ธณัทอร

ธณัทอร

ผู้เยี่ยมชม

  พินัยกรรม (6871 อ่าน)

2 มี.ค. 2554 00:21

:)ขอสอบถามเกี่ยวกับเรื่องพินัยกรรมดังนี้ค่ะ คุณพ่อมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมเพื่อมอบที่ดินให้ลูก โดยคุณพ่อมีลูก 5 คน และจะยกที่ดินดังกล่าวให้ลูกทั้ง 5 คน โดยระบุชื่อทุกคนลงในพินัยกรรม
ประเด็นปัญหา คือ พี่สาวคนโต มีนิสัยไม่ยอมออกจากบ้านและไม่ยอมคุยกับคนอื่นๆ ค่อนข้างจะมีปัญหาทางจิตเล็กน้อย แต่พูดจารู้เรื่อง จะมีบางช่วงเวลาจะเอาแต่ใจตัวเองเป็นหลัก ซึ่งน้องๆเกรงว่า ต่อไปในอนาคตจะไม่ยอมไปทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับมรดกที่ได้รับ และทำให้พี่น้องคนอื่นๆ ไม่สามารถทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ได้รับมรดกได้ เพราะต้องไปทำพร้อมกันทั้ง 5 คน ทั้งนี้คุณพ่อไม่ต้องการเอาชื่อพี่สาวออกจากพินัยกรรม เนื่องจากเกรงว่าพี่สาวจะเสียใจและต้องการให้ที่ดินดังกล่าวกับพี่สาว โดยให้น้องทั้ง 4 คนเป็นผู้ดูแล
จึงขอสอบถามดังนี้ ในกรณีนี้ควรจะเขียนพินัยกรรมอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและให้ตรงตามความประสงต์ของคุณพ่อ นอกจากนี้คุณพ่อสามารถระบุในพินัยกรรมว่าให้ลูกๆ 3 ใน 5 คนเป็นผู้มีอำนาจในการทำธุรกรรมได้หรือไม่

ธณัทอร

ธณัทอร

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

2 มี.ค. 2554 23:39 #1

สวัสดีครับคุณธนัทอร
ตามที่ได้ปรึกษาเกี่ยวกับคดีมรดกมานั้น ผมขอแนะนำว่าให้คุณพ่อทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ลูกทั้ง 5 คนตามความประสงค์ของคุณพ่อโดยจัดสรรปันส่วนให้เท่าเทียมกันทั้งหมดจะได้ไม่มีปัญหา วิธีการทำพินัยกรรมนั้น สามารถหาอ่านได้ในเวปไซต์ผม หัวข้อปรึกษาปัญหากฎหมายทั่วไป  ข้อสำคัญผู้รับพินัยกรรมห้ามเป็นพยานในพินัยกรรมนะครับ
ส่วนปัญหาที่คุณกังวลนั้นสามารถแก้ไขได้โดยระบุไว้ในพินัยกรรมด้วยว่า ให้ลูกคนใดคนหนึ่งหรือหลายคน หรือเป็นบุคคลภายนอกที่ไว้ใจได้และยินยอม เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้ ซึ่งผู้จัดการมรดกจะเป็นตัวแทนทายาททุกคน ทำหน้าที่ในการแบ่งปันมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรม มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ตลอดจนติดต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแบ่งมรดกตามพินัยกรรม
การเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้หมายความว่าเป็นบุคคลที่มีสิทธิได้รับมรดกดีกว่าทายาทคนอื่น เพราะผู้จัดการมรดกเป็นตัวแทนดังกล่าวแล้ว และหากผู้จัดการมรดกกระทำผิดหน้าที่หรือทุจริตก็อาจถูกเพิกถอนและถูกดำเนินคดีอาญาได้

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ธณัทอร

ธณัทอร

ผู้เยี่ยมชม

14 มี.ค. 2554 22:51 #2

ขอบคุณมากค่ะที่ช่วยตอบข้อสงสัย และขอถามเพิ่มเติม ดังนี้ สมมติว่าหลังจากที่คุณพ่อเสียชีวิตแล้ว พี่น้องทั้ง 4 คน ยกเว้นพี่สาวคนโต ต้องการขายที่ดินดังกล่าวหรือให้บุคคลอื่นมาเช่าที่ดิน จะได้มีรายได้ขึ้นมา จะทำได้อย่างไรค่ะ เพราะพี่สาวคนโตซึ่งมีชื่อในโฉนดที่ดินไม่ยอมเซ็นเอกสารใดๆ:k:

ธณัทอร

ธณัทอร

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

15 มี.ค. 2554 00:17 #3

สวัสดีครับคุณธนัทอร

           เมื่อคุณพ่อเสียชีวิตแล้ว หากยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทก็ให้ผู้จัดการมรดกเป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์แทนทายาททุกคน สำหรับการเช่า เมื่อได้รับเงินค่าเช่าแล้วก็ต้องนำมาแบ่งปันให้ทายาททุกคน และหากต้องการขายก็ให้ผู้จัดการมรดกเป็นตัวแทนทายาทในการทำนิติกรรมการขายแล้วนำเงินที่ได้จากการขายมาแบ่งกันระหว่างทายาท
           หรือเมื่อตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ก็สามารถแบ่งที่ดินให้แก่ทายาทอื่นตามส่วนได้ เช่น รังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดิน

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

มิ้นท์

มิ้นท์

ผู้เยี่ยมชม

12 เม.ย 2554 11:38 #4

ขอถามเรื่อมพินัยกรรมค่ะ
คุณย่าโอนกรรมสิทธิ์ยกที่ดินให้คุณพ่อ 30 ไร่พร้อมร้านอาหารที่นึงให้ดูแล(ซึ่งแม่มิ้นท์ดูแลอยู่) แต่คุณพ่อเจ้าชู้ แอบไปมีเมียหลายคน (เมียจดทะเบียนคนแรกเสียชีวิตแล้วมีลูก 2 คน คือมิ้นท์กับพี่ชาย) และ เมียคนที่ 2 (เมียน้อยไม่จดทะเบียน) มีลูกอีก 1 คน และเมียน้อคนที่ 3 ที่เมืองจีนอีกหนึ่งคน(ไม่มีลูกและไม่ได้จดทะเบียน)

ต่อมาพ่อกับเมียคนที 2 ได้ไปทำพินัยกรรมตอนที่ลูกของเมียคนที่ 2 คลอดโดยพินัยกรรมระบุว่าพ่อจะยกที่ดินให้ลูกคนนี้ 2 ไร่ พร้อมเงินจำนวนหนึ่ง

12 ปีหลังจากนั้น คุณพ่อก็เสียชีวิต ขอถามว่า

1.พินัยกรรมที่คุณพ่อทำไว้ฉบับนั้น(ที่เมียหลวงและลูกๆไม่รู้เรื่องเลย และคุณพ่อยังไม่ได้หย่ากับคุณแม่) มีผลทางกฎหมายไหมคะ

2.ที่ดินและทรัพย์สินของคุณพ่อจะต้องแบ่งให้เมียคนที่ 2 ,ลูก และเมียคนที่ 3 (เพิ่งรู้ว่ามีเมียอีกคนตอนที่เผาศพคุณพ่อและมาร่วมงาน) แล้วร้านอาหารที่คุณแม่ทำอยู่จะตกเป็นของใครคะ ต้องแบ่งให้ไหมตามกฎหมาย แบ่งอย่างไรบ้าง

3.หากจะไม่แบ่งตามข้อ 2 ทำได้ไหม

หากเป็นไปได้ตอบทาง e-mail ได้จะขอบคุณมากค่ะ
ขอให้คุณทนายมีความสุขในวันสงกรานต์ค่ะ

มิ้นท์

มิ้นท์

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

22 เม.ย 2554 23:43 #5

                สวัสดีครับคุณมิ้นท์ ผมได้ตอบคำถามทางอีเมลล์แล้ว แต่เพื่อเป็นความรู้จึงขอแนะนำหลักกฎหมายเกี่ยวกับเรื่อง นี้ให้ประจักษ์ชัดเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจอีกทางหนึ่งครับ
              ตามกฎหมาย สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้ ผลก็คือพินัยกรรมไม่เสียไป เพียงแต่มีผลบังคับเฉพาะทรัพย์สินที่เป็นส่วนของสามีหรือภริยาที่ทำพินัยกรรมเท่านั้น 
             
               ส่วนเรื่องการรับมรดกนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่ามรดกคืออะไร มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้  
              หลักการแบ่งปันมรดก
              (1) ถ้าผู้ตายมีคู่สมรสยังมีชีวิตอยู่ ให้แบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาก่อนคือแบ่งครึ่งกันระหว่างสามีภริยาก่อน
              (2) เมื่อแบ่งสินสมรสระหว่างสามี ภรรยาแล้ว ส่วนของผู้ตาย คือ ทรัพย์มรดกที่จะต้องนำไปแบ่งปันระหว่างทายาท
               มรดกที่ทำพินัยกรรมไว้ ย่อมตกเป็นของผู้รับพินัยกรรมเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย แต่มรดกซึ่งไม่มีพินัยกรรมตามกฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า   เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกของบุคคลนั้นจะตกทอดแก่ทายาททันที ซึ่งตามกฎหมายเรียกว่า ทายาทโดยธรรม จะประกอบด้วยญาติและคู่สมรส ญาติของผู้ตาย ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสิทธิได้รับมรดก เพราะกฎหมายได้บัญญัติให้ญาติชั้นสนิทกับผู้ตายเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับมรดก โดยญาติชั้นสนิทที่สุดได้รับมรดกไปก่อนตามลำดับ ส่วนญาติชั้นสนิทรองลงมาจะมีสิทธิได้รับมรดกก็ต่อเมื่อญาติสนิทในลำดับต้นไม่มี หรือไม่มีผู้รับมรดกแทนที่แล้ว สำหรับคู่สมรสนั้นตามกฎหมายจะมีสิทธิได้รับมรดกเสมอตามส่วนมากน้อยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่ทั้งนี้คู่สมรสนั้นต้องเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือ ต้องเป็นสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันเท่านั้น
              ทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก ได้แก่
                    1. ผู้สืบสันดาน  
                    2. บิดามารดา
                    3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
                    4. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
                    5. ปู่ ย่า ตา ยาย
                    6. ลุง ป้า น้า อา
            ทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังกัน หากมีทายาทลำดับต้นแล้วทายาทลำดับถัดไปย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดก ยกเว้นบิดามารดาของเจ้ามรดกมีสิทธิรับมรดกร่วมกับทายาทชั้นผู้สืบสันดาน เช่น หากมีทายาทลำดับที่ 1 ทายาทลำดับถัดไปย่อมไม่มีสิทธิรับมรดก
 

                     
            ส่วนกรณีที่ผู้ตายมีภริยาหลายคน ภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก ส่วนบุตรที่เกิดจากภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็ยังมีสิทธิได้รับมรดกหากปรากฏว่า บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย   

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

มานิตย์

มานิตย์

ผู้เยี่ยมชม

11 มิ.ย. 2555 18:20 #6

พ่อผมกับเมียน้อยพ่อแอบไปจ้างทนายทำพินัยกรรมยกที่ดินในส่วนของชื่อพ่อให้เมียน้อยโดยที่พวกลูกๆถามแล้วแต่แกไม่ยอมรับถ้าจะยกเลิกพินัยกรรมต้องทำอย่างไรครับ
พ่อกับแม่ผมแยกกันอยู่มา30กว่าปีแล้วแต่พ่อไม่ได้หย่ากันมีชื่อในโฉนดทั้งพ่อและแม่
ช่วยผมหาทางออกหน่อยครับ
พ่อผมหลงมากครับ

มานิตย์

มานิตย์

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

12 มิ.ย. 2555 23:26 #7

ตอบคำถามคุณมานิตย์
                แม้พ่อกับแม่จะแยกกันอยู่กว่า 30 ปี การสมรสก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้น ทรัพย์สินสิ่งใดที่พ่อกับแม่หามาได้ก็ถือเป็นสินสมรสต้องแบ่งกันคนละครึ่งตามกฎหมาย ส่วนโฉนดที่ดินมีชื่อพ่อกับแม่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสินสมรส ซึ่งเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมกฎหมายกำหนดไว้ว่าสามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้ หมายความว่า ยังมีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้บุคคลอื่นได้ก็แต่เฉพาะทรัพย์สินที่เป็นของตนเท่านั้น คือไม่มีผลถึงสินสมรสส่วนของแม่ การที่พ่อคุณทำพินัยกรรมดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้เมื่อพ่อเสียชีวิต 
               การจะยกเลิกพินัยกรรมนั้น ตามกฎหมายพินัยกรรมฉบับหลังที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินรายเดียวกัน ให้ถือว่ามีผลเป็นการยกเลิกพินัยกรรมฉบับก่อนไปในตัว ดังนั้น หากให้พ่อคุณทำพินัยกรรมยกเลิกพินัยกรรมทุกฉบับที่เคยทำมาก่อน หรือทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของพ่อให้แก่ลูกๆ ก็จะมีผลเป็นการยกเลิกพินัยกรรมฉบับก่อนที่ยกที่ดินให้เมียน้อยได้ (ฉบับหลังมีผลยกเลิกฉบับก่อนทุกฉบับ)

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

t

t

ผู้เยี่ยมชม

9 ม.ค. 2564 15:15 #8

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ

t

t

ผู้เยี่ยมชม

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้