รบกวนด้วยครับ

รบกวนด้วยครับ

ผู้เยี่ยมชม

  เซ็นต์ค้ำประกันเงินกู้แล้วต้องจ่ายเงินแทนผู้กู้ไหมครับ (903 อ่าน)

28 พ.ย. 2553 21:33

รบกวนอาจารย์ภูวรินทร์ครับ เมื่อประมาณ 6 ปี เพื่อนสนิทของผมได้เซ็นต์ค้ำประกันเงินกู้ให้แฟน เพื่อกู้เงินยอดเงินกู้ประมาณ 600,000 ในสัญญาจำไม่ได้ว่าระบุไว้เท่าไร โดยผู้กู้(แฟนของเพื่อนผม)จะถูกยึดบัตรและสมุดเงินฝาก ส่งเงินกู้ประมาณ 2 ปี ดอกเบี้ยอีกค่อนข้างสูงเหมือนกัน ช่วงปีแรก แฟนเพื่อนผมก็อยู่กับแฟน(ไม่ได้จดทะเบียนกัน) ต่อมา 4 ปีให้หลัง เพื่อนสนิทผมกับแฟนก็เลิกคบกัน ต่อมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553 มีทนายส่งจดหมายมาที่เพื่อนสนิทผม โดยในเอกสาร บอกว่าเพื่อนสนิทของผมเป็นผู้ค้ำประกัน และตกเป็นจำเลยที่ 3 ใน ฐานะผู้คำประกันเป็นเงิน เรียนถามอาจารย์ว่า เพื่อนสนิทผมจะต้องทำอย่างไรบ้างครับ แล้วต้องจ่ายหนี้แทนแฟนเก่าเค้าไหมครับ ขอบคุณมากครับ

รบกวนด้วยครับ

รบกวนด้วยครับ

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

30 พ.ย. 2553 14:02 #1

สำนวนไทยเตือนใจไว้ว่า“อยากเป็นเจ้าให้เป็นนายหน้า อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นคนค้ำประกัน” และ “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ” ซึ่งเป็นสำนวนที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงในสังคมไทยมาช้านานไม่ว่าอดีต ปัจจุบัน และอนาคตครับ สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนวนไทยข้างต้นก็คือ การค้ำประกัน ตามกฎหมายการค้ำประกันนั้น “คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอก คนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใด อย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้ บังคับคดีหาได้ไม่”
การค้ำประกัน เป็นความรับผิดตามสัญญาที่ผู้ค้ำประกันไม่ได้ก่อหนี้ขึ้น แต่ไปตกลงผูกพันตนกับเจ้าหนี้ว่าจะยอมรับผิดแทนลูกหนี้หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ซึ่งหลักกฎหมายให้สิทธิผู้ค้ำประกันบอกปัดให้เจ้าหนี้ไปเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้ก่อน แต่ส่วนมากแล้ว เจ้าหนี้จะมีข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม คือ ไม่ต้องทวงหนี้จากลูกหนี้ก่อนโดยตรง แต่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้เลยทันทีครับ จะเห็นได้ว่า การค้ำประกันไม่มีประโยชน์อะไรแก่ผู้ค้ำประกันเลย มีแต่จะเสีย กับเสีย และเสียเท่านั้น เป็นความเสี่ยงภัยของผู้ทำสัญญาค้ำประกันเอง ซึ่งความรับผิดนี้เป็นเรื่องหลักเสรีภาพในการแสดงเจตนา ที่ผู้ทำสัญญาค้ำประกันจะตกลงทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่เมื่อทำสัญญาค้ำประกันไปแล้วก็ต้องยอมรับความเสี่ยงนั้นเสมอครับ และหากผู้ค้ำประกันเป็นบุคคลที่มีทรัพย์สิน หรือเรียกว่ามีฐานะดีกว่า เจ้าหนี้ก็ต้องบังคับคดีเอาจากผู้ค้ำประกันเป็นคนแรก
แต่กฎหมายก็บัญญัติให้ความเป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันไว้ด้วย กล่าวคือ เมื่อผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้นได้ครับ คือต้องไปฟ้องเรียกร้องเอาจากลูกหนี้นั่นเอง หากลูกหนี้มีทรัพย์สิน หรือมีที่ทำงานเป็นหลักแหล่งแน่นอน ก็ยังพออุ่นใจว่าจะได้รับเงินกลับคืนมาบ้าง แต่หากลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สิน หรือหลบหน้าหนีหายไปจากชีวิตคุณผู้ค้ำประกันแล้ว ก็คงจะได้ค้ำพิพากษามานอนกอดเล่นให้เจ็บปวด ซ้ำใจ และเสียใจทุกวันว่า ไม่น่าไปเซ็นค้ำประกันให้มันเลย!
ดังนั้น เพื่อนคุณก็ต้องอยู่ในภาวะต้องถูกยึดทรัพย์บังคับคดีและหากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตรวจสอบพบว่ามีทรัพย์สิน ก็ต้องถูกดำเนินการยึดครับ ยึดทั้งบ้านทั้งรถยึดไปหมดทุกสิ่งให้ครบตามจำนวนหนี้และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ และเมื่อจำนวนหนี้เกินหนึ่งล้านบาทแล้วก็อาจจะถูกฟ้องให้ล้มละลายได้อีกเลยทีเดียว

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้