ ส่งผลให้การลงโทษภาคทัณฑ์กรณีละทิ้งหน้าที่ราชการในการทำเอกสารงบประมาณ ต้องถูกยกเลิกเพิกถอน และเมื่อทัณฑ์บนเป็นโมฆะส่งผลให้การประเมินไม่เลื่อนขั้นและเลื่อนระดับไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เพราะไม่มีการละทิ้งหน้าที่ราชการในการทำเอกสารงบประมาณ ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น—

และยังอธิบายว่าที่ผมรู้ ผมไม่ได้คิดด้วยตนเอง แต่ช่วงปลายปี 42 ได้โทรไปถามสำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ. บอกว่า สำนักงาน ก.พไม่ใช่ต้นเรื่องระเบียบการลา แนะให้โทรไปถามต้นเรื่องระเบียบการลา คือ สำนักนายก สำนักนายกบอกว่าลักษณะนี้ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการ เพราะคนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร

คำถาม

1. ทัณฑ์บนเป็นโมฆะ ตาม ม.156 ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ หรือไม่ อย่างไร
-มาตรา 156 การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ แห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ
ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัว บุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่ง เป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น-
ในกรณีของผม เป็นความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ คือ คิดว่าตัวเองละทิ้งหน้าที่ ซึ่งเมื่อปลายปี 2542 ผมโทรไปถามสำนักนายก สำนักนายกบอกว่าลักษณะนี้ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการ เพราะคนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร ถ้าจุดนั้นรู้ว่าจริงๆ แล้ว ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ ก็จะไม่เซ็นต์ลงไป

อีกประเด็นที่ผมคิดว่าทัณฑ์บนเป็นโมฆะ คือ เนื้อหาในทัณฑ์บนเป็นเท็จ เพราะบอกว่าผมละทิ้งหน้าที่ราชการ แต่ผมไม่ได้ละทิ้งเพราะป่วย กรณีนี้เข้าข่ายทัณฑ์เป็นโมฆะ ตามม.156 นี้หรือไม่ อย่างไร หรือเข้าข่ายตามมาตราอื่น ๆ (มาตราไหน)

2. ทัณฑ์บนเป็นโมฆะ ตาม การขมขู่ หรือไม่ อย่างไร
ผมงงตามที่ศาลตัดสินว่า ที่ศาลบอกว่า
-แบบบันทึกทัณฑ์บนผู้ฟ้องคดีได้ทำขึ้นด้วยความสมัครใจ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดบังคับขู่เข็ญ ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดียอมรับว่าได้กระทำผิดจึงได้ทำทัณฑ์บนไว้-
แสดงว่า ถ้ามีผู้ข่มขู่ จะเป็นโมฆะใช่หรือไม่ อย่างไร ตรงนี้ใช้ มาตราไหนของประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์

เพราะการข่มขู่ตามที่ผมศึกษาเอาเอง ตาม มาตรา 164 ทำให้เป็นแค่โมฆียะ และถ้าทำให้เป็นแค่โมฆียะ แล้วจะทำให้เป็นโมฆะต่อได้อย่างไร
(มาตรา 164 การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ
การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูก ข่มขู่มีมูลต้องกลัวซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้ กระทำขึ้น)

3. หาเอกสารจากศาลฎีกา
การให้ศาลปกครองพิจารณาใหม่ ต้องหาหลักฐานที่เด่นชัด เช่น คำตัดสินของศาลฎีกา
พอจะมีท่านไหนทราบคำตัดสินของศาลฎีกาในอดีตที่มีลักษณะคล้ายกับกรณีของผมไหมครับ ถ้าทราบช่วยตอบด้วย
(ผมเคยค้นคำตัดสินของศาลฎีกาทางเน็ต ยังค้นไม่เจอ)

เรื่องที่เล่ามายาวมากต้องขออภัยด้วยครับ

ขอบคุณ

คดี

คดี

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

7 ส.ค. 2555 15:03 #1

                 ตามที่ท่านได้ตั้งกระทู้สอบถามมานั้น ผมขอแสดงความคิดเห็นตามหลักกฎหมายโดยตอบคำถามเรียงลำดับดังต่อไปนี้
                1. การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมที่จะเป็นโมฆะนั้น คือ การที่ผู้ทำนิติกรรมตั้งใจทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทำนิติกรรมอย่างหนึ่งโดยเข้าใจว่าเป็นนิติกรรมอีกอย่างหนึ่ง เช่น ตั้งใจทำนิติกรรมสัญญาเช่ากัน แต่ไปทำสัญญาซื้อขายกัน ซึ่งการทำสัญญาซื้อขายไม่ใช่นิติกรรมที่ผู้แสดงเจตนาประสงค์จะทำ การแสดงเจตนาตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงกระทำขึ้นโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมที่เป็นสาระสำคัญ  ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 156
                ส่วนการแสดงเจตนาทำแบบบันทึกทัณฑ์บนของท่านนั้น เนื้อหาสาระในทัณฑ์บนก็มีความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า ผู้ทำทัณฑ์บนได้กระทำผิดตามเนื้อหาในเอกสารดังกล่าวจึงได้ทำแบบบันทึกทัณฑ์บนไว้ ไม่ใช่กรณีที่ตั้งใจทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง แล้วไปทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่งแต่อย่างใด ดังนั้น การทำแบบบันทึกทัณฑ์บนจึงไม่ใช่การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมที่จะตกเป็นโมฆะ และการทำทัณฑ์บนก็ไม่ได้ตกเป็นโมฆะตามบทกฎหมายอื่นๆอีกด้วยเพราะข้อเท็จจริงไม่เข้าลักษณะขององค์ประกอบที่จะตกเป็นโมฆะตามมาตรานั้น
                ประการต่อไป การที่ท่านจะได้รับประโยชน์จากความสำคัญผิดซึ่งจะตกเป็นโมฆะนั้น ป.พ.พ. มาตรา 158 ยังบัญญัติต่อไปว่า ความสำคัญผิดตาม มาตรา 156 หรือ มาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ ซึ่งหมายความว่า หากผู้แสดงเจตนาได้ใช้ความระมัดระวังเพียงน้อยนิด การนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น หรือหากกระทำไปโดยขาดความระมัดระวังอย่างมากก็ไม่ได้รับประโยชน์เลย (ฎ.357/2548) ซึ่งต่างจากคำว่าประมาท หรือประมาทเลินเล่อธรรมดา และมาตรา 167 บัญญัติว่า ในการวินิจฉัยกรณีความสำคัญผิด กลฉ้อฉล หรือ การข่มขู่ให้พิเคราะห์ถึง เพศ อายุ ฐานะ สุขภาพอนามัย และ ภาวะแห่งจิตของผู้แสดงเจตนา ตลอดจนพฤติการณ์และสภาพ แวดล้อมอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการนั้นด้วย ดังนั้น แม้จะเป็นการแสดงเจตนาเพราะสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามกฎหมายแล้ว ก็อาจไม่ได้รับประโยชน์จากความสำคัญผิดก็ได้
                สำหรับการแสดงเจตนาที่จะตกเป็นโมฆะตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราอื่นนอกจากนี้นั้น ก็ได้แก่ นิติกรรมมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (ม.150) , นิติกรรมที่มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ (ม.152), การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นโมฆะ (ม.155) และการแสดงเจตนาที่เป็นโมฆียะทุกกรณี ถ้าหากได้กระทำการบอกล้างแล้ว กฎหมายให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก
                ที่ท่านคิดว่า เนื้อหาในทัณฑ์บนเป็นเท็จ เพราะแบบทัณฑ์บนแสดงว่าท่านละทิ้งหน้าที่ราชการ แต่ท่านไม่ได้ละทิ้งเพราะป่วยนั้น ก่อนที่จะทำทัณฑ์บนดังกล่าว หากท่านพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรก็ควรโต้แย้งคัดค้านเสียในขณะนั้น หรือมีการชี้แจงตามที่ท่านเห็นว่าถูกต้องประกอบพยานหลักฐานและไม่ยอมทำทัณฑ์  แต่การที่ท่านยอมทำทัณฑ์บนเพราะกลัวว่าเรื่องจะถูกส่งให้ระดับกรมดำเนินการต่อ จะเกิดการตั้งกรรมการสวบสวน เรื่องราวจะใหญ่โตและใช้เวลานาน ศาลปกครองสูงสุดจึงได้วินิจฉัยว่าท่านทำทัณฑ์บนด้วยความสมัครใจไม่มีผู้ใดบังคับขู่เข็ญครับ
                นอกจากนี้ การที่ศาลจะพิจารณาให้ท่านชนะคดีตามฟ้องหรือไม่นั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยก่อนว่าทัณฑ์บนมีผลผูกพันท่านหรือไม่ เพราะหากวินิจฉัยเป็นยุติแล้วว่าทัณฑ์บนมีผลบังคับได้ ย่อมวินิจฉัยประเด็นตามคำฟ้องตามต่อไปได้ และเมื่อแบบทัณฑ์บนมีอยู่ในสำนวนคดีแล้วศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้เช่นกัน ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือนอกฟ้องแต่อย่างใด
                ดังนั้น การฟ้องคดีนี้ ขณะฟ้องท่านควรจะตั้งประเด็นทำลายแบบทัณฑ์บนว่าไม่ถูกต้องอย่างไร โดยต้องตั้งประเด็นนี้ไว้ในคำฟ้อง, คำแก้คำให้การ, ประกอบพยานเอกสาร ระเบียบ คำสั่งที่เป็นประโยชน์ และอาจจะขอนำพยานบุคคลปากหัวหน้าเข้าสืบว่าเหตุใดจึงต้องทำทัณฑ์บนฉบับนี้, นำสืบพยานบุคคลหรือพยานเอกสาร ระเบียบ คำสั่ง ที่ท่านสอบถามจากสำนักนายกฯ เพื่อยืนยันให้ชัดเจน เพื่อทำลายน้ำหนักแบบทัณฑ์บนดังกล่าวเสียก่อนเช่นกันเพื่อที่ศาลจะได้วินิจฉัยให้ท่านชนะคดี ซึ่งไม่ทราบว่าท่านได้ทำหรือไม่ เพราะหากไม่ได้ทำตามนั้น ศาลก็ไม่อาจวินิจฉัยเป็นไปตามที่ท่านต้องการได้ครับ  
                2. การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่นั้นมีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 164 เท่านั้นครับ และการข่มขู่ไม่ได้ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดด้วย การข่มขู่ที่ร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว เป็นเพียงแค่ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะเท่านั้น คือ เป็นนิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายนับแต่ทำนิติกรรมนั้นจนกว่าจะถูกบอกล้าง (การขอยกเลิกเพิกถอน) ซึ่งเมื่อแสดงเจตนาบอกล้างแล้ว ก็ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก (มาตรา 176)  หากยังไม่ได้บอกล้างก็มีผลสมบูรณ์ต่อไป
                เหตุที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แบบบันทึกทัณฑ์บนผู้ฟ้องคดีได้ทำขึ้นด้วยความสมัครใจ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดบังคับขู่เข็ญ ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดียอมรับว่าได้กระทำผิดจึงได้ทำทัณฑ์บนไว้นั้น เพราะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าการทำทัณฑ์บนถูกต้องชอบหรือไม่ดังกล่าวแล้วข้างต้น คือจะต้องพิจารณาว่ามีผู้ใดมาบังคับขู่เข็ญท่านให้ทำหรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้ใดบังคับขู่เข็ญก็ถือว่าท่านกระทำด้วยความสมัครใจมีผลผูกพันตามที่แสดงเจตนาออกมาครับ หรือหากท่านตั้งประเด็นสู้ว่ามีการบังคับขู่เข็ญย่อมตกเป็นโมฆียะ การฟ้องคดีถือเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างแล้ว ย่อมตกเป็นโมฆะ ศาลย่อมวินิจฉัยต่อไปว่า การบังคับขู่เข็ญนั้นร้ายแรงถึงขนาดที่ท่านต้องกลัวจนไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ด้วย และต้องพิเคราะห์ถึง เพศ อายุ ฐานะ สุขภาพอนามัย และ ภาวะแห่งจิตของท่าน ตลอดจนพฤติการณ์และสภาพ แวดล้อมอื่น ๆ เช่น การศึกษา ตามมาตรา 167 ประกอบด้วยครับ นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 165 ยังบัญญัติไว้อีกว่า การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ การใดที่กระทำไปเพราะนับถือยำเกรง ไม่ถือว่าการนั้นได้กระทำเพราะถูกข่มขู่ กล่าวคือ การขู่ว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย, จะดำเนินคดีอาญาให้ติดคุกติดตาราง, การขู่ว่าจะส่งเรื่องให้ระดับกรมตั้งกรรมการสอบสวน เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมตามระเบียบปฏิบัติปกติ ไม่ถือเป็นการข่มขู่ที่ร้ายแรงถึงขนาด อันจะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ ซึ่งหากมีประเด็นนี้ศาลปกครองก็ต้องพิจารณาไปตามลำดับนี้ด้วย ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงที่ท่านกล่าวมาของคดีนี้ การแสดงเจตนาทำแบบบันทึกทัณฑ์บนของท่านจึงไม่ตกเป็นโมฆียะ
                3.ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติให้คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีอาจมีคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้ กรณี (1) ศาลปกครองฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ...(3) มีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีมีความไม่ยุติธรรม... 
               ดังนั้น หากไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายดังกล่าว คือไม่ใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ หรือเข้าเงื่อนไขในกรณีอื่นๆ ก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะพิจารณาคดีใหม่  
                ส่วนตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยตัดสินกรณีการแสดงเจตนาเป็นโมฆะเพราะสำคัญผิด หรือการข่มขู่ที่ตกเป็นโมฆียะซึ่งเป็นประโยชน์กับท่านนั้น เท่าที่ได้ศึกษามายังไม่เคยอ่านเจอครับ หากต่อไปได้ศึกษาแล้วพบเจอจะแจ้งให้ท่านทราบ
                เรื่องยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ต่อศาล ท่านควรจะหาระเบียบคำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของสำนักนายกฯเรื่องการลา ที่ท่านอ้างว่า การป่วยไม่ใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทัณฑ์บนไม่ถูกต้องอย่างไรประกอบไปด้วย ส่วนศาลปกครองจะมีคำสั่งประการใด จะให้พิจารณาคดีใหม่หรือไม่ ก็สุดแท้แต่ศาลครับ และผลคดีจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ต้องกังวล คิดเสียว่าการยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ยังดีกว่าไม่ยื่นและคงค้างคาอยู่ในใจไม่ได้ดำเนินการอะไรเลยครับ อันนี้เป็นความเห็นผมนะครับ
                 ขอให้ท่านโชคดีครับ

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

คดี

คดี

ผู้เยี่ยมชม

10 ส.ค. 2555 17:46 #2


เรียน ท่านทนายภูวรินทร์

ขอบคุณที่ตอบคำถามให้อย่างยาว และยกตัวอย่างฎีกาให้ (ฎ.357/2548)

รูปภาพประจำตัวของท่านทนายภูวรินทร์ ดูจากหน้าตาแล้วให้ความรู้สึกถึงความมีสง่าราศี มีความสดใส มีความมุ่งมั่น และมีความกระตือรือร้นครับ

1. อ่านจากที่ท่านทนายภูวรินทร์บอกกรณี การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมที่จะเป็นโมฆะ ทำให้เข้าใจมากขึ้น และทำให้ผมคิดได้ว่า กรณีทัณฑ์บนผมคงไม่เข้าลักษณะขององค์ประกอบที่จะตกเป็นโมฆะตามมาตราใด ๆ

--ที่ท่านคิดว่า เนื้อหาในทัณฑ์บนเป็นเท็จ เพราะแบบทัณฑ์บนแสดงว่าท่านละทิ้งหน้าที่ราชการ แต่ท่านไม่ได้ละทิ้งเพราะป่วยนั้น ก่อนที่จะทำทัณฑ์บนดังกล่าว หากท่านพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรก็ควรโต้แย้งคัดค้านเสียในขณะนั้น หรือมีการชี้แจงตามที่ท่านเห็นว่าถูกต้องประกอบพยานหลักฐานและไม่ยอมทำทัณฑ์ แต่การที่ท่านยอมทำทัณฑ์บนเพราะกลัวว่าเรื่องจะถูกส่งให้ระดับกรมดำเนินการต่อ จะเกิดการตั้งกรรมการสวบสวน เรื่องราวจะใหญ่โตและใช้เวลานาน ศาลปกครองสูงสุดจึงได้วินิจฉัยว่าท่านทำทัณฑ์บนด้วยความสมัครใจไม่มีผู้ใดบังคับขู่เข็ญครับ--

ก่อนที่จะทำทัณฑ์บน ช่วงนั้นผมยังไม่ได้โทรไปสอบถามสำนักนายก ผมจึงยังไม่ทราบว่าตัวเองไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการ ประกอบกับกลัวเรื่องราวจะใหญ่โตและใช้เวลานาน จึงเซ็นต์ในทัณฑ์บน ผมจึงโต้แย้งคัดค้านเสียในขณะ นั้นไม่ได้
หลังจากทำใบทัณฑ์บนน่าจะหลายวันมาก ผมจึงโทรไปถามสำนักนายก ถึงรู้ว่าตัวเองไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการเพราะป่วย ด้วยความที่ผมไม่ใช่นักกฎหมาย หรือไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินการทางวินัย ก็ไม่ได้ทำบันทึกขอให้หน่วยงานยกเลิกทัณฑ์บน แต่ได้ทำบันทึกชี้แจงต่อหน่วยงานถึงความไม่ชอบมาพากล และถามไปว่าทัณฑ์บนต้องถูกยกเลิกไปหรือไ ม่อย่างไร ไม่ได้ขอเป็นจริง เป็นจังให้ยกเลิก

ไปรู้ว่าต้องทำเรื่องให้ยกเลิกทัณฑ์บน ต่อศาลปกครองสูงสุด (ศาลปกครองกลาง(ชั้นต้น) แค่ชี้แจงถึงความไม่ชอบมาพากล และถามไปว่าทัณฑ์บนต้องถูกยกเลิกไปหรือไม่อย่างไร ไม่ได้ขอเป็นจริง เป็นจัง และนึกว่าตุลาการศาลปกครองกลางน่าจะเข้าใจได้ง่าย)

การที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า ใบลาป่วยทำขึ้นมาภายหลัง นั้นเป็นเป็นคุณโดยมีผลทำให้ไม่ขาดราชการเท่านั้น ตรงนี้ผมคิดว่าศาลคิดครึ่งเดียว คิดไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ (คิดไม่ครบถ้วนตามกระบวนการหรือขั้นตอนทั้งหมด) โดยเฉพาะสาระสำคัญสูงสุดที่สำนักนายก(ต้นเรื่องที่เชี่ยวชาญระเบียบการลา)ที่ว่าทำให้ประวัติการรับราชการถูกบันทึกว่าป่วย (ประวัติการรับราชการไม่ได้ถูกบันทึกว่าขาดราชการ ถ้าประวัติการรับราชการถูกบันทึกว่าขาดราชการ นั่นคือละทิ้งหน้าที่ราชการ แต่ในความเป็นจริงประวัติ ประวัติการรับราชการไม่ได้ถูกบันทึกว่าขาดราชการ นั่นคือไม่มีการละทิ้งหน้าที่ราชการ) คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร และการไม่ขาดราชการเท่านั้นที่ศาลปกครองสูงสุดบอก อีกนัยหนึ่งก็แปลว่าไม่มีการละทิ้งหน้าที่ราชการ
(ตรงนี้คิดเล่น ๆ นะครับ นอกจากนั้นใบลาป่วยทำขึ้นมาภายหลัง นั้นเป็นเป็นคุณโดยมีผลทำให้ไม่ขาดราชการเท่านั้นตามที่ศาลปกครองสุงสุดตัดสิน ผมคิดเพิ่มเติมขึ้นมาว่า นอกจากนั้นใบลาป่วยยังทำให้มีคุณเพิ่มขึ้น คือ ประวัติการรับราชการถูกบันทึกว่าป่วย คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร อันนำไปสู่การยกเลิกทัณฑ์บน) (ข้อมูลเกี่ยวกับเวลาปฏิบัติราชการในรอบปี ประกอบด้วย มาสาย ลาป่วย ลากิจ ลาคลอดบุตร ลาป่วยจำเป็น ขาดราชการ อื่น ๆ )

ค้นข้อมูลจากเว็บของ ก.พ.
http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/index.php?option=com_kunena&func=view&catid=23&id=2075&Itemid=228

คำถาม
ข้าราชการขาดงาน 1 วัน โดยไม่มาลงเวลา ผิดหรือไม่
คำตอบ
การ ขาดราชการโดยไม่มาลงเวลาโดยไม่มีเหตุสมควรถือเป็นการกระทำความผิดฐานละทิ้ง หน้าที่ราชการ ซึ่งจะเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่อยู่ที่การละทิ้งหน้าที่ราชการ ดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงหรือไม่

จะเห็นว่า การ ขาดราชการโดยไม่มาลงเวลาโดยไม่มีเหตุสมควรถือเป็นการกระทำความผิดฐานละทิ้ง หน้าที่ราชการ แปลตรงข้าม คือ การไม่ขาดราชการ คือ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานละทิ้ง หน้าที่ราชการ

แต่กรณีคดีผม ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินว่า ใบลาป่วยทำขึ้นมาภายหลัง นั้นเป็นคุณโดยมีผลทำให้ไม่ขาดราชการ
ทำไม่ศาลไม่คิดต่อว่า การไม่ขาดราขการ คือ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานละทิ้ง หน้าที่ราชการ

(อีกตัวอย่าง จาก
http://thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply.php?user=nitikon&topic=3096
ข้อความ 4
ข้อความที่ 3 ถูกต้องครับ ละทิ้ง คือขาดราชการ
ดังนั้น ขาดราชการ คือ ละทิ้ง
ไม่ขาดราชการ คือ ไม่ละทิ้ง)

คำถามครับ
1. การที่ศาลพิจารณาไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ คิดครึ่งเดียว คิดไม่ถึงที่สุดเหมือนที่สำนักนายกคิด ตรงนี้ ภาษาทางกฎหมาย ใช้คำว่าอย่างไร ?

ในเรื่องแบบบันทึกทัณฑ์บนที่ศาลบอกว่า ผู้ฟ้องคดีได้ทำขึ้นด้วยความสมัครใจ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดบังคับขู่เข็ญ
ตอนผมโทรไปถามสำนักนายก สำนักนายกไม่ได้ถามถึงผมถูกขู่เข็ญให้ทำทัณฑ์บน ทัณฑ์บนทำด้วยความสมัครใจหรือเปล่า(แสดงว่าไม่ใช่สาระสำคัญสุงสุด) สำนักนายกมุ่งบอกไปยังประเด็นสาระสำคัญอันดับหนึ่งเลย คือ ทำให้ประวัติการรับราชการถูกบันทึกว่าป่วย คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร

ถ้าไม่รู้ความจริงจากสำนักนายก ผมต้องยอมรับว่าละทิ้งหน้าที่ราชการ ยอมแพ้ต่อคดี
เพราะไม่มีเหตุผลอันเป็นสาระสำคัญอันดับหนึ่ง(ประวัติการรับราชการถูกบันทึกว่าป่วย คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร) ที่จะไปต่อสู้

--นอกจากนี้ การที่ศาลจะพิจารณาให้ท่านชนะคดีตามฟ้องหรือไม่นั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยก่อนว่าทัณฑ์บนมีผลผูกพันท่านหรือไม่ เพราะหากวินิจฉัยเป็นยุติแล้วว่าทัณฑ์บนมีผลบังคับได้ ย่อมวินิจฉัยประเด็นตามคำฟ้องตามต่อไปได้ และเมื่อแบบทัณฑ์บนมีอยู่ในสำนวนคดีแล้วศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย ได้เช่นกัน ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือนอกฟ้องแต่อย่างใด--

คำว่า ศาลเปิดประเด็นใหม่ คือ เรื่องการขู่เข็ญ ความสมัครใจ ในการทำทัณฑ์บน
ในกระบวนการ ขั้นตอนพิจารณา ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ที่ส่งเอกสารโต้แย้งกันไปมา ไม่มีเรื่องการขู่เข็ญ ความสมัครใจ ในการทำทัณฑ์บน แต่กลับมีอยู่ในคำตัดสินเลย โดยไม่ให้ผมแก้ต่างเลย เพราะตามที่ผมบอกไปแล้ว
ข้อเท็จจริงคือ(ศาลจะต้องได้รับรู้ข้อเท็จจริงตรงนี้ด้วย)
ช่วงที่ถูกเรียกทำทัณฑ์บน(ปลายปี 42 และยังไม่ได้โทรไปถามสำนักนายก) ตัวหัวหน้าได้พูดจาทำนองว่า ถ้าไม่เซ็นต์ไม่เซ็นต์ยอมรับ จะส่งเรื่องให้ระดับกรมดำเนินการต่อไป (ถ้าเซ็นต์ยอมรับ จะหยุดเรื่องไว้เท่านี้) ด้วยความกลัวว่า ถ้าเรื่องถูกส่งให้ระดับกรมดำเนินการต่อ จะเกิดการตั้งกรรมการสวบสวน เรื่องราวจะใหญ่โต และใช้เวลานาน ผมจึงเซ็นต์ลงไป ถ้าจุดนั้นรู้ว่าจริงๆ แล้ว ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ ก็จะไม่เซ็นต์ลงไป จะเห็นว่า ผมไม่ได้สมัครใจทำ
ถ้าศาลให้พิจารณาคดีใหม่ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าให้ตัวหัวหน้ามาให้การที่ศาล ตัวหัวหน้าจะพูดความจริงตามที่บอกไปหรือเปล่า
แต่ก็อย่างที่ท่านทนายภูวรินทร์ว่าไว้ ตัวหัวหน้าก็มีมีสิทธิที่จะทำตามคำข่มขู่นั้น ที่จะส่งเรื่องให้ระดับกรม (มาตรา 165 ยังบัญญัติไว้อีกว่า การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม)

--ดังนั้น การฟ้องคดีนี้ ขณะฟ้องท่านควรจะตั้งประเด็นทำลายแบบทัณฑ์บนว่าไม่ถูกต้องอย่างไร โดยต้องตั้งประเด็นนี้ไว้ในคำฟ้อง, คำแก้คำให้การ, ประกอบพยานเอกสาร ระเบียบ คำสั่งที่เป็นประโยชน์ และอาจจะขอนำพยานบุคคลปากหัวหน้าเข้าสืบว่าเหตุใดจึงต้องทำทัณฑ์บนฉบับนี้, นำสืบพยานบุคคลหรือพยานเอกสาร ระเบียบ คำสั่ง ที่ท่านสอบถามจากสำนักนายกฯ เพื่อยืนยันให้ชัดเจน เพื่อทำลายน้ำหนักแบบทัณฑ์บนดังกล่าวเสียก่อนเช่นกันเพื่อที่ศาลจะได้ วินิจฉัยให้ท่านชนะคดี ซึ่งไม่ทราบว่าท่านได้ทำหรือไม่ เพราะหากไม่ได้ทำตามนั้น ศาลก็ไม่อาจวินิจฉัยเป็นไปตามที่ท่านต้องการได้ครับ--

หลังจากปลายปี 42 (หลังจาก 8 ต.ค. 42 ที่หน่วยงานได้ทำ ทัณฑ์บนแล้ว )
คือน่าจะเดือนพ.ย. 42 เป็นต้นไปถึงถึงต้นปี 2543 (ขออภัยจำวันที่ไม่ได้) ได้โทรไปถามสำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ. บอกว่า สำนักงาน ก.พไม่ใช่ต้นเรื่องระเบียบการลา แนะให้โทรไปถามต้นเรื่องระเบียบการลา คือ สำนักนายก สำนักนายกบอกว่าลักษณะนี้ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการ เพราะคนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร

ซึ่งผมก็ได้ตั้งข้อสังเกตทำบันทึกข้อความถึงความไม่ชอบมาพากลในการสอบสวนของประเด็นไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการนี้ต่อหน่วยงาน ว่าจะต้องถูกยกเลิกไปหรือไม่ อย่างไร แต่ตอนนั้นยังคิดไม่ออกถึงการทำเรื่องให้ขอยกเลิกทัณฑ์บนต่อหน่วยงานไปเลย และเอกสารบันทึกข้อความถึงความไม่ชอบมาพากลนี้ถูกส่งให้ศาลปกครองกลาง แต่ผมไม่ได้บอกที่มาที่ไปว่า ที่ผมรู้ เพราะผมไปถามสำนักนายก อธิบายเพียงสรุปใจความว่าคนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร และถามไปว่า ทัณฑ์บนจะต้องถูกยกเลิกไปหรือไม่ อย่างไร ไม่ได้เขียนเป็นคำขอชัดเจน

ผมมาเล่าถึงที่มาที่ไปที่ว่า ที่รู้เพราะโทรไปถามสำนักนายก และยังอธิบายในเอกสารให้ศาลปกครองสูงสุดว่าที่ผมรู้ ผมไม่ได้คิดได้ด้วยตนเอง แต่ช่วงปลายปี 42 ได้โทรไปถามสำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ. บอกว่า สำนักงาน ก.พไม่ใช่ต้นเรื่องระเบียบการลา แนะให้โทรไปถามต้นเรื่องระเบียบการลา คือ สำนักนายก สำนักนายกบอกว่าประวัติการรับราชการใน 5 วันถูกบันทึกว่าป่วย คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร ทัณฑ์บนจะต้องถูกยกเลิก ลักษณะนี้ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการ ในเอกสารส่งให้ศาลปกครองสูงสุด (ไม่ได้เล่าที่มาที่ไปให้ศาลปกครองกลาง(ชั้นต้น))

คำตัดสินของศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ตัดสินประมาณปลายปี 2547
ผมบอกศาลปกครองกลางไปว่า ถ้าโทษภาคทัณฑ์เปลี่ยนมาเป็นทัณฑ์บนผมยอมรับได้ (ผมถูกสอบสวน 5 ข้อกล่าวหา การละทิ้งหน้าที่ราชการ เป็นหนึ่งใน 5 ข้อกล่าวหา) ศาลปกครองกลางตัดสินว่า โดยเหตุที่ผู้ฟ้องคดี(ผม)ถูกทำฑัณฑ์บนมาก่อนหน้านี้แล้ว โทษภาคทัณฑ์จึงเป็นโทษที่เหมาะสมแล้ว
ตอนที่อ่านช่วงนี้เสร็จผมรู้เลยว่า ที่ศาลปกครองกลางตัดสินอย่างนี้ มันไม่ใช่ และแสดงให้เห็นว่าศาลปกครองกลางไม่ได้เข้าใจสิ่งที่ผมทราบมาจากสำนักนายกว่า คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร ทัณฑ์บนต้องถูกยกเลิกไป และจุดนี้ผมถึงได้ตระหนักถึงประเด็นของทัณฑ์บนอันเป็นเท็จละทิ้งหน้าที่ราชการ เป็นจุดสำคัญที่จะทำให้ผมลดโทษลงได้ และส่งต่อไปถึงประเด็นการไม่เลื่อนขั้นเงินเดือน และเลื่อนระดับให้ด้วย เพราะสาระสำคัญของการไม่เลื่อนขั้นเงินเดือน และเลื่อนระดับให้ เพราะเรื่องการละทิ้งหน้าที่ราชการนี้ (ซึ่งในความเป็นจริงในประวัติการรับราชการป่วยไม่มีการละทิ้งหน้าที่)
และถ้าผมรู้ว่าจุดนี้เป็นจุดสำคัญมากตั้งแต่แรก ผมก็จะทำเรื่องแย้งประเด็นนี้ต่อกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์ประจำกรมไปแล้ว ว่าให้ยกเลิกทัณฑ์บนไป (ตอนที่ศาลปกครองกลางตัดสิน เรื่องนี้ก็ออกมามาจากกรมนานแล้ว)

ตอนคดีใกล้พิจารณาจบ(ปี 2554) ผมมาทราบตัวตุลาการเจ้าของสำนวนของศาลปกครองกลาง(ศาลปกครองชั้นต้น) เป็นอดีตที่ปรึกษาซีระดับสูงของ ก.พ. ซึ่งต้องชำนาญใกล้ชิดกับกฎ ระเบียบมากกว่าตุลาการที่มาจากอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงอื่น ๆ ตุลาการท่านนี้กลับไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมอธิบายในเอกสารที่บอกว่าสำนักนายกบอกว่าคนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร

2. ข้อนี้เข้าใจตามที่ ท่านทนายภูวรินทร์อธิบาย ครับ
และขอบคุณที่บอกความหมายหนึ่งของการบอกล้าง คือ การฟ้องศาล เพราะผมก็ลงสัยเหมือนกันว่า การบอกล้างคืออะรไ ทำได้อย่างไร

3.ขอบคุณที่แนะนำข้อ 3 ครับ โดยเฉพาะจะหาระเบียบคำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของสำนักนายกฯเรื่องการลา ที่อ้างว่า การป่วยไม่ใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ

สรุปคำถามครับ

1. การที่ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ คิดครึ่งเดียว คิดไม่ถึงที่สุดเหมือนที่สำนักนายกคิด ตรงนี้ ภาษาทางกฎหมาย ใช้คำว่าอย่างไร ? (คิดแค่ว่าบันทึกลาป่วยนั้นกระทำขึ้นภายหลังซึ่งเป็นคุณแก่ผู้ฟ้องคดีโดยมีผลทำให้ไม่ ขาดราชการเท่านั้น ไม่มีผลทำให้ทัณฑ์บนใช้ไม่ได้หรือต้องเสียไปแต่อย่างใด ไม่ได้คิดเหมือนที่สำนักนายก(ต้นเรื่องการลา)บอกว่าประวัติการรับราชการถูกบันทึกว่าป่วย คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร ทัณฑ์บนต้องถูกยกเลิกไป และการไม่ขาดราชการเท่านั้นที่ศาลปกครองสูงสุดบอก อีกนัยหนึ่งก็แปลว่าไม่มีการละทิ้งหน้าที่ราชการ (ช่วงขีดเส้นใต้นี้ความหมายมันกำปั้นทุบดินเลยครับ ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก ศาลปกครองสูงสูดกลับคิดไม่ออก คิดไม่เป็น)

2. การทำทัณฑ์ให้ถูกยกเลิกไป เพราะ เนื้อหาในทัณฑ์บนเป็นเท็จ (กล่าวหาว่าละทิ้งหนาที่ แต่ผมป่วยจะละทิ้งไม่ได้) โดยไม่ใช่คำว่า เป็นโมฆะ ได้หรือไม่ อย่างไร

ตอนปลายปี 42 ที่ผมโทรไปถามสำนักนายก สำนักนายกบอกว่าทัณฑ์บนต้องถูกยกเลิกไป แต่สำนักนายกไม่ได้บอกว่า ทัณฑ์บนเป็นโมฆะ ผมเป็นคนใช้คำว่า ทัณฑ์บนเป็นโมฆะ ผมเขียนในเอกสารให้ศาลปกครองสูงสุด โดยผมบอกศาลว่า ผมไม่ใช่นักกฎหมาย การทัณฑ์บนต้องถูกยกเลิกไป ไม่รู้จะใช่ภาษาทางกฎหมายว่าอย่าง จึงขอใช้คำว่าโมฆะ
(ประเด็นที่ผมใช้คำว่าทัณฑ์บนโมฆะ โดยที่สำนักนายก บอกว่าทัณฑ์บนต้องถูกยกเลิกไป แต่สำนักนายกไม่ได้บอกว่าทัณฑ์บนเป็นโมฆะบอกแต่ว่าทัณฑ์บนต้องถูกยกเลิกไป ผมไม่แน่ใจว่าเป็นการเชื่อมโยงผิดหรือเปล่า (ถูกยกเลิกไปเท่ากับโมฆะหรือเปล่า) อาจทำให้ศาลเกิดความเข้าใจผิดจนผมแพ้คดี
หรือ ควรเปลี่ยนเป็นว่า เนื้อหาในทัณฑ์บนเป็นเท็จ ดังนั้น ทัณฑ์บนต้องถูกยกเลิกไป ตามข้อเท็จจริงในตัวมันเอง และที่สำคัญ คือ เนื้อหาในทัณฑ์บนเป็นเท็จ (เพราะในช่วงนั้นประวัติการรับราชการคือป่วย คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการไม่ได้) ดังนั้น ทัณฑ์บนต้องถูกยกเลิกไปตามระเบียบการลาของสำนักนายก ไม่ใช่ถูกยกเลิกไปเพราะโมฆะ)

ผมไม่ได้ค้นระเบียบคำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของสำนักนายกเรื่องการลาในกรณีเช่นผม หรือพยานบุคคลจากสำนักนายกไปชี้แจงที่ทั้งสองศาลเลยเพราะเป็นเรื่องยุ่งยากในการเดินทาง และผมก็ไม่แน่ใจว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักนายกจะมาเป็นพยานให้ จึงได้แค่อธิบายสิ่งที่ทราบมาจากสำนักนายกจากการโทรไปสอบถามสำนักนายกและสำนักนายกบอกว่าคนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร เขียนชี้แจงเป็นเอกสารให้ทั้งสองศาล
อีกอย่างหนึ่ง ผมนึกว่า ตุลาการทั้งสองศาล(กลาง+สูงสุด)น่าจะเข้าใจประเด็นของสำนักนายกที่บอกว่า คนป่วยจะทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร ได้ง่าย แต่กลับไม่เข้าใจ
นอกจากนั้นตามที่ผมรู้มา หลักการพิจารณาของศาลปกครองจะยึดพยานเอกสารเป็นหลัก (เพราะตายตัว เอกสารใบลาป่วย ทัณฑ์บนชัดเจนอยู่แล้ว) มากกว่าพยานบุคคล (ดิ้นได้ ลิ้นคนไม่มีกระดูก เปลี่ยนแปลงได้) ที่ผ่านมาทั้งสองศาล ผมจึงไม่ให้น้ำหนักของการเชิญพยานบุคคลจากสำนักนายกไปชี้แจงที่ศาลเลยเพราะเป็นเรื่องยุ่งยากในการเดินทาง และผมก็ไม่แน่ใจว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักนายกจะมาเป็นพยานให้)
ผมเคยค้นข้อมูลบนเน็ตหลายวัน ใช้คำค้น คำพิพากษา + ลาป่วย + ลาพักผ่อน ส่วนใหญ่ไปเจอคำพิพากษาของศาลแรงงาน แต่เสียดายที่ค้นไม่เจอในลักษณะของผมเลย

3. สอบสวนผิดข้อกล่าวหา
ปี 43 คำสั่งสอบสวนผม 5 ข้อกล่าวหา ข้อละทิ้งหน้าที่ราชการเป็นข้อที่สอง ในช่วงระหว่างการสอบสวนผมได้เข้าพบกรรมการท่านหนึ่ง อธิบายว่า ข้อที่สองผมไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ กรรมการท่านนี้เป็นตัวหลักคนหนึ่ง กรรมการท่านนี้คงเข้าใจว่าเป็นจริงตามที่ผมบอก เลยการเกิดการเปลี่ยนแปลง 5 ข้อกล่าวหา คือ รายงานการสอบสวน เอาข้อ 2 ข้อละทิ้งหน้าที่ ตัดออกไป
แล้วดันข้อ 3 เดิมมาเป็นข้อ 2
แล้วดันข้อ 4 เดิมมาเป็นข้อ 3
แล้วดันข้อ 5 เดิมมาเป็นข้อ 4
แล้วเพิ่มข้อ 5 ใหม่เข้ามา
ซึ่งผมก็ทำบันทึกบอกแสดงถึงความไม่ชอบมาพากลในการสอบสวน แต่ไม่ได้ทำเรื่องขอให้ยกเลิกทั้งกระบวนการ(ตอนนั้นยังคิดไม่ออก ประกอบกับไม่มีประสบการณ์) เพราะกรรมการสอบสวนสอบสวนผิดข้อกล่าวหา คือ ข้อ 2 ไม่ได้เป็นข้อ 2 เดิม ข้อ 3 ไม่ได้เป็นข้อ 3 เดิม ฯลฯ
บันทึกบอกแสดงถึงความไม่ชอบมาพากลในการสอบสวน ก็ถูกส่งทั้งสองศาล แต่ไม่ได้ทำเป็นคำขอให้ทั้งสองศาลยกเลิกกระบวนการ
(ที่ผมคิดได้ตรงนี้เพราะอาคัยหลักของ น่าจะปี 54 ที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกฟ้องยุบพรรค จริง ๆ แล้วพรรคประชาธิปัตย์อาจจะทำผิดจริงจนถึงขั้นยุบพรรค แต่ผลปรากฎว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบพรรค เพราะ ขั้นตอนที่ทาง กกต. หรืออัยการสูงสุด ไม่ถูกต้อง เช่น ไม่แน่ใจอาจจะเป็นเพราะคดีขาดอายุความ ทำนองนี้จึงไม่ต้องพิจารณาลงในรายละเอียดว่าผิดจริงหรือเปล่า)

ผมคิดประเด็นนี้ได้ (คือฟ้องขอให้ยกเลิกกระบวนการทั้งหมด เพราะ สอบสวนผิดข้อกล่าวหา) ผมคิดได้ในช่วงใกล้วันแถลงปิดคดี ในวันแถลงปิดคดี(ปลายปี 54) ผมจึงเพิ่มคำขอข้อฟ้องขอให้ยกเลิกกระบวนการทั้งหมด เพราะ สอบสวนผิดข้อกล่าวหา เข้าไปด้วย (ไม่ได้ขอในกระบวนการพิจารณาของทั้งสองศาล)

ผลการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ที่ออกมาเมื่อเปลายเดือนมิ.ย. 55 คือ ไม่มีการตัดสินประเด็นคำขอข้อฟ้องขอให้ยกเลิกกระบวนการทั้งหมด เกิดขึ้นในคำพิพากษา ประเด็นนี้ไม่ถูกพูดถึงเลย

จริง ๆ แล้ว ทั้งสองศาล(ที่มีเอกสารบันทึกบอกแสดงถึงความไม่ชอบมาพากลในการสอบสวน) ควรจะแนะนำตั้งแต่แรกว่า ให้เขียนคำขอขอให้ยกเลิกกระบวนการทั้งหมด เพราะกรรมการสอบสวนสอบสวนผิดข้อกล่าวหาด้วย แต่ทั้งสองศาลไม่แนะนำเลย

คำถาม คือว่า ในการขอให้พิจารณาดคีใหม่ จะมีวิธีการหรือเหตุผลใด ในการขอให้พิจารณาดคีใหม่ รวมประเด็นคำขอขอให้ยกเลิกกระบวนการทั้งหมดไปด้วยเพราะสอบสวนผิดข้อกล่าวหา

ขอข้อแนะนำด้วยครับ

4. ในการขอให้พิจารณาดคีใหม่ จะอ้างว่าการที่ศาลตัดสินมาเช่นนั้น ศาลจะสร้างความไม่ถูกต้อง สร้างบรรทัดฐานการตัดสินที่ไม่ถูกต้องให้กับสังคม , ระบบยุติธรรรม โดยเฉพาะบรรทัดฐานการลาป่วยที่คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร
ประเด็นนี้มีความเห็นอย่างไรครับ

5. ประเด็นใหม่อื่น ๆ ที่เห็นว่าเป็นประเด็นให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ รวมถึงประเด็นถ้าศาลพิจารณาคดีใหม่ จะมีข้อต่อสู่ใหม่อะไรบ้าง (อันทำให้ผมชนะคดี) ช่วยเสนอแนะด้วยครับ ถ้าไม่มีไม่เป็นไรครับ

ขออภัยที่เรื่องค่อนข้างยาวครับ

ขอบคุณครับ

คดี

คดี

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

15 ส.ค. 2555 22:52 #3

สวัสดีครับ
              ก่อนอื่นต้องขออภัยที่ตอบคำถามล่าช้าครับ ตามที่ท่านได้สอบถามเพิ่มเติมมานั้น ผมขอแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามดังนี้
             1.  แม้ท่านจะเห็นว่า การตัดสินคดีของศาลปกครองสูงสุดเป็นการวินิจฉัยไม่ครบถ้วนทุกประเด็น ซึ่งถือว่าไม่สิ้นสุดกระบวนความก็ตาม  แต่การพิพากษาคดีเป็นการใช้ดุลพินิจประกอบหลักกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจที่จะพิจารณาประเด็นหลักแห่งคดี ส่วนประเด็นอื่นๆนอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดอาจพิจารณาเห็นว่าไม่เป็นสาระสำคัญแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยก็ได้  ซึ่งมักจะออกแนวนี้เสมอหากมีหลายประเด็นที่มีผลต่อเนื่องไปยังประเด็นข้ออื่นด้วย เพราะการพิพากษาคดีต้องพิจารณาเนื้อหาในคำฟ้อง คำให้การ คำแก้คำให้การ ข้อเท็จจริงอื่น ๆ และพยานหลักฐานในสำนวนคดีทั้งหมดมิใช่แต่เพียงข้อเท็จจริงส่วนใดส่วนหนึ่งครับ
            2. สำหรับหนังสือทัณฑ์บนนั้น ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีแล้วเห็นว่าไม่เป็นโมฆะ ที่จะทำให้เสียเปล่าไม่มีผลบังคับผูกพันตามกฎหมาย เนื่องจากไม่เข้าองค์ประกอบของกฎหมายที่จะตกเป็นโมฆะ การที่ท่านเข้าใจว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่แรกเพราะเนื้อหาเป็นเท็จนั้น จึงเป็นความเข้าใจผิด ความจริงเมื่อได้รับข้อมูลจากสำนักนายกแล้วควรจะหาระเบียบการลาของสำนักนายก เพื่อโต้แย้งหรือขอให้หน่วยงานที่ออกหรือทำทัณฑ์บน ทำการยกเลิกเพิกถอนเสียตอนนั้น หนังสือทัณฑ์บนจึงจะไม่มีผลบังคับ แม้ว่าทัณฑ์บนจะไม่เป็นโมฆะก็ตาม แล้วนำไปอ้างที่ศาล หรือเมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น ก็อาจยื่นขอหมายศาลเพื่อให้สำนักนายกทำหนังสือยืนยันระเบียบการลาดังกล่าวหรือยืนยันเกี่ยวกับกรณีของท่านว่าการป่วยเป็นการละทิ้งหน้าที่หรือไม่ต่อศาลเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงที่ท่านต้องการให้ประจักษ์ชัดเจน  โดยไม่จำเป็นต้องนำพยานบุคคลมาสืบก็ได้ ซึ่งหลักการดำเนินคดีไม่ว่าศาลไหน ทนายความทั่วไปจะคิดเสมอว่า ทำเกินดีกว่าขาดครับ และห้ามคิดว่าศาลท่านคงทราบเรื่อง, ข้อกฎหมาย หรือแนวฎีกานั้นๆดีแล้ว จะต้องเน้นย้ำเรื่องที่ต้องการให้ศาลทราบตลอดแม้ว่าจะถูกศาลดุว่าศาลรู้แล้วก็ตาม ซึ่งเป็นเทคนิคในการวางแผนคดีครับ
            3. การขอให้พิจารณาคดีใหม่  หากไม่มีพยานหลักฐานใหม่ อันทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ และพยานหลักฐานใหม่นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ท่านไม่ทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาคดีครั้งที่แล้วมาโดยมิใช่ความผิดของท่านด้วย กฎหมายได้จำกัดเงื่อนไขไว้มาก ดังนั้น หากท่านจะยื่นขอให้พิจารณาคดีใหม่  ก็ต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับคำสั่ง หรือระเบียบของสำนักนายกดังกล่าวแนบไปด้วย โดยกล่าวอ้างให้เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 75 ด้วย ส่วนจะรวมประเด็นคำขอขอให้ยกเลิกกระบวนการทั้งหมดไปด้วยเพราะสอบสวนผิดข้อกล่าวหาก็ทำได้หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน  
            4. การที่ท่านจะอ้างว่า “การที่ศาลตัดสินเช่นนั้น ศาลจะสร้างความไม่ถูกต้อง สร้างบรรทัดฐานการตัดสินที่ไม่ถูกต้องให้กับสังคม, ระบบยุติธรรม โดยเฉพาะบรรทัดฐานการลาป่วยที่คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร” นั้น ท่านต้องอ้างระเบียบที่ถูกต้อง พร้อมส่งหลักฐานที่ถูกต้องเป็นอย่างไรไปด้วย เพราะมิฉะนั้น ศาลอาจมองว่าเป็นความรู้สึกหรือแค่ความคิดเห็น ซึ่งย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ครับ
            5.  ผมจะเน้นย้ำเรื่องระเบียบสำนักนายกเกี่ยวกับการลาดังที่ท่านให้ข้อเท็จจริงมาเสมอ เพราะถือว่าหากเป็นไปตามที่ท่านกล่าวมาแล้ว ย่อมมีน้ำหนักให้ศาลพิจารณาใหม่ได้ (อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะครับ แต่ศาลอาจมองไม่เหมือนก็ได้) นอกจากนี้ ก็อาจเป็นหนังสือยกเลิกทัณฑ์บนย้อนหลังจากหน่วยงานที่ออกหนังสือนั้นครับ หรือหนังสือยืนยันจากหน่วยงานท่านว่าการป่วยไม่ทำให้ทิ้งหรือขาดราชการครับ (ถ้าหากทำได้) ส่วนประเด็นหรือเหตุผลอื่นนอกจากนั้นยังไม่เห็นครับ

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

คดี

คดี

ผู้เยี่ยมชม

17 ส.ค. 2555 17:56 #4


เรียน ท่านทนายภูวรินทร์

ขอบคุณที่ตอบคำถามให้อย่างยาว และทำให้รู้เพิ่มขึ้นว่า สามารถขอหมายศาล เพื่อให้สำนักนายกทำหนังสือยืนยันระเบียบการลาดังกล่าวหรือยืนยันเกี่ยวกับ กรณีของท่านว่าการป่วยเป็นการละทิ้งหน้าที่หรือไม่ต่อศาลเพื่อยืนยันข้อเท็จ จริงที่ท่านต้องการให้ประจักษ์ชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องนำพยานบุคคลมาสืบก็ได้

2-3 วันที่ผ่านมา ผมได้เกิดความคิด แว็บ ขึ้นมาว่า
หรือว่าศาลปกครองสูงสุดตัดสินตามเจตนาที่แท้จริงของผู้บังคับบัญชาที่ต้องการแค่นั้น(สำหรับบันทึกลาป่วยนั้นกระทำขึ้นภายหลังซึ่งเป็นคุณแก่ผู้ฟ้องคดีโดยมีผลทำ ให้ไม่ขาดราชการเท่านั้น ไม่มีผลทำให้ทัณฑ์บนใช้ไม่ได้หรือต้องเสียไปแต่อย่างใด) (ไม่แน่ใจว่าตรงนี้เรียกว่าศาลเอาหลักรัฐศาสตร์นำหน้าหลักนิติศาสตร์หรือเปล่า อย่างไร) แต่เจตนาที่แท้จริงต้องสอดคล้อง ถูกต้องตามกฎหมาย (การตัดสินของศาล ศาลยังไม่คิดไม่ถึงที่สุดของคดี การคิดที่ถึงที่สุดของคดีต้องคิดเหมือนที่สำนักนายกบอก ศาลคิดครึ่งเดียวคือไม่ขาดราชการเท่านั้น อีกครึ่งที่ศาลไม่ได้คิดคือไม่ขาดก็คือไม่มีการละทิ้งหน้าที่)
นอกจากนั้นเจตนาที่แท้จริงของผู้บังคับบัญชาที่ต้องการแค่นั้น ยังเป็นเจตนาที่มีอคติ อคติ ตรงนี้หมายถึง อคติเพราะเขลา (ความไม่รู้) ที่ว่าจริงแล้วไม่มีการละทิ้งหน้าที่ราชการเกิดขึ้นเพราะป่วย

ประเด็นที่ 3 ที่ผมฟ้องหน่วยงานให้เลื่อนระดับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมส่งต่อหน่วยงานเกินระยะเวลาที่กำหนด (เรื่อง1.ลดโทษ 2. ให้เลื่อนขั้นเงินเดือน ผมส่งภายในอายุความ) ศาลปกครองสูงสุด ก็ตัดสินว่า ขาดอายุความ ซึ่งผมก็ยอมรับ ตรงนี้ศาลปกครองสูงสุด เอาหลักกฎหมายมาใช้กับผม แต่เรื่องทัณฑ์บนกลับไม่เอาหลักกฎหมายมาใช้กับผม

ขออนุญาตถามว่า

1. ถามว่าการที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินตามเจตนาของผู้บังคับบัญชาที่ต้องการแค่นั้น(สำหรับบันทึกลาป่วยนั้นกระทำขึ้นภายหลังซึ่งเป็นคุณแก่ผู้ฟ้องคดีโดยมีผลทำ ให้ไม่ขาดราชการเท่านั้น) โดยไม่คิดต่อให้จบไ(ม่ขาดก็คือไม่มีการละทิ้งหน้าที่) ใช้หลักการอะไร (ใช้หลักดูเจตนาที่แท้จริงของผู้บังคับบัญชาที่ต้องการแค่นั้น ? และมีหลักเช่นนี้ด้วยหรือ(หลักการไม่คิดต่อให้จบ))
ข้อนี้ถามเพื่อให้รู้ว่าศาลใช้หลักการอย่างไร ถ้าศาลตอบไม่ได้ ศาลมั่วหลักการ ดังนั้น ศาลจะต้องใช้หลักคิดให้ครบ (หลักนี้ผมคิดเองครับ)
ถ้าศาลใช้หลักการถูก ผมก็จะศึกษาหลักการนั้นเพื่อหาข้อต่อสู้ต่อไป
(หลักการที่ถาม ยกตัวอย่างเช่น ที่ใดไม่มีผู้ฟ้องคดี ที่นั่นไม่มีผู้พิพากษา, หลักไม่พิจารณาเกินคำขอ ฯลฯ)

หมายเหตุ

คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการได้อย่างไร เข้าใจได้ในตัวของประโยคเอง คนที่จะละทิ้งหน้าที่ราชการ ได้ คือ คนขาดราชการ
จาก
http://kmsesa28.info/km/userfiles/P_49-54.pdf

คำว่า “ขาดราชการ” หมายถึง ไม่ได้มาปฏิบัติราชการตามปกติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งการอนุญาตดังกล่าว มี 2 กรณี คือ การอนุญาตให้ลาตามระเบียบว่าด้วยการลากับกรณีที่มีเหตุพิเศษ
ผมได้รับการอนุญาตให้ลาป่วยตามใบลาป่วยที่ทำลิงค์ให้ในหัวข้อครับ นั่นคือไม่ได้มาปฏิบัติราชการตามปกติโดยได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาให้ลาป่วยถือว่าไม่ได้ขาดราชการ จึงไม่มีการละทิ้งหน้าที่เกิดขึ้น
คนป่วยจะละทิ้งหน้าที่ราชการไม่ได้เพราะได้รับอนุญาตให้ไม่ต้องมาปฏิบัติราชการตามปกติย้อนหลัง จึงไม่มีการละทิ้งหน้าที่ราชการการเกิดขึ้น

อนึ่ง ผมได้สอบถามไปในเว็บบอร์ดของสำนักนายกเกี่ยวกับกรณีทัณฑ์บนดังกล่าวแล้ว(ตอนนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ)และพยายามจะถามที่เว็บบอร์ดสำนักงานก.พ.ด้วย และคิดว่าตัวผมเองคงต้องเสี่ยงเดินทางไปถามเกี่ยวกับกรณีทัณฑ์บนและหาหลักฐานระเบียบสำนักนายก(ตามที่ท่านทนายภูวรินทร์แนะนำ) ดังกล่าวที่สำนักนายกโดยตรง

ขอบคุณครับ

คดี

คดี

ผู้เยี่ยมชม

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้