วุฒิพงษ์
เรื่องลูกค้าโกงเงินค่าล็อตเตอรี่ (2063 อ่าน)
14 มิ.ย. 2555 10:49
คือผมมีปัญหาอยากสอบถามคับ
1. คือลูกค้าซื้อล็อตเตอรี่จากเราไป เป็นเงินจำนวน15000บาทแล้วไม่ยอมมาชำระเงิน เเต่เรามีพยายาน ฟ้องศาลได้ไมคับ อายุความเท่าไร
2 .เเจ้งความได้หรือ เปล่าเเบบไห้เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกมาประนอมหนี้ หรือฟ้องอาญาได้ไมคับ
3.ถ้าจะฟ้องต้องเตรียมหลักฐานอะไรบ้างคับ(มีเเต่บิลที่ค้างชำระ เเต่มีพยานว่าเขาเอาไป)
วุฒิพงษ์
ผู้เยี่ยมชม
วุฒิพงษ์
14 มิ.ย. 2555 11:23 #1
***หมายเหตุบิลที่ค้างชำระไม่มีลายมือชื่อของเขาคับ
รบกวนทนายภูวรินทร์ด้วยนะคับ
วุฒิพงษ์
ผู้เยี่ยมชม
ทนายภูวรินทร์
15 มิ.ย. 2555 02:07 #2
ตอบคำถามคุณวุฒิพงษ์
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 บัญญัติว่า “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย”
การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยคุณซึ่งเป็นผู้ขายมีหน้าที่ส่งมอบสินค้า ส่วนผู้ซื้อมีหน้าที่ชำระเงินค่าสินค้า เมื่อคุณได้ส่งมอบสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่ลูกค้าแล้ว จึงถือได้ว่าคุณได้ชำระหนี้ส่วนของตนแล้ว หากลูกค้าไม่ชำระเงินค่าสินค้าตามสัญญา ผู้ขายก็ย่อมมีอำนาจฟ้องให้ลูกค้าชำระราคาสินค้าได้ภายในกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันผิดนัดชำระหนี้
คดีนี้เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องทางแพ่งต่อศาลด้วยตนเอง เจ้าพนักงานตำรวจไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะดำเนินคดีทางแพ่งให้แก่ผู้เสียหายเช่นนี้ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากผิดนัดชำระหนี้แล้วจะมีโทษจำคุกแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่สามารถไปแจ้งความดำเนินคดีได้
การฟ้องคดีแพ่งต่อศาลหลักฐานที่ต้องใช้ เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า, หลักฐานการติดต่อซื้อขาย, หลักฐานการส่งมอบและรับมอบสินค้า, ใบแจ้งหนี้ หรือภาพถ่ายการรับสินค้า เป็นต้น ซึ่งหากคุณมีหลักฐานเหล่านี้และมีลายมือชื่อของลูกค้าแล้วย่อมเป็นการสะดวกรวดเร็วไม่ต้องโต้เถียงกันแล้วว่ามีการซื้อสินค้ากันจริงหรือไม่ หรือมีการรับสินค้าไปแล้วหรือไม่ เพราะผู้ถูกฟ้องคดีมักจะปฏิเสธหน้าตาเฉยว่าไม่เคยซื้อสินค้ากันเพราะไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แสดงความเกี่ยวข้องกันมาก่อน แต่หากไม่มีหลักฐานเหล่านั้นเลย ก็ต้องนำสืบพยานบุคคลสนับสนุนข้ออ้างครับ ดังนั้น การขายสินค้าที่ลูกค้าสามารถชำระเงินภายหลังรับมอบสินค้าไปแล้วควรจะทำหลักฐานการรับสินค้าลงลายมือชื่อลูกค้าพร้อมเก็บหลักฐานสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไว้ด้วยทุกครั้ง จะได้ไม่มีปัญหา
ดูตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3522/2545
ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 คำว่า "ได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว" ตามวรรคสองนั้นกฎหมายมุ่งบัญญัติให้ใช้บังคับแก่คู่สัญญาทั้งฝ่ายผู้ขายและผู้ซื้อดังนั้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ชำระหนี้ส่วนของตนไปแล้วก็ย่อมจะเรียกร้องเอาสิทธิที่ตนจะได้รับจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ เพราะสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน ผู้ขายย่อมมีหนี้ที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ ส่วนผู้ซื้อก็มีหนี้ที่ต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย เมื่อโจทก์ผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าของตนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ส่วนของตนแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ได้
ทนายภูวรินทร์
ผู้ดูแล