นกค่ะ

นกค่ะ

ผู้เยี่ยมชม

  โอนมรดก (2833 อ่าน)

9 ม.ค. 2554 15:09

เมื่อบิดาเสียชีวิต แม่มีสามีใหม่โดยลูกมิยินยอม หลังจากบิดาเสียชีวิต 1 ปี พ่อมีรถยนต์ซึ่งเป็นชื่อพ่อ 1 คัน แม่ได้มีสามีใหม่โดยลูกมิได้ยินยอม แม่นำไปทำการโอนเป็นชื่อแม่ หลังจากนั้นลูกได้ยึดรถพร้อมสมุดทะเบียนรถไป และตรวจสอบได้ว่าแม่ได้โอนรถจากชื่อพ่อเป็นชื่อแม่เอง หลังจากนั้นแม่สั่งให้ลูกเอารถไปคืนเพราะสามีใหม่ของแม่ไม่มีรถยนต์ใช้ แต่ลูกไม่ยินยอม คำถามมีอยู่ว่า
1. รถคันนี้เป็นสินสมรสของพ่อและแม่เมื่อพ่อเสียชีวิตถือว่าเป็นมรดกหรือไม่
2. เมื่อลูกไม่ต้องการให้สามีใหม่แม่ใช้รถจึงนำรถไปเก็บไว้แม่สามารถแจ้งความจับลูกได้หรือไม่ข้อหาใดบ้าง
3. ฟ้องกลับแม่ในเรื่องโอนรถโดยมิชอบได้หรือไม่เพราะลูกซึ่งเป็นทายาท มิได้เซ็นเอกสารใด ๆ ในการโอนรถเลย(แล้วขนส่งโอนให้ได้อย่างไร)
4. แม่มีสมุดบัญชีและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งเป็นมรดก แต่เมื่อมีการทะเลาะกันระหว่างแม่ลูก ลูกได้เก็บสมุดบัญชีและเอกสารเหล่านั้นไว้เพื่อมิให้แม่นำไปใช้จ่ายซึ่งอาจตกแก่สามีใหม่ของแม่ได้ โดยระหว่างนำเอกสารสมุดบัญชีเหล่านั้นไปแม่มีส่วนรู้เห็น แต่เมื่อแม่มีความต้องการใช้เงินในบัญชีจึงไปแจ้งความว่าเอกสารต่าง ๆ หายไป เราแจ้งความแม่ในข้อหาแจ้งความเท็จได้หรือไม่
5. ขณะนี้ยื่นเรื่องให้น้องเป็นผู้จัดการมรดก ต่อศาล สิ่งที่โอนไปแล้วฟ้องคืนได้หรือไม่
---- เมื่อมีมือที่สามเข้ามาทำให้ความผูกพันจางหายไป ----
ขอบคุณค่ะ

นกค่ะ

นกค่ะ

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

13 ม.ค. 2554 22:03 #1

การที่ฝ่ายชายเสียชีวิตแล้ว หากฝ่ายหญิงต้องการสมรสใหม่ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากบุตรแต่อย่างใด ดังนั้น แม่คุณจึงมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำการสมรสใหม่ หรือมีสามีใหม่ได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบรรดาลูก
 
ส่วนคำถามข้ออื่น ๆ ขอตอบเรียงลำดับดังนี้

รถคันนี้เป็นสินสมรสของพ่อและแม่เมื่อพ่อเสียชีวิตถือว่าเป็นมรดกหรือไม่

 ตอบ รถยนต์หรือทรัพย์สินใดเมื่อได้มาระหว่างสมรส ไม่ว่าสมุดคู่มือจดทะเบียนจะมีชื่อฝ่ายใดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ตาม หรือไม่ว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้หามาได้ก็ตาม ก็ถือเป็นสินสมรส สามีภริยามีสิทธิในทรัพย์สินนั้นคนละส่วนเท่ากัน เมื่อบิดาเสียชีวิตแล้ว รถยนต์ต้องแบ่งระหว่างบิดาและมารดาคนละส่วนเท่ากัน ส่วนของบิดาจึงจะตกเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทคือลูกและแม่อีกคนละส่วนเท่ากัน ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น ตีราคารถยนต์เป็นเงินจำนวน 4 แสนบาท แบ่งสินสมรสก่อน ได้แก่ ส่วนของพ่อ 2 แสนบาท ส่วนของแม่ 2 แสนบาท (ส่วนนี้ไม่ตกเป็นมรดก) ส่วนที่ตกได้แก่พ่อ 2 แสนบาทเท่านั้น จึงตกเป็นมรดกตกทอดแก่ลูก และแม่ในฐานะคู่สมรสอีกคนละส่วนเท่ากัน หากมีลูก 3 คน ก็จะแบ่งได้คือ ลูก 3 คน ๆ ละ 5 หมื่นบาท ส่วนแม่ได้รับส่วนนี้อีก 5 หมื่นบาท ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารถยนต์เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างทายาททั้งหมด แต่แม่จะมีสิทธิในรถยนต์มากกว่าลูกทุกคน
 

เมื่อลูกไม่ต้องการให้สามีใหม่แม่ใช้รถจึงนำรถไปเก็บไว้แม่สามารถแจ้งความจับลูกได้หรือไม่ข้อหาใดบ้าง

 ตอบ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่กล่าวมาถือว่าไม่มีเจตนาทุจริต แม่ไม่สามารถแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับลูกได้ แต่หากปรากฏว่าได้มีการเอารถยนต์ไปขายหรือจำหน่ายด้วยประการใดก็ดีโดยเจตนาทุจริต คือเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แม่ก็มีสิทธิแจ้งความดำเนินคดีได้
 

ฟ้องกลับแม่ในเรื่องโอนรถโดยมิชอบได้หรือไม่เพราะลูกซึ่งเป็นทายาท มิได้เซ็นเอกสารใด ๆ ในการโอนรถเลย(แล้วขนส่งโอนให้ได้อย่างไร)

 ตอบ   กฎหมายได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า  “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้”  ถือเป็นคดีอุทลุม ดังนั้น คุณจึงไม่สามารถฟ้องแม่คุณได้ นอกจากจะขัดกับกฎหมายแล้ว ยังขัดกับศีลธรรมอันดีของประชาชน ขัดกับจารีตประเพณีอันดีงามที่ลูกจะต้องตอบแทนคุณบิดามารดา ไม่ว่าบิดามารดาจะดีหรือชั่วอย่างไร ท่านก็คือผู้ให้กำเนิด บุตรธิดาได้รู้คุณท่านแล้วควรตอบแทนพระคุณขณะที่ยังมีชีวิต ซึ่งกฎหมายยังได้บัญญัติไว้อีกว่า “บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา” เพราะความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี เรื่องของคุณและแม่ถือเป็นเรื่องที่เล็กน้อยมาก หากเทียบกับพระคุณที่มีต่อคุณ กฎหมายจึงต้องบัญญัติห้ามไว้ 
 

แม่มีสมุดบัญชีและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งเป็นมรดก แต่เมื่อมีการทะเลาะกันระหว่างแม่ลูก ลูกได้เก็บสมุดบัญชีและเอกสารเหล่านั้นไว้เพื่อมิให้แม่นำไปใช้จ่ายซึ่งอาจตกแก่สามีใหม่ของแม่ได้ โดยระหว่างนำเอกสารสมุดบัญชีเหล่านั้นไปแม่มีส่วนรู้เห็น แต่เมื่อแม่มีความต้องการใช้เงินในบัญชีจึงไปแจ้งความว่าเอกสารต่าง ๆ หายไป เราแจ้งความแม่ในข้อหาแจ้งความเท็จได้หรือไม่

ตอบ   ตามหลักกฎหมายสามารถทำได้ แต่ตามหลักธรรมทำไม่ได้โดยประการทั้งปวง

ขณะนี้ยื่นเรื่องให้น้องเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาล สิ่งที่โอนไปแล้วฟ้องคืนได้หรือไม่

ตอบ   ฟ้องแม่ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อให้ส่งมอบทรัพย์สินที่โอนไปแล้วได้ ไม่ใช่คดีอุทลุม เพราะมิได้ฟ้องในฐานะส่วนตัว

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้