วิราภรณ์

วิราภรณ์

ผู้เยี่ยมชม

  ลูกสาวไปอยู่กับผู้ชายวัยเดียวกัน (4182 อ่าน)

2 ส.ค. 2555 08:17

เรื่องมีอยู่ว่าลูกสาว อายุ 16 กำลังจะ 17 ได้แอบไปอยู่กินกับผู้ชายอายุเท่ากัน โดยแม่ไม่รู้เพราะลูกบอกว่าไปอยู่บ้านเพื่อน แต่พ่อแม่ฝ่ายชายรับรู้ พอจับได้ทางพ่อแม่ฝ่ายชาย(ซึ่งเค้าว่าครอบครัวเค้ามีหน้าตาทางสังคม) อ้างว่าได้พยายามสืบหาว่าเด็กสาวเป็นลูกใครอยู่ที่ไหนแต่หาไม่เจอเลยปล่อยให้อยู่ด้วยกัน และดูแลอย่างดี แต่พอดิฉันรู้ความจริงคือ ลูกเค้าทำร้ายร่างกายลูกสาวเป็นประจำ แต่มาครั้งหลังสุด ทำร้ายร่างกายลูกสาวดิฉันปางตาย และยังกักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขู่ต่าง ๆ นาๆ ไม่ให้พบพ่อแม่ แม้แต่โทรศัพท์หาก็ห้าม โรงเรียนก็ไปวันเว้นวัน ก็เลยไปตามเอาลูกกลับคืนมา แล้วได้นัดคุยกันกับพ่อแม่ฝ่ายชาย ตกลงกันว่าจะชดใช้ค่าสินไหม หรือจะให้แจ้งความดำเนินคดี (ก่อนหน้าเคยไปลงบันทึกประจำวันไว้แล้วแต่ยังไม่แจ้งความ) เค้าบอกขอคิดดูก่อนแล้วจะให้คำตอบ แต่หายไปเลยไม่ติดต่อมาที่ดิฉันแต่กลับติดต่อคุยกับลุกสาวดิฉันว่าจะเอาเงินเข้าบัญชีให้เป็นรายเดือน เดือนไหนมีก้อจะให้แต่ถ้าเดือนไหนไม่มีก็ไม่ให้ ดิฉันอยากทราบว่าดิฉันจะดำเนินคดีกับฝ่ายชายอย่างไรคะ
1.ฝ่ายทำผิดอะไรบ้าง เพราะลูกสาวไปหาเค้าเองด้วย
2.จะต้องดำเนินการยังไงดี
ขอบพระคุณค่ะ
อี๊ด

วิราภรณ์

วิราภรณ์

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

2 ส.ค. 2555 13:14 #1

ตอบคำถามคุณวิราภรณ์ เรียงลำดับตามคำถามดังต่อไปนี้
                1. การกระทำของผู้ชายตามที่ให้ข้อเท็จจริงมานั้น ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                ผู้ใดซ่อนเร้นบุคคลซึ่งถูกพาไปตามวรรคแรกหรือวรรคสอง ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติในวรรคแรกหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี
                ความผิดตามวรรคแรกและวรรคสามเฉพาะกรณีที่กระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี เป็นความผิดอันยอมความได้ ”
                และมาตรา 319  ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้ “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไป เสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และ ปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท”
                ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ดังกล่าวเป็นความผิดที่ล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลครับ แม้ผู้เยาว์จะยินยอม หรือเต็มใจไปด้วย ก็เป็นความผิดตามมาตรา 319 ได้ แต่การพรากต้องกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร

                ดูตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานโดยมีเหตุผลและคำวินิจฉัย ดังนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2544 ความผิดฐานพรากเด็กและพรากผู้เยาว์นั้นเป็นการกระทำต่อบิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือผู้ดูแล และเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยได้พาหรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ออกจากความปกครองดูแลของบิดามารดา การที่บิดามารดาของผู้เสียหายได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนแล้วก็ดี และการที่ศาลอนุญาตให้ ผู้เสียหายสมรสกับจำเลยก็ดี ล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุแล้ว ไม่อาจลบล้างความผิดที่จำเลยกระทำได้ และความผิดฐานพรากเด็กและ ผู้เยาว์ไม่มีบทบัญญัติยกเว้นโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดดังเช่นบทบัญญัติในเรื่องการกระทำชำเราเด็กตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4526/2543 ความผิดฐานพรากผู้เยาว์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีต่อผู้เยาว์มิให้ผู้ใดมาพรากไปเสียจากความปกครอง ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอาศัยอยู่กับนาย บ. และนาง ก. ผู้เป็นบิดามารดาและอยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา การที่นาง ก. อนุญาตให้ผู้เสียหายไปเที่ยวกับเพื่อนนั้นเป็นการอนุญาตให้ออกไปเที่ยวเป็นชั่วคราว มิได้อนุญาตให้แยกออกไปอยู่โดยลำพังเป็นการถาวร จึงยังไม่พ้นจากความปกครองดูแลของบิดามารดา การที่ผู้เสียหายออกจากบ้านพักไปหาจำเลยที่หอพัก หลังจากนั้นจำเลยพาผู้เสียหายไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าแล้วชวนผู้เสียหายไปที่ห้องพักของจำเลยและอยู่กับจำเลยเรื่อยมา แล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยบิดามารดาของผู้เสียหายมิได้อนุญาตให้ผู้เสียหายไปอยู่กับจำเลย ถือเป็นการพรากผู้เสียหายออกมาจากบิดามารดาอันเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8077/2542 นางสาว ส. ผู้เสียหายอายุ 15 ปีเศษ เป็นบุตรและอยู่ในความปกครองของ ล. มารดา แม้ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายได้หนีออกจากบ้านเพราะทะเลาะกับ ล. ผู้เป็นมารดาก็ตาม ก็ไม่ทำให้อำนาจปกครองของ ล. ที่มีอยู่หมดไป การที่จำเลยได้กอดจูบและกระทำชำเราผู้เสียหายขณะที่จำเลยพาผู้เสียหายไปพักที่โรงแรมและที่บ้านญาติจำเลย อันเป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศต่อผู้เสียหาย เป็นการล่วงล้ำและกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของมารดาผู้เสียหาย จึงเป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเสียจากมารดาผู้เสียหายเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 473/2547 จำเลยรับ ศ. ผู้เยาว์มาจากในตัวเมืองเพชรบุรีแล้วพาไปที่ห้องพักของจำเลย จากนั้นจำเลยไดร่วมประเวณีกับ ศ. แม้ว่า ศ. ออกจากบ้านเองโดยจำเลยไม่ได้เป็นผู้ชักนำ แต่เมื่อจำเลยพบ ศ. ในบริเวณตลาดอำเภอเมืองเพชรบุรีแล้วพาไปค้างคืนที่ห้องพักของจำเลยโดย ศ. ยินยอมแต่ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง ศ. ไม่ได้ยินยอมอนุญาต ย่อมเป็นการพราก ศ. ไปจากอำนาจปกครองของผู้เสียหาย จำเลยร่วมประเวณีกับ ศ. โดยไม่ได้ประสงค์รับเป็นภริยา พฤติกรรมของจำเลยเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรในทางเพศตามครรลองครองธรรม ถือเป็นการกระทำเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก เป็นความผิดอาญาฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร

                2. บิดามารดาในฐานะเป็นผู้เสียหายมีสิทธิที่จะร้องทุกข์ดำเนินคดีด้วยเจตนาที่จะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษตามกฎหมาย ไม่ใช่การแจ้งความเป็นหลักฐานเท่านั้น แต่ก่อนที่จะร้องทุกข์ดำเนินคดีก็ควรที่จะติดต่อกับบิดามารดาของฝ่ายชายอีกครั้งหนึ่งเพื่อเจรจาตกลงกันเรื่องค่าเสียหาย เพราะคดีพรากผู้เยาว์เป็นความผิดที่ยอมความกันไม่ได้ หากแจ้งความร้องทุกข์ไปแล้ว จะไม่สามารถถอนคำร้องทุกข์ได้  ตำรวจก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ดังนั้น ต้องติดต่ออีกครั้งหนึ่งก่อน หากตกลงกันไม่ได้ หรือตกลงกันได้แต่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ก็ใช้สิทธิดำเนินคดีต่อไป

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

วิราภรณ์

วิราภรณ์

ผู้เยี่ยมชม

3 ส.ค. 2555 02:41 #2

ขอบพระคุณค่ะ

วิราภรณ์

วิราภรณ์

ผู้เยี่ยมชม

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้