ถูกรังแก

ถูกรังแก

ผู้เยี่ยมชม

  รบกวนขอคำปรึกษา กำลังจะถูกเลิกจ้าง และบริษัทฯ พยายามหาทางที่จะไม่จ่ายค่าชดเชย (28135 อ่าน)

30 ธ.ค. 2553 09:24

กำลังจะถูกบริษัทเลิกจ้าง ปีหน้าค่ะ อีกประมาณ 3 เดือน

เคสของเรา เราทำงานในบริษัทต่างชาติ ในประเทศไทย และมีเจ้านาย 2 คน
คนแรกเป็นคนไทย ประจำที่ประเทศไทย
คนที่สอง เป็นคนต่างชาติ ประจำอยู่ Regional office ในต่างประเทศ ซึ่งตามสายงานแล้ว เราจะต้องรายงานโดยตรงกับท่านนี้
เจ้านายคนไทย ไม่ชอบเราแต่ไหนแต่ไรมา พยายามที่จะให้ออก แต่เจ้านายต่างชาติไม่เห็นด้วย และปกป้องเรามาตลอด

เหตุมาเกิดเมื่อ ปีนี้บริษัทแม่มีการปรับโครงสร้าง และพนักงานระดับสูงในหลายๆ ประเทศ ถูก Early retire
ซึ่งเจ้านายต่างชาติเรา ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
ดังนั้นก็เลยสบโอกาส เจ้านายคนไทย เค้าปรับขึ้นเงินเดือนให้เราอย่างเสียไม่ได้ เพื่อบีบให้เราลาออก
และล่าสุดเชิญเจ้านายใหญ่ที่ Regional office ให้มาคุยกับเรา ซึ่งทีแรกเค้าจะกำหนดเป้าหมายการทำงานให้เราใหม่
และจะทำการประเมินผลใน 3 หรือ 6 เดือนข้างหน้า ถ้าไม่ผ่านการประเมินก็จะให้ออก
เราก็เลยบอกกับเค้าว่า ถ้าจะให้ออกทันทีก็ได้ แต่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฏหมายให้เรา
หลังจากคุยกัน ทางเจ้านายใหญ่บอกว่าตำแหน่งเรามีความสำคัญ และขอเวลาเราประมาณ 4-5 เดือน
เพื่อให้ทำการโอนงานให้ลูกน้อง ก็ตกลงกันด้วยวาจาตามนั้น

มาช่วงนี้ ทางเจ้านายคนไทย และฝ่ายบุคคล พยายามไปฟ้องเจ้านายใหญ่ว่า เราไม่ค่อยสนใจทำงาน
จากที่เคยกลับบ้านดึก ก็เปลี่ยนเป็นกลับบ้านเร็ว มาสาย ลาพักร้อนบ่อย(จากที่ไม่เคยลา) และทิ้งให้ลูกน้องทำงาน
ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เราไปทำงานสายแค่ 1 วัน ยังทำงานในส่วนของเราตามปกติ และสอนงานลูกน้องไปด้วยค่ะ
ตอนนี้เจ้านายใหญ่เค้าส่งอีเมลล์แจ้งว่า จะตั้ง KPI ในการส่งมอบงาน และจะจ่ายค่าชดเชย โดยอิงจากนั้น

ปัจจุบันยังไม่ได้รับจดหมายคอนเฟิร์มจากบริษัทเลยค่ะ กำลังคิดว่าจะอีเมลล์ไปขอจากเจ้านายใหญ่


ถ้านับระยะเวลาถึงปีหน้า เราจะทำงานครบ 7 ปีค่ะ
อยากทราบว่า ตามกฏหมายแล้ว เค้าสามารถนำเรื่องนี้ มาเป็นเหตุ ไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายน้อยกว่ากฏหมายได้หรือไม่คะ

ถูกรังแก

ถูกรังแก

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

6 ม.ค. 2554 21:47 #1

          ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ได้บัญญัติให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างบอกเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้
          1. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
          2. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
          3. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
          4. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
          5. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
            ดังนั้น กรณีของคุณจึงมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
            สำหรับเหตุยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 มีดังนี้       
             (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญา โดยเจตนาแก่นายจ้าง
          (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
          (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
          (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงไม่จำเป็นต้องตักเตือน โดยหนังสือเตือนนั้นมีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้ทำผิด หากหนังสือเตือนเกินหนึ่งปีแล้ว นายจ้างก็ไม่มีสิทธิยกเหตุดังกล่าวมาเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้
          (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
          (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 พันบาท)                    
          นอกจากนี้แล้ว ก็จะมีข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยที่สำคัญมากก็คือ หากลูกจ้างสมัครใจลาออกจากงานเอง ลูกจ้างก็จะไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยแต่อย่างใด
          ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้นายจ้างบางรายพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อไม่ต้องการจ่ายค่าชดเชย โดยใช้วิธีการจ้างลูกจ้างเป็นช่วง ๆ หรือทำสัญญาปีต่อปี หรือทำสัญญายกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบตามสิทธิที่ควรจะได้รับตามกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งสัญญาจ้างหรือเอกสารสิ่งใดก็ตามที่ทำขึ้นโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่จ่ายเงินค่าชดเชย ถือว่าเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย และขัดต่อกฎหมายไม่สามารถบังคับได้ นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยอยู่ดี
          สรุปกรณีของคุณ หากมีการเลิกจ้าง นายจ้างไม่มีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายน้อยกว่าที่กฏหมายบัญญัติไว้ ยกเว้นคุณสมัครใจลาออกเองครับ

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้