คดีฟ้องหย่าชาวต่างชาติ  

image
  
     การที่คนไทยจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย หรือต่างประเทศ หากมีเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายไทย ก็สามารถยกขึ้นฟ้องหย่าได้ โดยปกติจะอ้างเหตุจงใจทิ้งร้างเกิน 1 ปี ไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูสามีหรือภริยา หรือกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง เป็นต้น
 
     แต่ปัญหาการฟ้องหย่าชาวต่างชาติมีมักจะพบคือ คำฟ้องจะต้องระบุที่อยู่ของคนคู่สมรสชาวต่างชาติด้วย เพราะต้องส่งหมายสำเนาคำฟ้องไปให้แก่จำเลยตามขั้นตอนกฎหมาย แต่บางคดีไม่สามารถฟ้องหย่าได้ เนื่องจากไม่เก็บหลักฐานแสดงที่อยู่ของคู่สมรสชาวต่างชาติไว้
      ดังนั้น หลักฐานแสดงที่อยู่ที่สำคัญที่ควรจะเก็บไว้ตั้งแต่จดทะเบียนสมรส คือ สำเนาหนังสือรับรองโสดของคู่สมรสชาวต่างชาติ ซึ่งจะระบุที่อยู่ถาวรของเขาที่ต่างประเทศ เอกสารนี้สำคัญมาก ไม่ควรคิดว่าชีวิตนี้คงไม่มีการเลิกลากัน อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน วันนี้รัก วันหน้าเลิก หรืออาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้แยกจากกันไปก็ได้ เมื่อจดทะเบียนสมรสจึงต้องถ่ายสำเนาเก็บไว้เสมอ และไม่ต้องคิดว่า สามารถไปขอคัดถ่ายจากเจ้าหน้าที่งานทะเบียนอำเภอหรือสำนักงานเขตเอาในภายหลังก็ได้ เพราะจากประสบการณ์เป็นทนายฟ้องหย่าชาวต่างชาติ ทนายไปขอคัดสำเนาหนังสือรับรองโสดจากสำนักงานทะเบียนอำเภอมาแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้เก็บสำเนาไว้ หรือสูญหายไปแล้ว เป็นต้น เมื่อไม่มีที่อยู่ก็ยื่นฟ้องคู่สมรสชาวต่างชาติไม่ได้
 
     นอกจากนี้ การสืบพยานคดีฟ้องหย่าชาวต่างชาติ จะต้องนำสืบหลักกฎหมายของประเทศคู่สมรสชาวต่างชาติด้วย ว่าประเทศเขายินยอมให้คู่สมรสสามารถหย่ากันได้หรือไม่ เพราะมิฉะนั้น ศาลจะพิพากษายกฟ้องเองได้ แม้จำเลยจะไม่มาศาล เป็นคดีที่สืบพยานฝ่ายเดียวก็ตาม ศาลก็ยกฟ้องมาแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9681/2557
 
     คำพิพากษาโดย ย่อ
 
     เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิใช่เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่เป็นบุคคลสัญชาติแอลจีเรีย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 บัญญัติว่า “ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า” ดังนั้นในเบื้องต้นต้องได้ความว่า กฎหมายแห่งประเทศแอลจีเรียอนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรียหย่ากันได้หรือไม่ จึงเป็นข้อสำคัญแห่งคดีที่ศาลจะต้องนำมาพิจารณาคดีเสียก่อนและเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบให้ปรากฏ เพราะกฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลไทยรับรู้ได้เอง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบกฎหมายเรื่องการหย่าของประเทศแอลจีเรีย ศาลชั้นต้นยกฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาโดยละเอียด
 
     โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน

     จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

     ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
     
     โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

     ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นคนมีสัญชาติไทย จำเลยเป็นคนสัญชาติแอลจีเรีย ประมาณปี 2545 จำเลยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยและรู้จักโจทก์ ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2547 โจทก์จำเลยเดินทางไปจดทะเบียนสมรสที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ตามกฎหมายไทย หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยาที่อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยขอหย่าอ้างเหตุว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 โจทก์จำเลยทะเลาะกันอย่างรุนแรง หลังจากนั้นจำเลยเก็บเสื้อผ้าออกจากบ้านพักที่อาศัยกับโจทก์ไปอยู่ที่อื่น แล้วไม่กลับมาหาโจทก์อีกเลย

     ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกามีว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจหยิบยกพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง มาเป็นเหตุพิพากษายกฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิใช่เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่เป็นบุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรีย พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 27 บัญญัติว่า “ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า” อันหมายความว่า ในกรณีที่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลสัญชาติประเทศอื่นหรือต่างเป็นบุคคลที่มีสัญชาติประเทศอื่นมาฟ้องหย่าในศาลไทย ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นเสียแต่ว่ากฎหมายของประเทศสามีหรือภริยาหรือของทั้งสองฝ่ายยินยอมให้สามีภริยาที่สมรสกันตามกฎหมายแล้วสามารถหย่ากันได้

     ดังนั้น คดีนี้ในเบื้องต้นจึงต้องได้ความเสียก่อนว่า กฎหมายของประเทศแอลจีเรียซึ่งเป็นสัญชาติของจำเลยมีบทบัญญัติให้บุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรียสามารถหย่าหรือฟ้องร้องบังคับหย่ากันได้ หากกฎหมายของประเทศแอลจีเรียไม่อนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรียที่จดทะเบียนสมรสแล้วหย่ากัน ศาลประเทศไทยก็ไม่อาจพิพากษาให้หย่ากันได้ ต้องพิพากษายกฟ้อง 
     
     แต่หากปรากฏว่ากฎหมายแห่งประเทศแอลจีเรียอนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรียหย่ากันได้ ศาลจึงจะพิจารณาเหตุหย่าตามกฎหมายประเทศไทยอันเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่ฟ้องหย่าต่อไปว่า มีเหตุที่จะพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่ากันได้หรือไม่

     ดังนั้น กฎหมายแห่งประเทศแอลจีเรียอนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรียหย่ากันได้หรือไม่ จึงเป็นข้อสำคัญแห่งคดีที่ศาลจะต้องนำมาพิจารณาคดีของโจทก์เสียก่อน และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบให้ปรากฏ เพราะกฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลไทยรับรู้ได้เอง

     เมื่อโจทก์ไม่นำสืบกฎหมายเรื่องการหย่าของประเทศแอลจีเรียดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำการดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ อันเป็นการให้เหตุผลตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติบังคับไว้ จึงเป็นการพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

     ที่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า แม้โจทก์มิได้นำสืบถึงเหตุหย่าตามกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลย แต่โจทก์อ้างเหตุหย่าตามกฎหมายไทยแล้ว จำเลยมิได้ต่อสู้คดี มิได้ยกข้อกฎหมายต่างประเทศมากล่าวอ้าง ศาลจึงไม่มีอำนาจหยิบยกกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลยมาวินิจฉัย จำเลยได้รับประโยชน์จากกฎหมายต่างประเทศจึงเป็นผู้มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ ศาลไทยต้องใช้กฎหมายไทยบังคับ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 เป็นกฎหมายรอง เมื่อขัดแย้งกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับแก่คดีนั้น ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

     พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

(จรูญ ชีวิตโสภณ - พฤษภา พนมยันตร์ - บุญไชย ธนาพันธ์สิน)
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้