ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

  การยอมความนอกศาลกับยอมความในศาล (21600 อ่าน)

9 ต.ค. 2553 08:17

  เรื่องการยอมความนอกศาลนั้น เคยมีหลายๆท่านเข้ามาปรึกษาว่า ทำได้ไหม? และมีรายละเอียดอย่างไร 
ผมขอแยกกระทู้และนำบทความอันจะเผยแพร่ความรู้ให้แก่บุคคลทั่วไปจากคลังปัญญาไทย ไว้ที่นี้นะครับ.....
    
  ในเรื่องของคดีความที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นต่อผู้เสียหายนั้น หากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ด้วยการประนีประนอมการยอมความกัน ในกรณีของคดีแพ่งก็จะเป็นเรื่องของการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ในคดีอาญานั้น ความผิดในบางข้อหาไม่สามารถยอมความกันได้ โดยจะกล่าวถึงรายละเอียดต่อไป
การยอมความในคดีอาญา 
        ความผิดอาญาอันยอมความได้ หมายถึง คดีอาญาประเภทซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเอกชนคนหนึ่งคนใดเป็นส่วนตัว มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือสังคมเป็นและความผิดใดจะเป็นความผิดอาญาอันยอมความได้นั้น กฎหมายจะต้องระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดฐานยักยอก ฉ้อโกง หมิ่นประมาท ทำให้เสียทรัพย์ อนาจาร ข่มขืนกระทำชำเรา ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงิน เป็นต้น ความผิดอาญาอันยอมความได้นี้เจ้าพนักงานของรัฐจะดำเนินคดีได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายเสียก่อน และต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด สำหรับคดีความผิดอันยอมความได้นี้ หากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาต่อไป ก็สามารถถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความได้ ซึ่งก็จะเป็นผลให้คดีดังกล่าวระงับไป
         คดีอาญาจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ คดีความผิดอาญาแผ่นดิน และคดีความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งสำหรับคดีความผิดต่อแผ่นดินนั้นเป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ เป็นส่วนได้เสียของประชาชนจะยอมความกันไม่ได้ ส่วนความผิดต่อส่วนตัวนั้นคู่กรณีสามารถตกลงยอมความกันได้ตัวอย่างเช่น คดีบุกรุกธรรมดากฎหมายได้บัญญัติให้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อมีการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไว้ ถ้าต่อมาภายหลังผู้แจ้งความจะไม่เอาเรื่องหรือไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ก็สามารถตกลงยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์ทำให้คดีอาญาระงับลงได้ 
        แต่ถ้าเป็นคดีบุกรุกในเวลากลางคืนหรือบุกรุกโดยมีอาวุธขู่เข็ญซึ่งเป็นเหตุฉกรรจ์กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวไว้ การบุกรุกในเวลากลางคืนหรือมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญจึงเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เมื่อแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้วก็ไม่อาจจะยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์ได้ ต้องดำเนินคดีต่อไป 
        ในการจะดูว่าความผิดอาญาใดยอมความได้หรือไม่นั้นจะต้องดูพฤติการณ์ลักษณะของการกระทำความผิดว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏน่าจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายมาตราใด ซึ่งส่วนใหญ่จะดูจากข้อหาที่จะดำเนินคดี โดยพนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบว่าการกระทำดังกล่าวพนักงานสอบสวนปรับให้เป็นความผิดตามบทมาตราใด 
         แต่ก็ไม่แน่เสนอไป เพราะบางกรณีหากพนักงานอัยการมีความเห็นว่ายังมีข้อเท็จจริงบางประการที่ยังไม่ได้สอบสวนไว้ ก็อาจจะขอให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติม สอบสวนเพิ่มเติมแล้วอาจจะมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่การกระทำผิดเข้าเหตุลักษณะฉกรรจ์ ก็จะมีการแจ้งให้ผู้ต้องหารับทราบข้อหาเพิ่มเติม ซึ่งการแจ้งข้อหาเบื้องต้นอาจเป็นเพียงความผิดต่อส่วนตัว แต่ข้อหาที่แจ้งเพิ่มเติมในชั้นพนักงานอัยการอาจเป็นข้อหาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดินแล้วแต่กรณี ซึ่งในการดำเนินคดีที่มีหลายข้อหาซึ่งล้วนเป็นความผิดต่อส่วนตัวนั้นคู่ความอาจจะตกลงยอมความเฉพาะบางข้อหาหรือทั้งหมดก็ได้ 
        การยอมความในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว กฎหายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ คู่กรณีจึงอาจตกลงกันด้วยวาจาโดยแสดงเจตนาเลิกคดีต่อกันโดยบริสุทธิ์ แม้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เช่น ตกลงถอนเรื่องไม่ติดใจให้สอบสวนต่อไป ตกลงตามรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันของตำรวจว่ายอมเลิกคดีบุกรุกกัน ฯลฯ แต่การที่ตกลงด้วยวาจาซึ่งขาดพยานหลักฐานยืนยันก็ต้องอาศัยพฤติการณ์มาพิจารณาว่าได้มีการตกลงกันจริง เช่น การที่จำเลยรื้อรั้วไปทำขึ้นตามแนวเขตใหม่ตามข้อตกลง การที่ผู้เสียหายรับว่าได้ตกลงยอมความกับจำเลยแล้ว หรือตกลงให้โจทก์ถอนคดีที่แจ้งความไว้โดยจำเลยชำระให้เป็นเงินสดและออกเช็คแก่โจทก์หรือการที่ผู้เสียหายแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าได้ทำสัญญาประนีประนอมโดยได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยเป็นที่พอใจแล้ว ฯลฯ
        นอกจากนี้ ถ้ากรณีที่การกระทำเป็นทั้งความผิดทางแพ่งและทางอาญานั้น จะต้องพิจารณาให้ดี ต้องดูว่าได้มีความมุ่งหมายที่ให้คดีอาญาระงับไปด้วยหรือไม่ เพราะการยอมความในคดีแพ่งที่จะทำให้คดีอาญาระงับไปนั้นจะต้องเป็นกรณีที่ผู้เสียหายสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาด้วย หากไม่ปรากฏว่าได้ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาต้องถือว่าเป็นการยอมความในคดีแพ่งเท่านั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องยังไม่ระงับ 

         ตัวอย่างแนวคำพิพากษาของศาลที่ไม่ถือว่าเป็นการยอมความในคดีอาญาด้วย เช่น การที่บิดามารดายอมรับขมา 2,000 บาท เพื่อให้ได้ตัวผู้เสียหายกลับคืนมา และเพื่อล้างอายโดยเข้าใจว่าบุตรสาวตามเขาไป เป็นเรื่องตกลงกันในทางแพ่งไม่เกี่ยวกับทางอาญา, การที่มีการยอมความในคดีแพ่งที่มีเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องผ่อนชำระเงินให้แก่โจทก์จนครบถ้วนเสียก่อน โจทก์จึงจะถอนฟ้องคดีอาญา ไม่ถือว่าโจทก์สละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาทันที, การทำบันทึกตกลงกันไว้ว่าถ้าจำเลยนำเงินมาคืนผู้เสียหายภายในกำหนด ผู้เสียหายจะไม่เอาเรื่องทั้งทางแพ่งและทางอาญานั้น ไม่เป็นการยอมความโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการยอมความโดยมีเงื่อนไข การยอมความโดยมีเงื่อนไขดังกล่าวจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปก็ต่อเมื่อจำเลยชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายแล้ว
         หรือในความผิดฐานยักยอกเพียงแต่ได้ส่งเงินไปใช้ให้โดยไม่ปรากฏว่ามีการทำความตกลงระงับข้อพิพาทต่อกัน ศาลฎีกายังเคยตัดสินว่ามิใช่การยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป 
        อย่างไรก็ตาม ในแต่ละข้อหาที่ถูกแจ้งให้ทราบว่าจะดำเนินคดีนั้น การที่เราจะทราบได้ว่าข้อหาดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้หรือไม่นั้น ในเบื้องต้นประมวลกฎหมายอาญาจะระบุไว้ชัดเจนว่าการกระทำความผิดตามมาตรานั้นๆ เป็นความผิดอันยอมความได้ โดยจะระบุไว้วรรคท้ายของมาตรานั้นๆ หรือในตอนท้ายของหมวดความผิดนั้นๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ คดีฉ้อโกงลักษณะธรรมดาจะเขียนไว้ว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ถ้าเป็นคดีฉ้อโกงประชาชน (คนหมู่มาก)จะไม่มีการเขียนไว้
        ดังนั้น คดีฉ้อโกงประชาชนจึงเป็นความผิดต่อแผ่นดินคือยอมความไม่ได้ หรือคดีลักทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นการลักทรัพย์ในลักษณะธรรมดาหรือการลักทรัพย์ลักษณะฉกรรจ์จะไม่มีการเขียนระบุไว้ว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ ทำให้คดีลักทรัพย์แม้จะเป็นการลักทรัพย์ในลักษณะธรรมดาเป็นคดีที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน จึงยอมความกันไม่ได้ เป็นต้น
        ดังนั้น ถ้าเป็นการแจ้งความบุกรุกธรรมดาก็อาจตกลงยอมความกันได้ แต่ถ้าแจ้งความบุกรุกในเวลากลางคืนหรือมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญและมีการแจ้งข้อหาลักทรัพย์มาด้วย คดีก็ไม่อาจตกลงยอมความกันได้
        การกระทำผิดอาญาแผ่นดินที่มีการพูดคุยกันนอกรอบว่าคดีนี้สามารถตกลงกันให้คดีเลิกกันได้เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกให้เสียเงินเสียทอง และเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายอาญาด้วย
คดีอาญาในความผิดอันยอมความได้ ระงับโดยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องและยอมความ
สำหรับคดีอาญาความผิดอันยอมความได้สามารถระงับคดีได้ ดังนี้
         (๑) โดยการถอนคำร้องทุกข์ เนื่องจากความผิดอาญาอันยอมความได้นั้น เจ้าพนักงานจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข ์(แจ้งความ) ต่อเจ้าพนักงานเสียก่อน และจะต้องร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลา ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด ฉะนั้นเมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์และต่อมาเจ้าพนักงานได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ไม่ว่าคดีจะอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล ผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะระงับหรือยกเลิกคดีด้วยวิธีถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ต่อพนักงานอัยการ หรือต่อศาลได้โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานดังกล่าวว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป
         (๒) โดยการยอมความ สำหรับคดีอาญาอันยอมความได้นี้ เมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว และไม่ว่าคดีดังกล่าวจะอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล หรือผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะระงับคดีหรือยกเลิกคดีโดยวิธียอมความได้อีกวิธีหนึ่งการยอมความในคดีอาญาดังกล่าวไม่มีแบบวิธีอย่างใด เพียงแต่แสดงหรือกระทำอาการใด ๆ ซึ่งทำให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป ก็เป็นอันใช้ได้แล้ว
        ตัวอย่าง เช่น นายขาวยื่นฟ้องนายแดงต่อศาลว่า นายแดงออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารได้ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินตามเช็คให้แก่นายขาว ในระหว่างที่ศาลกำลังกำลังสืบพยานอยู่ นายแดงและนายขาวได้ทำความตกลงต่อหน้าศาลว่า นายแดงจะชดใช้เงินตามเช็คให้นายขาว นายขาวจึงไม่ติดใจดำเนินคดีกับนายแดงต่อไป ก็ถือว่าเป็นการายอมความกันแล้ว ซึ่งมีผลทำให้คดีดังกล่าวระงับไป
         (๓) โดยการถอนฟ้อง คดีอาญาอันยอมความได้บางครั้งผู้เสียหายอาจจะไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่ได้ยื่นฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาลด้วยตนเอง ในกรณีนี้แม้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด เช่น กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ไม่ว่าในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา หากผู้เสียหายประสงค์จะระงับคดีหรือยกเลิกคดีก็สามารถทำได้โดยการถอนฟ้องได้ ซึ่งเมื่อถอนฟ้องไปแล้วก็จะนำคดีดังกล่าวมาฟ้องอีกไม่ได้
        ตัวอย่าง เช่น นายดำถูกนายเขียวฉ้อโกงเงินจำนวน ๒,๐๐๐ บาท นายดำจึงได้ยื่นฟ้องนายเขียวเป็นคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกง ต่อมาศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกนายเขียว ๖ เดือน นายเขียวอุทธรณ์ ขณะคดีกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์นายเขียวคืนเงินให้แก่นายดำ นายดำจึงถอนฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งก็มีผลทำให้คดีนี้เป็นอันระงับหรือยกเลิกไป นายเขียวไม่ต้องถูกจำคุก ๖ เดือน ตามที่ศาลชั้นต้นตัดสินต่อไป

การยอมความนอกศาลกับในศาลต่างกันหรือไม่ อย่างไร ? 
        การยอมความนอกศาล คือ การที่คู่พิพาทตกลงยุติ หรือระงับข้อพิพาทกันเองแล้วทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้เรียกว่า "สัญญาประนีประนอมยอมความ" เพื่อให้มีผลบังคับตามข้อตกลงใหม่ที่ได้ตกลงกัน หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตาม อีกฝ่ายก็สามารถนำไปเป็นหลักฐานฟ้องร้องคดีให้ปฏิบัติตามต่อได้
        การยอมความในศาล คือ การที่คู่ความสามารถตกลงยุติหรือระงับข้อพิพาทกันได้ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน แล้วให้ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว หากอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติ ก็สามารถบังคับคดีได้ทันที โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องเป็นคดีใหม่อีก
การยอมความและการถอนฟ้องต่างกันหรือไม่ อย่างไร ? 
        การยอมความกันสามารถทำได้ทั้งในศาลและนอกศาล โดยคู่ความยังต้องผูกพันและปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความอยู่ ส่วนการถอนฟ้องถือว่าคดีความที่ฟ้องร้องกันระงับไปโดยไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ต่อกันอีก
_______________________________________________________________________
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
คอลัมน์คลินิกกฎหมาย โดย สุกัญญา รัตนนาคินทร์
สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครศรีธรรมราช
http://www2.judiciary.go.th/pcrc/Klaiklae.htm
www.panyathai.or.th

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

กังวลมาก

กังวลมาก

ผู้เยี่ยมชม

18 พ.ย. 2553 21:41 #1

ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ถามนะคะ
ถ้านายบอยยิงปืนจากสวนของตัวเองไปโดนนางหญิงที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างที่ของตัวเองที่ติดกับที่ของอีกคนหนึ่งในเวลาประมาณสองทุ่ม เพราะคิดว่าเป็นขโมย โดยนางหญิงอ้างว่ามาเดินหาเขียดไม่ได้เป็นขโมยแต่อย่างใด ซึ่งนางหญิงได้รับบาดเจ็บสาหัสกระสุนฝังในต้องผ่าตัด ทางญาติของนายบอยเมื่อรู้ข่าวก็ดูแลเยี่ยมและพูดจาดี และอยากขอให้จบเรื่องด้วยการชดใช้เงินให้จำนวนสองแสนบาทและจะขอไม่ให้นางหญิงแจ้งตำรวจหรือดำเนินคดีกับนายบอย จะเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไรคะ

กังวลมาก

กังวลมาก

ผู้เยี่ยมชม

กังวลมาก

กังวลมาก

ผู้เยี่ยมชม

18 พ.ย. 2553 21:41 #2

ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ถามนะคะ
ถ้านายบอยยิงปืนจากสวนของตัวเองไปโดนนางหญิงที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างที่ของตัวเองที่ติดกับที่ของอีกคนหนึ่งในเวลาประมาณสองทุ่ม เพราะคิดว่าเป็นขโมย โดยนางหญิงอ้างว่ามาเดินหาเขียดไม่ได้เป็นขโมยแต่อย่างใด ซึ่งนางหญิงได้รับบาดเจ็บสาหัสกระสุนฝังในต้องผ่าตัด ทางญาติของนายบอยเมื่อรู้ข่าวก็ดูแลเยี่ยมและพูดจาดี และอยากขอให้จบเรื่องด้วยการชดใช้เงินให้จำนวนสองแสนบาทและจะขอไม่ให้นางหญิงแจ้งตำรวจหรือดำเนินคดีกับนายบอย จะเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไรคะ

กังวลมาก

กังวลมาก

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

19 พ.ย. 2553 00:55 #3

 ตอบคุณกังวลมาก
              คดีลักษณะดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นคดีอาญาแผ่นดิน คือเป็นความผิดต่อรัฐ ไม่สามารถยอมความได้ครับ ส่วนที่ถามมานั้น ผมขอตอบเป็น 2 กรณีครับ 1. ทางทฤษฎี เมื่อตำรวจสืบทราบก็สามารถดำเนินคดีได้โดยผู้เสียหายไม่ต้องแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี เช่นปกติทางโรงพยาบาลจะแจ้งให้ตำรวจทราบเพื่อดำเนินการตรวจสอบ ดังนั้น ไม่ว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ก็ไม่สามารถยอมความหรือให้ยุติคดีโดยไม่ติดใจเอาเรื่องได้ครับ 2. ส่วนทางปฏิบัติ ผู้กระทำผิดจะขอไม่ให้ผู้เสียหายแจ้งความหรือดำเนินคดีก็อาจจะเป็นไปได้ หากผู้เสียหายได้รับค่าตอบแทนจนเป็นที่พอใจแล้ว โดยจะต้องเป็นกรณีที่ตำรวจยังไม่ทราบเรื่องการเหตุการยิงกัน  แต่ก็เป็นการเสี่ยงเพราะไม่รู้ว่าต่อไปในอนาคตผู้เสียหายอาจจะเรียกเงินเพิ่มอีกก็ได้
             ดังนั้น หากมีการดำเนินคดีในชั้นศาลก็ควรจะต่อสู้คดีตามขั้นตอนของกฎหมายครับ

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

แหม่ม

แหม่ม

ผู้เยี่ยมชม

19 พ.ย. 2554 15:36 #4

น้องชายโดน คดีอนาจารค่ะ ตอนนี้โดนฝากขังอยู่เรือนจำ15วันแล้ว ทางผู้เสียหายบอกไม่เอาเรื่อง จะไม่ไปขึ้นศาล ดิฉันเลยจะไปตกลงกับเขาเรื่องยอมความ จะจ่ายค่าเสียหายให้เขาแต่ตอนนี้เรื่องถึงศาลแล้ว แต่ยังไม่ตัดสินเลย จะยอมความทันไหม และต้องไปที่ไหน ประกันตัวตั้ง1แสนทางเราก็ไม่มีเงินมาก แล้วถ้าศาลนัดให้ผู้เสียหายไปศาลแต่เขาไม่ไปเลย ศาลจะยกฟ้องไหมค่ะ ขอบคุณค่ะ

แหม่ม

แหม่ม

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

21 พ.ย. 2554 23:06 #5

ทนายภูวรินทร์ ได้ตอบคำถามคุณแหม่ม ในกระทู้ "สงสัย" เรียบร้อยแล้ว

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ช่วยตอบด่วนครับ

ช่วยตอบด่วนครับ

ผู้เยี่ยมชม

27 ก.พ. 2557 08:41 #6

ผมแอบมีกิ๊ก และดันไปมีบุตรขึ้น ภายหลังภรรยาผมรู้ ทางครอบครัวกิ๊ก ให้ไปตกลงเพื่อจะยุติ โดยให้ผมชำระเงิน 2 แสน ซึ่งผมตอบตกลงไปด้วยตัวเอง หลังจากนั้น ภรรยาผมเห็นว่าไม่ควรจ่าย เนื่องจากไม่ได้รับเป็นบุตรในการแจ้งเกิด ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ไม่ได้พิสูจน์อะไรเลย จึงเงียบไประยะหนึ่ง ผ่านไป 7 ปี กิ๊กเดือดร้อนเรื่องเงิน กลับมาทวงสัญญาที่ผมเคยสัญญาจะให้ 2 แสน จึงขอให้มาทำเรื่องยอมความ โดยทางกิ๊กไม่ต้องการจะให้เกิดการพิสูจน์ เนื่องจากบอกเด็กไปแล้วว่าพ่อตายไปแล้ว ซึ่งเด็กก็หน้าตามาทางผม ถ้าพิสูจน์มีแนวโน้มเป็นลูกผม แต่อย่างไรก็ตามทางกิ๊กต้องการยอมความนอกศาล โดยทำที่โรงพักต่อหน้าตำรวจเป็นพยาน โดยการยอมความจะไม่ฟ้องร้องหรือดำเนินคดีใด ๆ ในเรื่องดังกล่าว ด้วยเงิน 2 แสน
คำถามที่ 1. ในคีดแบบนี้สามารถยอมความได้หรือไม่ครับ
2.ถ้าผมทำตามสัญญา จ่าย 2 แสน ในโอกาสหน้า ทางกิ๊กสามารถจะเรียกร้อง ดำเนินคดีอีกได้หรือไม่
3.ผมจะกล่าวอ้างสัญญาข้อตกลงนอกศาลได้หรือไม่ ทั้งที่ถ้าพิสูจน์แล้ว ในความเป็นจริงผมอาจเป็นพ่อเด็กครับ
ผมอยากได้เบอร์โทรไปปรึกษา ว่าจ้างครับ

ช่วยตอบด่วนครับ

ช่วยตอบด่วนครับ

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

28 ก.พ. 2557 17:51 #7

            ตอบคำถามคนแอบมีกิ๊ก
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์
          มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อ 1. บิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือ 2.บิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือ 3. ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
          มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควร แก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้
          มาตรา 1565 การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงบุตรหรือขอให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่า กล่าวตาม มาตรา 1562 แล้ว บิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้
          มาตรา 1598/38 ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่าง บิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้เมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะ เลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่ เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและ พฤติการณ์แห่งกรณี
          มาตรา 1598/41 สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น จะสละ หรือ โอนมิได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี
          ตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น บิดาจะมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น กรณีของคุณมารดาเด็กจึงมีสิทธิยื่นฟ้องคุณต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรของคุณ (ม.1547) และขอให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 20 ปี (บรรลุนิติภาวะ) (ม.1564) หากเด็กไม่ใช่บุตรก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากคุณไม่ยอมรับเป็นบุตร และไม่ยอมตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ กฎหมายถือว่าคุณยอมรับและศาลจะพิพากษาให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมายต่อไป ดังนั้น เพื่อความสบายใจก็ควรตรวจพิสูจน์ให้แน่ชัดไปเลย
          ส่วนกรณีตามคำถามนั้น เนื่องจากกฎหมายมีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเด็กซึ่งไม่รู้เรื่องราวของผู้ใหญ่ จึงบัญญัติว่าสิทธิที่จะได้รับอุปการะเลี้ยงดูจะสละ หรือโอนไม่ได้ (ม.1598/41) ดังนั้น การทำสัญญายอมนอกศาลจึงไม่มีความหมาย เพราะหากทำสัญญากันนอกศาล ต่อไปหากเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ยังมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูอยู่ดี แม่เด็กก็ยังสามารถฟ้องศาลได้ และคุณจะอ้างสัญญายอมเพื่อปฏิเสธว่าไม่ต้องจ่ายก็ไม่ได้ เรื่องนี้รอให้ฟ้องศาลแล้วไปตกลงกันที่ศาลจะดีที่สุดครับ แต่จะยุ่งยากเพราะศาลเยาวชนและครอบครัว จะพิจารณาให้การคุ้มครองสิทธิของเด็กมาก มีขั้นตอนปฏิบัติยุ่งยากเหมือนกันครับ
          มีปัญหาสงสัยสามารถโทรศัพท์มาสอบถามเพิ่มเติมได้ครับ เบอร์โทรอยู่บนรูปผม
 

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

คนแอบมีกิ๊ก

คนแอบมีกิ๊ก

ผู้เยี่ยมชม

2 มี.ค. 2557 11:35 #8

ขอบคุณครับ ก็ควรเป็นอย่างงั้น
ในกรณีที่ฟ้องและรับเป็นบุตรแล้ว การเรียกค่าเลี้ยงดูจะสามารถเรียกย้อนหลังได้หรือไม่ หรือเริ่มชำระค่าเลี้ยงดูต่อเนื่องไปจนบรรลุนิติภาวะครับ แล้วค่าเลี้ยงดูเด็กมีวิธีการพิจารณาอย่างไรในจำนวนเงินที่ต้องจ่าย เนื่องจากทางผมก็มีบุตร 2คนครับ และค่าจ้างทนายภูวรินทร์ว่าความจนจบ ต้องใช้เงินประมาณเท่าใด และเราต้องชำระค่าทนายของอีกฝายหรือไม่ครับ ขอบคุณครับ

คนแอบมีกิ๊ก

คนแอบมีกิ๊ก

ผู้เยี่ยมชม

ทานตะวัน

ทานตะวัน

ผู้เยี่ยมชม

7 ก.ค. 2559 20:15 #9

สวัสดีคะ

ขอคำปรึกษาพรากผู้เยาว์





ขอบพระคุณล่วงหน้าคะ

ทานตะวัน

ทานตะวัน

ผู้เยี่ยมชม

ทานตะวัน

ทานตะวัน

ผู้เยี่ยมชม

7 ก.ค. 2559 20:21 #10

สวัสดีคะ

ขอคำปรึกษาพรากผู้เยาว์





ขอบพระคุณล่วงหน้าคะ

ทานตะวัน

ทานตะวัน

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

26 ก.พ. 2560 22:22 #12

****เนื่องจากทนายภูวรินทร์ ติดภารกิจศาลค่อนข้างมากไม่ได้เข้ามาตอบคำถาม****
จึงทำให้มีคำถามตกค้างเป็นจำนวนมาก      
ดังนั้น หากมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องการได้รับคำตอบแบบทันใด
​รบกวนโทรศัพท์มาปรึกษาพูดคุยข้อเท็จจริงกันจะสะดวกรวดเร็วมากกว่าครับ
หากโทรไม่ติด หรือไม่ได้รับ อาจเป็นเพราะติดคดีความในศาล ให้โทรมาใหม่อีกครั้ง
หรือพูดคุยกันในไลน์ก็ได้ครับจะสะดวกรวดเร็วกว่า
ผมยินดีให้คำปรึกษาครับ
ทนายภูวรินทร์ Tel. 081-925-0144 หรือ ID.LINE 0819250144

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

เป้

เป้

ผู้เยี่ยมชม

30 พ.ค. 2560 10:56 #13

ถ้าเป็น คดีทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บสาหัต สามารยอมความที่ขั้นศาลได้ใหมค่ะ
โดยชดใช้เป็นเงิน

เป้

เป้

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

9 ก.ค. 2560 21:25 #14

ตอบคำถามคุณเป้
         คดีอาญาข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นคดีอาญาแผ่นดินที่ไม่สามารถยอมความได้ กล่าวคือ การยอมจ่ายเงินค่าเสียหายไม่ทำให้คดีอาญาระงับไปเหมือนกับคดีความผิดต่อส่วนตัว เช่น ฉ้อโกง ยักยอก เป็นต้น แต่การที่ยอมชดใช้ค่าเสียหายถือเป็นการบรรเทาผลร้ายในการกระทำผิด อันมีผลทำให้ศาลใช้ประกอบในการพิจารณาลงโทษ และรอลงอาญาไว้ก่อนได้

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้