ทนายภูวรินทร์
เครดิตบูโรคืออะไร ? ตรวจสอบเครดิตบูโรทำอย่างไร? (3006 อ่าน)
3 พ.ย. 2553 23:15
เครดิตบูโรคืออะไร ?
คำว่าเครดิตบูโร " Credit Bureau " หลายๆคนคงเคยได้ยินกันนะครับ หากใครก็ตามที่ได้ยินคำนี้มักจะเข้าใจผิดในความหมายและตีความในแง่ที่ตนเองเข้าใจอยู่เสมอๆ เป็นคำที่มีความหมายนัยยะต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่ลูกหนี้และเจ้าหนี้
ฝ่ายเจ้าหนี้เลยถือโอกาสจากความไม่รู้เรื่องเครดิตบูโรของลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้สินเลยใช้เครดิตบูโรเป็นเครื่องมือในการขู่ให้ลูกหนี้เกิดความกังวล ลูกหนี้ควรทำความเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับเครดิตบูโร (Deal with Credit Bureau)เพื่อจะได้รู้ทันเจ้าหนี้อย่าปล่อยให้เจ้าหนี้ฉวยโอกาสใช้เครดิตบูโรมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับลูกหนี้
เครดิตบูโร(Credit Bureau) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “บริษัท ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ” (National Credit Bureau) เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540-2541 เป็นช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติทางการเงินที่เรียกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เครดิตบูโรตั้งขึ้นเพื่อให้ข้อมูลแก่สถาบันการเงินเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางให้การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆเป็นไปอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้สินเชื่อที่ปล่อยไปกลายเป็นหนี้เสีย
Credit Bureau นั้นมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลประวัติการชำระสินเชื่อ และการชำระบัตรเครดิตของบุคคลจากสถาบันการเงินหลายๆ แห่ง เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือผู้ให้บริการสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต เมื่อลูกค้าให้ความยินยอมให้สถาบันการเงินตรวจสอบข้อมูลการชำระสินเชื่อ และการชำระบัตรเครดิตของตนในขณะที่ยื่นขอสินเชื่อแล้วนั้น สถาบันการเงินก็สามารถจะเรียกดูข้อมูลดังกล่าวจาก Credit Bureau เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้
รายงานข้อมูลเครดิตเก็บข้อมูลใดไว้บ้าง ?
เครดิตบูโรจะเก็บรวบรวมเฉพาะข้อมูลของการชำระสินเชื่อหรือบัตรเครดิต ซึ่งข้อมูลนี้จะประกอบไปด้วย ข้อมูลส่วนที่บ่งชี้ตัวบุคคล เช่น ชื่อ ทีอยู่ เลขประจำตัวประชาชน และอีกส่วนหนึ่งเป็นประวัติการชำระสินเชื่อ และการชำระบัตรเครดิต รวมเรียกว่า "รายงานข้อมูลเครดิต" รายงานข้อมูลเครดิตจะมีการบันทึกและจัดเก็บวงเงินยอดหนี้คงค้าง รวมถึงประวัติการผิดนัดชำระในแต่ละสิ้นเดือนย้อนหลังไม่เกิน 36 เดือน ด้วยเหตุนี้แล้ว การชำระสินเชื่อทุกครั้งให้ตรงเวลาจึงเป็นการรักษาเครดิตที่ดีที่สุดครับ
ประโยชน์จากการจัดเก็บข้อมูล
การให้สินเชื่อของสถาบันการเงินนั้นมีหลักสำคัญอยู่ที่ว่า ต้องรู้จักลูกค้าให้ดีพอ ในกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อไม่เคยมีประวัติสินเชื่อกับสถาบันการเงิน โอกาสที่จะได้รับสินเชื่อย่อมมีน้อยลง แต่ด้วยการเปิดเผยข้อมูลเครดิตจะทำให้สถาบันการเงินสามารถรู้จักวินัยทางการเงินของผู้ขอสินเชื่อได้จากรายงานข้อมูลดังกล่าว เป็นอย่างดี ดังนั้นหากผู้ขอสินเชื่อมีประวัิติการชำระที่ดี การเปิดเผยข้อมูลเครดิตก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติสินเชื่อด้วยครับ อย่างไรก็ดีการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินยังมีองค์ประกอบอื่นที่นำมาพิจารณาร่วมด้วย เช่น รายได้ และหลักประกัน ของผู้กู้
ใครมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาดูรายงานข้อมูลเครดิต ?
นอกจากสถาบันการเงินที่ผู้ขอสินเชื่อได้ให้ความยินยอม จะสามารถเรียกดูรายงานข้อมูลเครดิตเพื่อการวิเคราะห์สินเชื่อได้แล้ว ผู้ขอสินเชื่อเองก็ยังมีสิทธิ์ที่จะมาขอดูรายงานข้อมูลเครดิตของตนได้ด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการยื่นคำขอได้ที่ส่วนบริหารข้อมูลผู้บริโภค บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ และบริษัทยังได้อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น โดยให้ยื่นคำขอผ่านธนาคารนครหลวงไทยทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งก็มีค่าธรรมเนียม 200 บาท(ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 50 ค่าธรรมเนียมลดเหลือ 100 บาท) ทั้งนี้บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติมีหน้าที่เก็บรักษารายงานดังกล่าวเป็นความลับ และไม่สามารถเปิดเผยให้แก่ผู้อื่นใด เว้นแต่ที่กฎหมายกำหนดไว้
การรักษาความลับ
นอกจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจะมีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลเครดิตเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณาสินเชื่อแล้วนั้น บริษัทยังมีหน้าที่ในการรักษาความลับของข้อมูลด้วย โดยบริษัทจะเปิดเผยรายงานข้อมูลเครดิตให้แก่สถาบันการเงินที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์สินเชื่อเท่านั้น นอกจากนี้แล้วบริษัทยังมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างแน่นหนา เพื่อไม่ให้ข้อมูลถูกทำลาย หรือถูกแก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย
การติดแบล็กลิส (Black List)
ท่านคงจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า ไม่ได้รับสินเชื่อเพราะติดแบล็กลิสจากเครดิตบูโรใช่ไหมครับ จริงๆ แล้ว เครดิตบูโรไม่มีสิทธิ์ในการจัดแบล็กลิสผู้ขอสินเชื่อครับ เพราะเครดิตบูโรจะทำหน้าที่รวบรวมประวัติการชำระสินเชื่อหรือบัตรเครดิตของสินเชื่อทุกบัญชีจากสถาบันการเงินตามข้อเท็จจริง ซึ่งสถาบันการเงินใช้ข้อมูลเครดิตเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณาสินเชื่อครับ เพราะการตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ให้สินเชื่อนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น รายได้ของผู้สมัครสินเชื่อ หลักประกัน บุคคลผู้ค้ำประกัน เป็นต้น
*ในทางกลับกัน หากผู้ขอสินเชื่อมีประวัติการชำระสินเชื่อตรงเวลา ข้อมูลเครดิตก็จะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
รายงานข้อมูลเครดิต=รายงานผลการศึกษา
ท่านอาจเคยสงสัยว่า เหตุใดเมื่อผู้ขอสินเชื่อได้ชำระสินเชื่อที่เคยผิดนัดชำระไปเรียบร้อยแล้ว ประวัติการผิดนัดชำระยังปรากฏอยู่ในรายงานข้อมูลเครดิตอีก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าข้อมูลเครดิตถูกเก็บเป็นประวัติคล้ายกับรายงานผลการศึกษาครับ... โดยการชำระหนี้ก็เหมือนผลการเรียน ที่จะได้ดีหรือไม่ อย่างไร ก็จะบันทึกตามข้อเท็จจริง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นหากต้องการแก้ไขให้มีประวัติชำระที่ดีขึ้น ก็ต้องชำระหน้าที่ค้างไว้ให้เสร็จสิ้น เพราะจะเป็นเหมือนการสอบซ่อมเพื่อให้มีผลการเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมีวินัยและความตั้งใจที่ดีนั่นเองครับ .. แต่ทางที่ดีที่สุด ก็คือการไปชำระหนี้ให้ครบถ้วนและตรงเวลาทุกครั้งนะครับ
*******************************************************************************
ที่มา : บริษัทข้อมูล เครดิต แห่งชาติ
ทนายภูวรินทร์
ผู้ดูแล
ทนายภูวรินทร์
4 พ.ย. 2553 01:15 #1
การตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร
มีหลายๆท่านถามผมว่า จะตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรตนเองได้อย่างไร ง่ายๆครับ มีวิธีดังนี้
1.การขอข้อมูลตนเอง ณ ที่ทำการบริษัทNCB (ส่วนบริหารข้อมูลผู้บริโภคและข้อโต้แย้ง)
ชั้น 2 อาคาร 2 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (สำนักงานใหญ่)
เลขที่ 63 ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320
โทรศัพท์ : (66) 02-643-1250
โทรสาร: (66) 02-612-5895
ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 มาตรา 25 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าของข้อมูลให้เจ้าของข้อมูล มีสิทธิที่จะตรวจสอบข้อมูลของตน โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด มีความยินดีที่ให้ท่านตรวจสอบข้อมูล ดังนี้
ณ ที่ทำการบริษัทฯ (ส่วนบริหารข้อมูลผู้บริโภคและข้อโต้แย้ง) มีขั้นตอนดังนี้
(1) เจ้าของข้อมูลกรอก แบบคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิต (บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล) และยื่นแบบฟอร์มพร้อมแนบหลักฐานประกอบคำขอ ณ ที่ทำการของบริษัทฯ หลักฐานประกอบคำขอมีดังนี้
กรณีบุคคลธรรมดา
• บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง หรือบัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าวตัวจริง หรือหนังสือเดินทางฉบับตัวจริงมาแสดงในกรณีที่มีการมอบอำนาจ ให้นำ
• หนังสือมอบอำนาจบุคคลธรรมดา
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาแสดง
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาแสดง
กรณีนิติบุคคล
• สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม่เกิน 3 เดือน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องโดยกรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมประทับตราบริษัท (ถ้ามี)
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
ในกรณีที่มีการมอบอำนาจ ให้นำ
• หนังสือมอบอำนาจนิติบุคคล
• สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม่เกิน 3 เดือน พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้องโดย กรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมประทับตราสำคัญบริษัท (ถ้ามี)
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามและลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมทั้งนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาแสดง
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมทั้งนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาแสดง
(2) ยื่นเอกสารในข้อ 1 และชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบข้อมูลเครดิตต่อเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ
(3) เจ้าของข้อมูลสามารถขอรับรายงานภายในวันยื่นคำขอ หรือยื่นความจำนงให้จัดส่งรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (กรณีให้จัดส่งทางไปรษณีย์ ฉบับละ 20 บาท)
ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม แบบคำขอ-บุคคลธรรมดาได้ที่ http://www.ncb.co.th/PDF/selfenquiry.pdf
2.ขอข้อมูลตนเอง โดยยื่นขอตรวจสอบที่สาขาธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารไอซีบีซีที ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ (เฉพาะบุคคลธรรมดา)
โดยมีขั้นตอน ดังนี้ครับ
การให้บริการยื่นคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตผ่านสาขาธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารไอซีบีซีทีี ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ทุกสาขาทั่วประเทศนั้น
มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะที่อยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถที่จะตรวจสอบความถูกต้องของประวัติธุรกรรมสินเชื่อของตนเองได้ ทั้งนี้ธนาคารจะทำหน้าที่เป็นเพียงตัวแทนของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ในการรับคำขอตรวจสอบและรับชำระค่าตรวจสอบ ซึ่งจะ ให้บริการเฉพาะเจ้าของข้อมูลที่เป็นบุคคลและต้องมายื่นขอตรวจสอบด้วยตนเองเท่านั้น โดยบริษัทจะเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลและจัดส่งรายงานข้อมูลเครดิตทางไปรษณีย์ลงทะเบียนให้แก่ท่าน ภายใน 1 สัปดาห์นับจากวันที่ท่านได้ยื่นคำขอที่ธนาคาร
ขั้นตอนการขอยื่นคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตที่ทำการของธนาคาร
(1) เจ้าของข้อมูลบุคคลธรรมดา กรอกแบบคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตที่ธนาคาร หรือขอแบบฟอร์มจากเจ้าหน้าที่ธนาคารสาขาที่ท่านติดต่อ และลงลายมือชื่อให้ครบถ้วน พร้อมแนบหลักฐาน ดังต่อไปนี้
กรณีบุคคลสัญชาติไทย
• บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรอื่นที่หน่วยงานราชการออกให้ที่แสดงเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง)
กรณีบุคคลต่างด้าว
• หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (ตัวจริง)
(2) ยื่นเอกสารในข้อ 1 และชำระค่าธรรมเนียมการตรวจสอบข้อมูลเครดิตต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร
(3) ธนาคารจะออกหลักฐานการรับชำระเงินค่าธรรมเนียมและค่าจัดส่งเอกสาร ให้แก่ท่านเก็บไว้เป็นหลักฐาน
(4) บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จะจัดส่งรายงานข้อมูลเครดิตให้แก่ท่านภายใน 1 สัปดาห์นับจากวันที่ยื่นคำขอที่ธนาคาร
หมายเหตุ ในแบบฟอร์มการขอตรวจสอบ กรุณาระบุที่อยู่ของท่านที่จะให้บริษัทจัดส่งรายงานให้ครบถ้วนและชัดเจน รวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ของท่านในกรณีที่บริษัทต้องการสอบถามเพิ่มเติม
_________________________________________________________
ระเบียบการยื่นขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตสำหรับบุคคลเจ้าของข้อมูล
กรณีถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อ
การขอตรวจสอบกรณีถูกปฏิเสธสินเชื่อ
ในกรณีที่ถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน และมีหนังสือแจ้งการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่มีข้อความว่าเป็นผลจากการตรวจสอบข้อมูลเครดิตจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด บริษัทฯ จะเปิดให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลสามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ทางที่ทำการบริษัทฯ หรือ ทางไปรษณีย์
โดยเจ้าของข้อมูลต้องมีหนังสือปฏิเสธจากสถาบันการเงิน ที่ระบุสาเหตุการปฏิเสธการให้สินเชื่อ เนื่องจากเป็นผลจากการตรวจสอบข้อมูลเครดิตจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติและนำมายื่นขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตพร้อมหลักฐานอื่นๆ ทั้งนี้บริษัทฯ จะไม่คิดค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบข้อมูลเครดิต หากยื่นคำขอภายใน 30 วัน นับจากวันที่ในหนังสือแจ้งปฏิเสธดังกล่าว
การขอตรวจสอบกรณีถูกปฏิเสธสินเชื่อ ณ ที่ทำการบริษัทฯ
สามารถยื่นแบบคำขอ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทนได้ โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1. ยื่นแบบคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิต ( ประเภทบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล) พร้อมหลักฐานประกอบดังนี้
กรณีบุคคลธรรมดา
• บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง หรือบัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าวตัวจริง หรือหนังสือเดินทางฉบับตัวจริงมาแสดง
ในกรณีที่มีการมอบอำนาจ ให้นำ
• หนังสือมอบอำนาจบุคคลธรรมดา
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาแสดง
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาแสดง
กรณีนิติบุคคล
• สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม่เกิน 3 เดือน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องโดยกรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมประทับตราบริษัท (ถ้ามี)
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
ในกรณีที่มีการมอบอำนาจ ให้นำ
• หนังสือมอบอำนาจนิติบุคคล
• สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม่เกิน 3 เดือน พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้องโดย กรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมประทับตราสำคัญบริษัท (ถ้ามี)
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามและลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมทั้งนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาแสดง
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมทั้งนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาแสดง
2. ยื่นเอกสารในข้อ 1 พร้อมหนังสือปฏิเสธจากสถาบันการเงินที่ระบุสาเหตุการปฏิเสธการให้สินเชื่อ เนื่องจากเป็นผลจากการตรวจสอบข้อมูลเครดิตจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ และชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบข้อมูลเครดิตต่อเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ (กรณียื่นคำขอเกินกว่า 30 วันจากนับจากวันที่ในหนังสือแจ้งปฏิเสธ)
3. เจ้าของข้อมูลสามารถขอรับรายงานภายในวันยื่นคำขอ หรือยื่นความจำนงให้จัดส่งรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (กรณีให้จัดส่งทางไปรษณีย์ ฉบับละ 20 บาท)
การขอตรวจสอบกรณีถูกปฏิเสธสินเชื่อผ่านทางไปรษณีย์
1. เจ้าของข้อมูลกรอกแบบคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิต ( ประเภทบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ) โดยแนบหลักฐาน ดังนี้
กรณีบุคคลธรรมดา
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่หน่วยงานราชการออกให้ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง กรณีเป็นชาวต่างชาติให้ใช้สำเนาบัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
กรณีนิติบุคคล
• สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม่เกิน 3 เดือน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องโดยกรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมประทับตราบริษัท (ถ้ามี)
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
2. หนังสือปฏิเสธจากสถาบันการเงิน ที่ระบุสาเหตุการปฏิเสธการให้สินเชื่อ เนื่องจากเป็นผลจากการตรวจสอบข้อมูลเครดิตจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ โดยหากมีอายุไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่ในหนังสือแจ้งปฏิเสธดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นไม่เสียค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบข้อมูลเครดิต
3. จัดส่งเอกสารหลักฐานตามข้อ 1 และ 2 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน จ่าหน้าถึง
จ่าหน้าถึง
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ส่วนบริหารข้อมูลผู้บริโภคและข้อโต้แย้ง
เลขที่ 63 ธนาคารอาคารสงเคราะห์
(สำนักงานใหญ)่ ชั้น 2 อาคาร 2
ถนนพระราม 9 ห้วยขวาง
กรุงเทพมหานคร 10320
4. บริษัทฯ จัดส่งรายงานข้อมูลเครดิตให้ตามที่อยู่ในบัตรประจำตัวประชาชน หรือตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งปฏิเสธการให้สินเชื่อ หรือที่อยู่ที่ทางบริษัทฯ จะสามารถตรวจสอบได้
หมายเหตุ
- โปรดระบุชื่อผู้ติดต่อ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ลงในแบบคำขอ เพื่อใช้ในกรณีที่บริษัทฯ ต้องการสอบถามเพิ่มเติม
- กรณีที่เอกสารและหลักฐานไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการจัดส่งรายงานข้อมูลเครดิต
- กรณีที่ท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการยื่นคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิต โปรดติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนบริหารข้อมูลผู้บริโภคและข้อโต้แย้ง โทรศัพท์ 0-2643-1250
**************************************************
สามารถตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ทาง www.ncb.co.th
ทนายภูวรินทร์
ผู้ดูแล
ลูกหนี้จำเป็น
4 พ.ย. 2553 18:06 #2
ขอบคุณคุณทนายภูวรินทร์มากค่ะ เป็นประโยชน์สำหรับลูกหนี้อย่างดิฉันจริงๆ :y:
ลูกหนี้จำเป็น
ผู้เยี่ยมชม