ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

  กฎหมายแรงงานเลิกจ้าง (952 อ่าน)

14 มิ.ย. 2553 23:03

เนื่องด้วยมีหลายๆท่านสอบถามเข้ามาเยอะมากเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานและการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม..ผมจึงขออนุญาตเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานและช่วยเหลือผู้ที่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ โดยจะขอนำบทความเกี่ยวกับ"กฎหมายแรงงาน"จากรศ.ดร.วิจิตรา (อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) ในหัวข้อเฉพาะที่มีผู้สอบถามกันมากสุดไว้ที่นี้ครับ

สิทธิของนายจ้างในการเลิกจ้าง
- นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างด้วยเหตุดังต่อไปนี้
(๑) กรณีสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนดเวลาแน่นอน เช่น ตกลง กัน ๓ ปี เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างแรงงานก็สิ้นสุดลง นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ เว้นแต่ว่าเมื่อถึงกำหนดลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีก และนายจ้างรู้ก็ไม่ว่าอะไร กรณีดังกล่าวต้องถือว่าทั้งคู่ได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยมีข้อตกลงเหมือนเดิม
(๒) กรณีลูกจ้างทำความผิดดังต่อไปนี้ นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
- จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งนั้นเป็นอาจิณ
- ละทิ้งหน้าที่
- กระทำความผิดอย่างร้ายแรง
- ทุจริตต่อหน้าที่
(๓) การเลิกจ้างในกรณีเป็นความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งกระทำผิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
- การทำงานของลูกจ้างตกเป็นพ้นวิสัย
-ลูกจ้างไร้ฝีมือ
-นายจ้างโอนสิทธิหรือลูกจ้างโอนหน้าที่ให้บุคคลภายนอก โดยคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม
(๔) สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ การเลิกจ้างต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า ถ้าสัญญาจ้างแรงงานมิได้กำหนดกันไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าไร นายจ้างจะเลิกจ้างด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้าง หรือค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญา เมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ หรือหมายถึงบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งช่วง การจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้าง แต่ไม่จำเป็นที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินกว่า ๓ เดือน หรือถ้านายจ้างจะเลิกจ้างทันทีก็ได้ โดยจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่จะต้องบอก กล่าวนั้น
(๕) กรณีนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันเลิกสัญญากันเมื่อใดก็ได้
สิทธิของลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง
-ในกรณีที่ลูกจ้างกระทำผิดดังต่อไปนี้เมื่อถูกเลิกจ้างลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยคือ
(๑) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(๒) จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย เช่น นัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
(๓) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง อันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว โดยหนังสือเตือนมีผลใช้บังคับไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด เว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน
(๕) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(๖) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หากลูกจ้างได้กระทำผิดตามข้อ (๑)-(๖) ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่หากไม่เข้ากรณีตามข้อ (๑)-(๖) แม้จะเป็นความผิดของลูกจ้างก็ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอยู่ �
-กรณีลูกจ้างไม่มีความผิด ลูกจ้างมีสิทธิ
(๑) เรียกค่าเสียหาย แม้สัญญาจ้างแรงงานยังไม่สิ้นสุดลงโดยมี การรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิม ลูกจ้างก็ยังอาจมีสิทธิเรียกจาก นายจ้างได้ ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ลูกจ้างจากการถูกเลิกจ้าง
(๒) เรียกค่าจ้างหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เฉพาะกรณีสัญญาจ้างแรงงานมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดลงไว้ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ถ้าต้องการให้ลูกจ้างออกจากงานทันที โดยนายจ้างมีเหตุผลอันสมควรในการเลิกจ้าง
(๓) เรียกค่าชดเชย อัตราค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้างนั้นถือหลักว่า ลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างเป็นเวลานานควรจะได้รับค่าชดเชยมากกว่าลูกจ้างที่มีอายุงานน้อย โดยลูกจ้างที่จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างจะต้องมีอายุการทำงานครบ ๑๒๐ วัน ซึ่งอายุการทำงานของลูกจ้างต้องนับวันหยุดวันลา วันที่นายจ้างอนุญาตให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง และวันที่นายจ้างสั่งให้หยุดเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง โดยมีอัตราในการจ่าย ดังนี้
๓.๑ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๑๒๐ วัน แต่ไม่ครบ ๑ ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๓๐ วัน
๓.๒ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๑ ปี แต่ไม่ครบ ๓ ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๙๐ วัน
๓.๓ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๓ ปี แต่ยังไม่ครบ ๖ ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๑๘๐ วัน
๓.๔ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๖ ปี แต่ยังไม่ครบ ๑๐ ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๒๔๐ วัน
๓.๕ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๑๐ ปีขึ้นไป มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๓๐๐ วัน
-ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิจะได้ค่าชดเชยคือลูกจ้างที่นายจ้างจ้าง โดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลา ของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน ๒ ปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง
(๔) สิทธิที่จะกลับเข้าทำงานตามเดิม โดยได้รับค่าจ้างเท่าเดิม กรณีเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม


...............................................................................................................................
 

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้