คดีเกี่ยวกับทรัพย์  

คดีอาญา
     ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในคดีอาญา
 
     1. ลักทรัพย์ คือ การเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

     2. การลักทรัพย์ในกรณีต่างๆ ที่มีโทษหนักขึ้น ต้องระวางโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท ได้แก่ (1) ในเวลากลางคืน (2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ ฯลฯ  (3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใดๆ (4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้ (5) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้ (6) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน (7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป (8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้น ๆ (9) ในสถานที่บูชาสาธารณะ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณะ (10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ (11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง (12) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น

     หากทำผิดตั้งแต่สองข้อขึ้นไป ก็จะต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 140,000 บาท

     3. การวิ่งราวทรัพย์ คือ การลักทรัพย์ของผู้อื่นโดยฉกฉวยเอาไปซึ่งหน้า ถือว่าอุกอาจกว่าการลักทรัพย์ธรรมดา เช่น การกระชากกระเป๋าเงินของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท

     4. กรรโชกทรัพย์ คือ การเอาทรัพย์ของผู้อื่นในลักษณะข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท

     5. รีดเอาทรัพย์ คือ การเอาทรัพย์ของผู้อื่นในลักษณะข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท

     6. การชิงทรัพย์ คือ การลักทรัพย์ที่มีลักษณะรุนแรงกว่าลักทรัพย์ธรรมดา โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือ  ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น หรือ ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ หรือ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ ให้พ้นจากการจับกุม  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 200,000 บาท  

     7. การปล้นทรัพย์ คือ การชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ถือเป็นความผิดรุนแรงกว่าชิงทรัพย์

     8. ถ้าการชิงทรัพย์/ปล้นทรัพย์ โดยมีการใช้อาวุธ หรือ ทำร้าย ให้เป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย หรือแต่งกายเป็นทหาร/ตำรวจ หรือใช้ยานพาหนะด้วย ก็จะมีโทษเพิ่มหนักขึ้นตามลำดับ

     9. การฉ้อโกงทรัพย์ คือ การเอาทรัพย์ของผู้อื่นโดยการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     10. การยักยอกทรัพย์ คือการที่ผู้กระทำผิดครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไป

     11. การโกงเจ้าหนี้ คือ การกระทำใดๆ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     12. การยักยอกทรัพย์ คือ เมื่อได้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แล้วกระทำการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     13. รับของโจร คือ การที่ผู้กระทำผิดได้ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     14. ทำให้เสียทรัพย์ คือ การทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     หากไปกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นเครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกสิกรรมหรืออุตสาหกรรม หรือปศุสัตว์ หรือยวดยานหรือสัตว์พาหนะที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะหรือในการประกอบกสิกรรมหรืออุตสาหกรรม หรือ เป็นพืชหรือพืชผลของกสิกร หรือเป็นทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ก็จะได้รับโทษหนักขึ้น จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     15. บุกรุก คือความผิดที่ผู้กระทำผิดได้เข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันควร หรือ มีเหตุผลสมควรแต่ผู้ให้เข้าไม่ให้อนุญาต ซึ่งเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     หากกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือ โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ ในเวลากลางคืน ก็จะได้รับโทษหนักขึ้น

     ความผิดฐานบุกรุก แม้ตัวจะไม่ได้เข้าไป แต่ยื่นมือเข้าไปในรั้วบ้านคนอื่นก็มีความผิดฐานนี้ได้
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้