sprite

sprite

ผู้เยี่ยมชม

  รบกวนสอบถามเรื่องการเช่าช่วงโดยมิชอบครับ (11868 อ่าน)

5 เม.ย 2556 12:32

ผมกำลังจะไปเช่าล็อคขายของ ที่คิดว่าน่าจะเข้าข่ายการเช่าช่วงโดยมิชอบน่ะครับ จึงอยากจะสอบถามว่า การทำสัญญาระหว่าง ผม (ผู้เช่าช่วง) กับ นาย ก. ผู้เช่าล็อคปัจจุบัน (ผู้ให้เช่าช่วง) ตัวสัญญาที่ทำมีผลทางกฎหมายรึเปล่าครับ ในกรณีที่มีปัญหาอย่างเช่น

1. ในสัญญาระหว่างผม กับ นาย ก. ระบุไว้ว่าสัญญา 1 ปี แต่พอเวลาผ่านไปแค่ 4 เดือน จู่ๆนาย ก. อยากเปิดร้านขายซะเอง แล้วมาไล่ผมออกก่อนสัญญาได้หรือไม่ _

2. ในสัญญาระหว่างผม กับ นาย ก. ระบุไว้ว่า จะคืนเงินค่ามัดจำหลังจากผ่านไปครบระยะเวลาสัญญา 1 ปี แต่จู่ๆ นาย ก. ไม่คืนค่ามัดจำให้ผม ผมสามารถฟ้องร้องได้หรือไม่ _

3. กรณีที่นาย ก. เกิดต้องหลุดจากการเป็นผู้เช่าล็อคจากเจ้าของล็อคตัวจริง (เช่น ไม่จ่ายค่าเช่ากับเจ้าของล็อคตัวจริงเป็นเวลานานจนเค้าต้องไล่ หรือ หมดสัญญาเช่ากับเจ้าของล็อคตัวจริง) และพอดีว่าเจ้าของล็อคตัวจริงเกิดไม่ปล่อยเช่าแล้ว และ ผมเพิ่งเปิดร้านไปได้ยังไม่ถึง 1 ปีตามระยะเวลาในสัญญาระหว่างผม กับ นาย ก. ผมสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากใครได้บ้างรึเปล่า และ ถ้ากรณีนี้ นาย ก. ไม่คืนเงินค่ามัดจำให้ผมอีก ผมสามารถฟ้องร้อง นาย ก. ได้หรือไม่ _



รบกวนวานผู้รู้หน่อยนะครับผม



ขอบคุณครับ

sprite

sprite

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

8 เม.ย 2556 04:42 #1


       ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 544 บัญญัติไว้ว่า “ทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิ ของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่า  ถ้าผู้เช่าประพฤติฝ่าฝืนบทบัญญัติอันนี้ ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้” ดังนั้น หากสัญญาเช่าระหว่างเจ้าของผู้ให้เช่ากับนาย ก. ผู้เช่า ไม่มีข้อสัญญาให้เช่าช่วง หรือต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าก่อน ก็ต้องเป็นไปตามสัญญาเช่านั้น หากนาย ก. เอาทรัพย์สินที่เช่ามานั้นไปให้คุณเช่าช่วงโดยไม่มีข้อตกลงให้ทำได้หรือไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า ย่อมถือว่าผิดสัญญาและผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ส่วนเรื่องระหว่างคุณกับนาย ก. ก็ต้องไปว่ากล่าวกันเอง หรือหากคุณได้รับความเสียหายหรือต้องมีการคืนเงินแก่กัน ก็ต้องไปว่ากล่าว หรือฟ้องร้องกันเอง
       1. หากเป็นการเช่าช่วงโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามที่ตกลงกันในสัญญาเช่า หากคุณเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด ผู้ให้เช่าช่วงย่อมฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากคุณได้ ดังนั้น ผู้ให้เช่าจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่า หรือขับไล่ออกจากสถานที่เช่าก่อนครบกำหนดในสัญญาเช่าได้ และหากผู้ให้เช่ากระทำการดังกล่าวย่อมถือว่าผิดสัญญา คุณย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้เช่นกัน
       2. ฟ้องร้องได้
       3. ผู้เช่าช่วงต้องรับความเสี่ยงตรงข้อนี้ เนื่องจากตามมาตรา 545 บัญญัติว่า “ถ้าผู้เช่าเอาทรัพย์สินซึ่งตนเช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงอีกทอดหนึ่งโดยชอบ ท่านว่าผู้เช่าช่วงย่อมต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง ในกรณีเช่นว่านี้หากผู้เช่าช่วงจะได้ใช้ค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าไปก่อน ท่านว่าผู้เช่าช่วงหาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อการต่อสู้ผู้ให้เช่าได้ไม่ อนึ่ง บทบัญญัติอันนี้ไม่ห้ามการที่ผู้ให้เช่าจะใช้สิทธิของตนต่อผู้เช่า” หมายความว่า เป็นการเช่าช่วงโดยชอบด้วยกฎหมายคือเจ้าของเดิมอนุญาตให้ นาย ก. ผู้เช่านำทรัพย์สินที่เช่าไปให้คุณเช่าช่วงได้ แต่คุณในฐานะผู้เช่าช่วงก็จะต้องรับผิดต่อเจ้าของเดิมหรือผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง และแม้ว่าคุณจะได้จ่ายค่าเช่าให้แก่นาย ก.ผู้ให้เช่าช่วงไปแล้ว และนาย ก. ไม่ยอมนำไปชำระค่าเช่าแก่ผู้ให้เช่าเดิม ๆ ย่อมบอกเลิกสัญญาเช่าของนาย ก. ได้ ซึ่งทำให้สัญญาเช่าช่วงระงับไปด้วย และจะต้องออกจากสถานที่เช่าทั้งนาย ก.และคุณซึ่งเป็นผู้เช่าช่วง ส่วนการที่คุณไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสัญญาเช่าช่วงได้ คุณก็ต้องไปฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากนาย ก.ได้เพียงผู้เดียวเท่านั้น

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

8 เม.ย 2556 04:50 #2


             ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15922/2553 เป็นตัวอย่างของการเช่าช่วงโดยชอบกฎหมาย เมื่อสัญญาเช่าเดิมสิ้นสุด สัญญาเช่าช่วงย่อมสิ้นสุดไปด้วย และหากไม่ยอมออกจากสถานที่เช่าก็จะถูกผู้ให้เช่าฟ้องขับไล่เรียกค่าเสียหายได้ 
             โจทก์ ผู้ให้เช่า  จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าเดิม ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าช่วง
             การเช่าทรัพย์ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ ทั้งสองฝ่ายย่อมต้องผูกพันตามสัญญาเช่านั้น การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างไปให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงโดยโจทก์ยินยอม จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้เช่าช่วงโดยชอบ และต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ให้เช่าเดิมโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 545 จำเลยที่ 2 หาใช่บริวารของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงทำให้สัญญาเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงในวันเดียวกันด้วย เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเช่าต่อไปแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงอีกต่อไป การที่จำเลยที่ 2 ยังครอบครองทรัพย์ที่เช่าช่วงตลอดมาหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 จะโต้เถียงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่าจึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่
 

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

สไปรท์

สไปรท์

ผู้เยี่ยมชม

10 เม.ย 2556 11:22 #3

[size=150%]ขอบคุณมากๆเลยนะครับผม คุณทนาย[/size] :h::h:

สไปรท์

สไปรท์

ผู้เยี่ยมชม

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้