พินัยกรรมคืออะไร มีกี่แบบและทำอย่างไร

Last updated: 19 ต.ค. 2566  |  19970 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พินัยกรรมคืออะไร มีกี่แบบและทำอย่างไร

พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือ ในการต่าง ๆ ของผู้ทำพินัยกรรม หรือเป็นคำสั่งครั้งสุดท้าย เพื่อที่จะให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย โดยทำแบบใดแบบหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้


 
 


รูปแบบของพินัยกรรมนั้น มี 5 แบบ ดังนี้ 
 [1] พินัยกรรมแบบธรรมดา
1.      ต้องทำเป็นหนังสือ โดยจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้
2.      ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น
3.      ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
4.      พยานสองคนนั้นก็จะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นด้วย
5.      การขูด ลบ ตกเติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น ซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ในขณะที่ขูด ลบ ตกเติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ได้ลงวัน เดือน ปี และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อ

[2] พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
1.      ต้องทำเป็นเอกสารเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับจะพิมพ์ไม่ได้
2.      ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น
3.      ต้องลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือ หรือเครื่องหมายอย่างอื่นไม่ได้
4.      การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้

[3] พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง
1.      ผู้ทำพินัยกรรม ต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่นาย อำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
2.      นายอำเภอจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบแล้วนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้น ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง
3.      เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่าข้อความที่นายอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรง กันกับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
4.      ข้อความที่นายอำเภอจดไว้นั้น ให้นายอำเภอลงลายมือชื่อ และลงวัน เดือน ปี จดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่า พินัยกรรมนั้นได้ทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ข้างต้น แล้วประทับ ตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ
5.      การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์  เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม พยาน และนายอำเภอจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้

[4] พินัยกรรมทำแบบเอกสารลับ
1.      ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม
2.      ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรม แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น
3.      ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้น ไปแสดงต่อนายอำเภอและพยานอย่างน้อย 2 คน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดนั้นเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมมิได้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย
4.      เมื่อนายอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และวัน เดือน ปี ที่นำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองนั้น และประทับตราประจำตำแหน่งแล้ว ให้นายอำเภอ ผู้ทำพินัยกรรม และพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น
5.      การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้

 [5] พินัยกรรมทำด้วยวาจา
1.      ต้องมีพฤติการณ์พิเศษเป็นเหตุให้ไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม
2.      ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น
3.      พยานทั้งสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อนายอำเภอโดยมิชักช้า และแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้น ทั้งต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรมและพฤติการณ์พิเศษนั้นให้นายอำเภอทราบถึงข้อความเหล่านี้ด้วย
4.      ให้นายอำเภอจดข้อความที่พยานแจ้งไว้ และพยานทั้งสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้ ถ้าลงลายมือชื่อไม่ได้จะลงลายพิมพ์นิ้วมือ โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คนก็ได้
5.      ความสมบูรณ์แห่งพินัยกรรมนี้ย่อมสิ้นไป เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่เวลาผู้ทำพินัยกรรมกลับมาสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดไว้


 
หากคุณมีปัญหาและต้องการคำปรึกษาด้านกฎหมาย เพิ่มเติม  
ติดต่อได้ที่  ทนายภูวรินทร์ ทองคำ  โทร.081-9250-144

E-Mail : Phuwarinlawyer@hotmail.com

http://www.phuwarinlawyer.com/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้