หมง
เรียกคืนมรดก (946 อ่าน)
29 ต.ค. 2553 08:24
กระผมมีปัญหากลุ้มใจอยากจะกราบเรียนถามดังนี้ครับคือ ภรรยาของกระผมเสียชีวิตไปแล้ว ( ประมาณห้าเดือน ) ก่อนที่จะเสียชีวิตมีหนี้สินอยู่กับแบ๊งค์และบัตรเครดิตหลายแห่ง ทั้งสินเขื่อเงินสดและบัตรประมาณ 500000 บาท เมื่อเธอเสียชีวิตไปแล้วเจ้าหนี้ทั้งหมดก็โทรมาทวงหนี้กับผม ผมก็ได้รับปากไปว่าจะใช้หนี้ให้บ้างแต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องตามกำลังความสามารถของผม เพราะจะใช้ให้ทั้งหมดผมคงไม่ไหว ภรรยาผมเองก็ไม่ได้มีทรัพย์มรดกอะไรเลย ตอนที่เสียชีวิตก็ได้เงินสินไหมจากบ.ประกันชีวิค ( ยกให้ลูก ) และเงินต่างๆที่ทางราชการจ่ายให้ ( เธอรับราชการ ) ซี่งก็เหลือไม่เท่าไรเพราะนำออกมาใช้ก่อน เงินค่าหุ้น เงินปันผล เงินฝากประจำที่สหกรณ์ ( ยกให้ลูก ) ก็ถูกหักเอาไปใช้หนี้สหกรณ์จนหมด เหลือเพียงแค่เงินฌปนกิจ 100000 กว่าบาท เงินชพค.( ช่วยเพื่อนครู ) ก็ยังไม่ได้รับ ซึ่งเงินเหล่านี้ต้องเก็บเอาไว้ให้ลูกทั้งหมด ซึ่งตามกฎหมายแล้วผมไม่รู้ว่าเขาถือว่าเป็นเงินมรดกหรือเปล่า นอกนั้นก็ไม่มีอะไร มีบ้านอีกหนึ่งหลังก็ช่วยกันปลูกสร้างกับผม แต่ก็ปลูกอยู่บนที่ดินของพ่อตาซึ่งยังไม่ได้แบ่งโอนให้ภรรยา เพราะไม่ได้คิดว่าลูกสาวจะต้องมาตายก่อนพ่อ ผมจะขายบ้านหลังนี้ใช้หนี้ก็ไม่มีคนซื้อเพราะไม่มีที่ดิน ซื้อแล้วอยู่ก็ไม่ได้เพราะพ่อตาผมเขาไม่ให้อยู่ รื้อก็ไม่ได้เพราะไม่ใช่บ้านไม้ ผมจึงอยากจะเรียนถามว่า 1. เงินที่ผมว่ามาทั้งหมดนี้คือ เงินสินไหมประกันชีวิต เงินเดือนเงินบำเหน็จเงินฌปนกิจ เงินช่วยเพื่อนครู ( ชพค ) ตามกฎหมายถือว่าเป็นเงินมรดกหรือไม่ 2. หากตามกฎหมายถือว่าเป็นมรดก แต่กระผมได้ใช้จ่ายตามปกติจนหมดไปแล้วเจ้าหนี้เขาจะฟ้องร้องเรียกคืนจากกระผมได้หรือไม่ 3. หากเขาฟ้องเรียกคืนและผมไม่มีใช้คืนให้เขาเจ้าหนี้เขาจะยึดหรัพย์บังคับคดีกับผมเหมือนกับลูกหนี้ทั่วไปได้หรือไม่ ( ผมเองก็ไม่มีทรัพย์สินใดๆเหมือนกันครับ เงินเดือนก็ไม่มี ) ส่วนเรื่องหนี้สินของภรรยาที่ผมรับปากว่าจะใช้ให้เขานั้น เวลานี้ผมเองก็กำลังดำเนินการเจรจาอยู่ พวกแบ๊งค์พวกบ.เครดิตเขาให้ผมทำหนังสือขอลดหย่อนหนี้พร้อมกับส่งเอกสารหนี้สินทั้งหมดของภรรยาไปให้เขาผมก็ทำให้ หนังสือที่ทำไปก็มีข้อความเหมือนๆกันคือ ตามที่นาง...ภรรยาของข้า...เป้นหนี้ท่านอยู่...ข้า...สามีจะขอใช้หนี้แทนให้ แต่ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะชำระให้ได้เต็มจำนวนทั้งหมด เนื่องจากข้า..มีรายได้น้อยและไม่แน่นอนจึงจะขอชำระเพื่อปิดบัญชีให้เพียง...เท่านี้ ขอให้พิจารณาด้วย เท่านี้และครับแล้วก็ส่งแฟ๊กซ์ไปให้เขา ไม่รู้ว่ามันจะกลายเป็นการยอมรับสภาพหนี้ของภรรยาทั้งหมดหรือเปล่า แต่เขาไม่เคยส่งเอกสารใดๆมาให้ผมรับสภาพหนี้และผมก็ไม่เคยเซ็นเอกสารใดๆของเขาว่าจะยอมรับใช้หนี้ให้ทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆเลยครับ กราบขอบพระคุณ
หมง
ผู้เยี่ยมชม
ทนายภูวรินทร์
29 ต.ค. 2553 21:52 #1
สวัสดีครับคุณหมง
มรดกคืออะไร อะไรคือมรดก
ตามกฎหมาย เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ และทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
หลักสำคัญทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ต้องเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนหรือขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย
ดังนั้น สิทธิในการรับเงินประกันชีวิตก็ดี เงินบำเหน็จก็ดี เงินฌาปนกิจก็ดี เงินช่วยเพื่อนครู (ช.พ.ค.) หรือเรียกชื่อเต็มว่า ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ดี เหล่านี้ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายครับ เพราะมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย
แต่ถ้าเป็นเงินสะสมซึ่งเป็นเงินที่ทางราชการหักจากเงินเดือนของผู้ตายในขณะมีชีวิตอยู่ เป็นทรัพย์สินของเจ้ามรดกก่อนตาย เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทครับ
เมื่อเงินดังกล่าวทั้งหมดไม่ใช่ทรัพย์มรดก การที่คุณได้ใช้จ่ายตามปกติจนหมดไปแล้วเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องเรียกคืนจากคุณได้ครับ
เรื่องบ้านที่คุณปลูกสร้างร่วมกับภรรยาบนที่ดินของพ่อตานั้น บ้านถือเป็นสินสมรส เมื่อการสมรสสิ้นลงด้วยความตายของภรรยา ก็ต้องแบ่งกันคนละส่วน ส่วนที่เป็นของภรรยาก็ตกเป็นมรดกได้แก่ทายาททุกคนรวมทั้งคุณด้วย หากเจ้าหนี้ทราบว่าภรรยามีมรดกนี้ก็อาจจะใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่บ้านหลังนี้ได้
ส่วนเรื่องหนี้สินของภรรยาคุณนั้น หากเป็นหนี้ที่สามีหรือภริยา ก่อให้เกิดขึ้น ในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้
(1) หนี้ เกี่ยวแก่ การจัดการบ้านเรือน และ จัดหาสิ่งจำเป็น สำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึง การรักษาพยาบาล บุคคลในครอบครัว และ การศึกษา ของบุตร ตามสมควร แก่อัตภาพ
(2) หนี้ที่ เกี่ยวข้องกับ สินสมรส
(3) หนี้ที่ เกิดขึ้นเนื่องจาก การงาน ซึ่ง สามีภริยา ทำด้วยกัน
(4) หนี้ที่ สามีหรือภริยา ก่อขึ้น เพื่อ ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่ อีกฝ่ายหนึ่ง ได้ให้สัตยาบัน
ในการชำระหนี้ร่วมกันนั้น ถ้าสามีภรรยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้จากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย
การที่คุณทำหนังสือจะชำระหนี้แทนจึงเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ที่ภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ซึ่งอาจต้องรับผิดชำระหนี้นั้นก็ได้
ดังนั้น ไม่ว่ากรณีใดไม่ต้องใจดีทำหนังสือจะชำระหนี้ใด ๆ แทนทั้งสิ้น ให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลด้วยตนเองตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่งเจ้าหนี้จะต้องฟ้องทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเป็นจำเลย คุณก็ไปให้การว่าภรรยาไม่มีทรัพย์มรดกอะไรเหลือให้ทายาทเลย มีแต่หนี้ หนี้ หนี้ และหนี้ เท่านั้น ซึ่งตามกฎหมายทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ส่วนการฟ้องคดีต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ว่าภรรยาคุณถึงแก่ความตาย หากล่วงพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วถือว่าคดีขาดอายุความครับ
ทนายภูวรินทร์
ผู้ดูแล
หมง
30 ต.ค. 2553 06:42 #2
กราบขออภัยครับ หากเขาจะถือว่านังสือที่กระผมทำไปให้เป็นหนังสือยินยอมรับใช้หนี้ให้ภรรยากระผม เขาก็ต้องยอมรับตามจำนวนเงินที่กระผมเสนอไป หากจะให้ใช้ทั้งหมดกระผมไม่มีและเพราะกระผมเสนอที่จะใช้ใขเพียงเท่านั้น ที่กระผมยอมที่จะใช้ให้นี้ก็เพราะไม่อยากที่จะให้มีหนี้สินติดตัวคนตายไปครับ กระผมอยากที่จะให้จบลงด้วยความยินยอมของเจ้าหนี้ครับ กราบขอบพระคุณ
หมง
ผู้เยี่ยมชม