การประกันตัว(ขอปล่อยชั่วคราว)

Last updated: 19 ต.ค. 2566  |  5821 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การประกันตัว(ขอปล่อยชั่วคราว)

เนื่องจากมีหลายท่านมาปรึกษาผมเรื่องการขอปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว)ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลายท่านสอบถามว่าต้องทำอย่างไร ใช้หลักทรัพย์อะไรบ้างต้องเตรียมอะไรในการขอประกันตัว ผมจึงขออนุญาตเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการขอประกันตัว(ปล่อยชั่วคราว)จากศาลแขวงธนบุรีมาไว้ให้ทุกท่านที่ต้องการทราบข้อมูลไว้ในที่นี้ครับ......




การขอปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว)ผู้ต้องหาหรือจำเลย
ความหมายของการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย
การประกันตัวหรือการปล่อยชั่วคราว คือ การอนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาล ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมหรือขังเป็นเวลานานเกินความจำเป็นในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีของศาล



การขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย
1.ระหว่างผัดฟ้อง-ฝากขัง เมื่อผู้ต้องหาถูกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวมาขออนุญาตฝากขังระหว่างที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาล
2.ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ เมื่อศาลมีคำสั่งประทับฟ้องและหมายเรียกจำเลยให้มาแก้คดีหรือเมื่อจำเลยถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลแล้ว จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาล
3.ระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา เมื่อจำเลยถูกกักขังหรือจำคุกโดยผลของคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี
4.การร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวกรณีถูกกักขังหรือจำคุกในกรณีอื่น เช่น ศาลออกหมายจับพยานที่จงใจไม่ไปศาล หรือกรณีละเมิดอำนาจศาล หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ถูกจับกุมโดยเหตุจงใจขัดขืนคำบังคับบุคคลเช่นว่านั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้
 
ผู้มีสิทธิยื่นคำขอประกัน
1.ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ที่ถูกกักขังหรือจำคุกในกรณีอื่น
2.ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภรรยา ภริยา ญาติ ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง เป็นต้น
 

หลักทรัพย์ที่ใช้ในการประกันตัว
- เงินสด หรือ
- โฉนดที่ดิน , หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) , กรรมสิทธิ์ห้องชุด หรือ
-พันธบัตรรัฐบาล , สลากออมสิน , สลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ
- สมุดบัญชีฝากประจำ หรือ
-กรมธรรม์ประกันอิสรภาพ หรือ
-บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกัน เช่น ส่วนราชการกรณีข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องคดีอาญา ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ผู้ที่มีตำแหน่งข้าราชการ โดยต้องเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ต้องหา หรือจำเลย สามารถทำสัญญาประกันในวงเงินไม่เกิน 10 เท่าของอัตราเงินเดือนสุทธิหรือรายได้สุทธิเฉลี่ยต่อเดือน
 
หลักฐานที่ใช้ในการประกันตัว
กรณีใช้บุคคลเป็นหลักประกัน
- สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ต้องหา/ จำเลย นายประกัน และคู่สมรส พร้อมหนังสือยินยอมคู่สมรส (ถ้ามี) จำนวน 1 ชุด
- หนังสือรับรองจากต้นสังกัดแสดงสถานะตำแหน่ง และระดับอัตราเงินเดือน
- ใบรับรองเงินเดือนล่าสุดที่แสดงถึงรายรับหลังจากหักภาระต่างๆแล้ว (สลิปเงินเดือน)
- บัญชีแสดงหลักทรัพย์ต่าง ๆเช่น โฉนดที่ดิน บัญชีเงินฝาก ฯลฯ
 
เงินสด ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ต้องหา / จำเลย และนายประกัน จำนวน 1 ชุด
ที่ดิน
- สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ต้องหา/ จำเลย นายประกันและคู่สมรส หนังสือยินยอมคู่สมรส(ถ้ามี) จำนวน 1 ชุด
- เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด หรือเอกสารที่ดินอื่น ๆ และหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินจากสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือจากที่ว่าการอำเภอ ซึ่งออกให้ไม่เกิน 1เดือน โดยให้ระบุว่า เพื่อใช้ในการนำมาประกันตัวพร้อมทั้งสำเนาโฉนดที่ดิน จำนวน 1 ชุด
- ภาพถ่ายที่ดินและแผนที่ตั้งทางไปที่ดิน แสดงถึงทางเข้าออกชัดเจน
 
สลากออมสิน หรือ สลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ต้องหา / จำเลย และนายประกัน จำนวน 1 ชุด
- สำเนาสลากออมสิน หรือ สลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 1 ชุด
 
สมุดบัญชีเงินฝากประจำ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ต้องหา / จำเลย และนายประกัน จำนวน 1 ชุด
- หนังสือรับรองยอดเงินฝากสุทธิจากธนาคาร ณ วันที่ทำประกันพร้อมคำรับรองจากธนาคารว่าจะไม่อนุญาตให้ผู้ใดถอนเงินจนกว่าจะได้รับแจ้งจากศาล
 
พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้รัฐบาลประเภทมีใบตราสารซึ่งมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นนายประกัน ใช้วิธีจำนำเป็นประกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจดข้อความแสดงการใช้เป็นหลักประกันให้ปรากฏในตราสาร ก่อนที่ศาลจะรับไว้เป็นหลักประกัน ผู้ให้หลักประกันอยู่ในฐานะผู้จำนำ และสำนักงานศาลยุติธรรมอยู่ในฐานะผู้รับจำนำ การตีราคาหลักประกันถือมูลค่าเฉพาะตามราคาที่ตราไว้ของตราสารหนี้เท่านั้นไม่นำดอกผลมาตีราคาด้วย
 
เอกสารประกอบในการจำนำ/ ถอนจำนำสิทธิในพันธบัตรรัฐบาล
1.พันธบัตร
2.ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมเรียกเก็บเป็นรายฉบับตามสถานะของผู้จำนำ กรณีบุคคลธรรมดาฉบับละ 20 บาท กรณีนิติบุคคล ฉบับละ 100 บาท (ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าอากรแสตมป์ปิดหนังสือมอบอำนาจจำนวน 30 บาท ค่าพาหนะไปดำเนินการจดทะเบียน และอื่นๆ ผู้วางหลักประกันต้องเป็นผู้รับผิดชอบ)
3.เอกสารแสดงตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
3.1 กรณีบุคคลธรรมดา
สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของกรรมสิทธิ์/ ผู้รับมอบอำนาจ ที่เจ้าของบัตรฯลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
3.2 กรณีนิติบุคคล
(1) หนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ที่ออกไว้ไม่เกิน 3 เดือน หรือหนังสือแสดงความเป็นนิติบุคคลที่ออกโดยส่วนราชการ พร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง และตราประทับ (ถ้ามี)
(2)หนังสือมอบอำนาจ (กรณีให้บุคคลหนึ่งมากระทำการแทน)
(3) สำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจที่เจ้าของบัตรลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
 
หน้าที่และความรับผิดของนายประกัน
1.นายประกันมีหน้าที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งศาลตามที่ศาลนัดทุกนัด
2.หากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งศาลได้ ศาลจะมีคำสั่งให้ปรับนายประกันเต็มตามสัญญาประกัน 
3.กรณีที่ใช้บุคคลหรือตำแหน่งเป็นผู้ ประกัน หากมีการผิดสัญญาประกัน นายประกันต้องรับผิดตามสัญญาประกัน กล่าวคือ ต้องนำเงินมาชำระค่าปรับตามจำนวนที่ศาลสั่งปรับ
4.กรณีใช้ที่ดินเป็นประกันหากนายประกันไม่ชำระค่าปรับในกำหนดเวลาตามคำบังคับ ศาลจะนำที่ดินของนายประกันขายทอดตลาด และหากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระค่าปรับ ศาลจะมีคำสั่งให้ยึด หรืออายัดทรัพย์สินอย่างอื่นของนายประกันจนกว่าจะได้รับเงินค่าปรับครบถ้วนทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย
5.กรณีที่ศาลสั่งปรับนายประกันแล้ว นายประกันมีหน้าที่ติดตามตัวจำเลยมาส่งศาลและขอลดค่าปรับต่อศาล หรือหากอยู่ระหว่างติดตามตัวจำเลยมาส่งศาลนายประกันจะยื่นคำร้องแสดงความประสงค์ขอผ่อนชำระค่าปรับต่อศาลก็ได้




เนื้อหาอ้างอิงจากเอกสารเผยแพร่ความรู้ ศาลแขวงธนบุรี โดยมีจุดประสงค์เผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนทั่วไปเท่านั้น

 ****************************************************************

หากคุณมีปัญหาและต้องการคำปรึกษาด้านกฎหมาย เพิ่มเติม  
ติดต่อได้ที่     ทนายภูวรินทร์ ทองคำ  โทร.081-9250-144
E-Mail : Phuwarinlawyer@hotmail.com

http://www.phuwarinlawyer.com/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้