ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

  ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดิน น.ส.3 (21202 อ่าน)

4 ส.ค. 2555 19:23

           วันนี้มีลูกความโทรศัพท์มาปรึกษาคดีเรื่องที่ถูกฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ว่าสามารถฟ้องศาลได้หรือไม่ ผมจึงได้นำตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งมีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกับเรื่องที่ลูกความได้ปรึกษามาให้ศึกษาไว้เป็นประโยชน์โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

          การที่ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต่างมิได้เจ้าทำประโยชน์ในที่พิพาท เพราะต่างถือสิทธิโดยอ้างเพียงเอกสารสิทธิตาม น.ส.3 และโฉนดที่ดินที่ตนมีชื่ออยู่เป็นสำคัญเท่านั้น คดีจึงไม่มีปัญหาไปถึงเรื่องการแย่งการครอบครอง ดังนั้น สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของจำเลยย่อมมีอยู่ตลอดไป คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ และไม่ต้องด้วยกรณีห้ามฟ้องเกินกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง ผลคดีนี้ศาลยุติธรรมทั้งศาลชั้นต้น, ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาได้พิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่ทับที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ (ฎีกาที่ 3828/2542)

________________________________

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3828/2542
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 1268 เนื้อที่ประมาณ 80 ตารางวา เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2537 โจทก์นำที่ดินดังกล่าวไปขอออกโฉนด แต่ได้รับแจ้งว่าจำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1271 ไปออกเป็นโฉนดทับที่ดินของโจทก์ทั้งแปลง เป็นโฉนดเลขที่ 15039 เนื้อที่ 1 งาน 62 6/10 ตารางวา ขอให้พิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15039 เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
          จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นเพียงผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 1268 โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิครอบครองและไม่มีสิทธิขอออกโฉนด จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 15039 โดยยื่นคำขอออกโฉนดตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 1271 ซึ่งจำเลยเป็นผู้ครอบครอง เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำตามระเบียบและถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน มิได้รังวัดทับที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์รู้เรื่องการออกโฉนดที่ดินของจำเลยตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2526 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รับโอนที่ดินมาจากนายอนันต์ นวลจันทร์ เจ้าของเดิมเป็นเวลาเกินกว่าสิบปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15039 เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1268 เนื้อที่ 80 ตารางวา จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณเดียวกัน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1271 เนื้อที่ 1 งาน 60 ตารางวา ที่ดินแปลงของจำเลยจำเลยได้ขอออกโฉนดเมื่อปี 2517ตามโฉนดเลขที่ 15039 เนื้อที่ 1 งาน 62 6/10 ตารางวา โดยจำเลยนำรังวัดออกโฉนดทับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์
          มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยได้เข้าทำประโยชน์ในที่พิพาท ทั้ง 2 ฝ่ายต่างถือสิทธิโดยอ้างเพียงเอกสารสิทธิที่ตนมีชื่ออยู่เป็นสำคัญคดีจึงไม่มีปัญหาไปถึงเรื่องการแย่งการครอบครอง ด้วยเหตุนี้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้เพิกถอนโฉนดของจำเลย จึงย่อมมีอยู่ตลอดไป คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ และไม่ต้องด้วยกรณีห้ามฟ้องเกินกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง
          ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาอีกข้อหนึ่งของจำเลยมีว่า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาห้ามจำเลยเกี่ยวข้องในที่พิพาทเป็นการพิพากษานอกประเด็นหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าเป็นการพิพากษานอกประเด็นเนื่องจากศาลชั้นต้นไม่ได้ตั้งประเด็นพิพาทในเรื่องนี้ไว้ เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะไม่ได้ตั้งเรื่องนี้เป็นประเด็นพิพาทไว้ แต่การที่ศาลฟังว่าโฉนดที่ดินของจำเลยออกทับที่ดินของโจทก์ อันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นพิพาทที่ตั้งไว้ และให้เพิกถอนโฉนดส่วนที่ออกทับนั้น ศาลก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาห้ามจำเลยเกี่ยวข้องในที่พิพาทได้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ หาใช่การพิพากษานอกประเด็นไม่
           พิพากษายืน
 ( ประดิษฐ์ สิงหทัศน์ - พิมล สมานิตย์ - ศุภชัย ภู่งาม )

หลักกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
                มาตรา 1375 ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครองเว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
                การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

joni

joni

ผู้เยี่ยมชม

13 ก.พ. 2561 10:59 #1

[url]https://goo.gl/tYduyk[/url]
[url]https://medium.com/@ogiherbal/cara-mengobati-penyakit-hipoalbuminemia-secara-alami-dan-cepat-cb3dcd80bf9f[/url]
[url]http://warungkopi.okezone.com/thread/703676/cara-mengobati-penyakit-hipoalbuminemia-secara-alami-dan-cepat[/url]

joni

joni

ผู้เยี่ยมชม

Rose mandac

Rose mandac

ผู้เยี่ยมชม

23 เม.ย 2563 20:59 #2

กรณีที่ทั้งสองใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินมาเกินกว่า 10 ปีทั้งคู่ละค่ะ.....เเต่เมื่อมีการสอบเขตใหม่จึงทราบว่า...อีกฝ่ายออกโฉนดทักซ้อนที่ดินของอีกฝ่าย....ของคำเเนะนำหน่อยค่ะ

Rose mandac

Rose mandac

ผู้เยี่ยมชม

พงษ์เทพ

พงษ์เทพ

ผู้เยี่ยมชม

3 ต.ค. 2566 14:11 #3

นัวันถูกแย้งการครอบครองหมายความว่าอย่างไร วันที่ถูกแย้งหรือวันที่นับรู้ว่าถูกแย้งการครอบครอง

พงษ์เทพ

พงษ์เทพ

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้เยี่ยมชม

12 พ.ย. 2566 22:57 #4

กฎหมายใช้คำว่า นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ดังนั้น จึงไม่ใช่วันที่ทราบ

ปพพ. มาตรา 1375 "ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วย กฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครองเว้นแต่อีก ฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครอง ได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปี หนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง"

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้เยี่ยมชม

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้