การตอบคำถามทางเว็บไซท์ http://www.phuwarinlawyer.com/ เป็นเพียงความคิดเห็นเบื้องต้นทางกฎหมายซึ่งได้วินิจฉัยและตอบคำถามจากข้อเท็จจริงเพียงเท่าที่ปรากฏเท่านั้น โดยอาจมีรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อมูลอื่นๆ ที่ผู้ถามมิได้แจ้งข้อมูลมาอย่างครบถ้วนที่จะประกอบการวินิจฉัยอย่างเพียงพอ ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณประกอบการตัดสินใจ ************************************************************** ติดต่อปรึกษาทางโทรศัพท์ 081-9250-144 หรือ Line ID 081-9250-144 **กรณีหากไม่รับสายแสดงว่าติดภารกิจศาลหรือติดงาน กรุณาโทรติดต่อใหม่อีกครั้ง**
ตอบคุณภสุคะเน เมื่อถูกร้องทุกข์ดำเนินคดี ก็ต้องต่อสู้คดีกันตามกระบวนการของกฎหมายครับ โดยเจ้าพนักงานตำรวจจะส่งหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา หากไม่ไปอาจถูกขออนุมัติศาลออกหมายจับได้ ส่วนการให้ปากคำก็สามารถให้การสั้น ๆ ปฏิเสธข้อหาและขอให้การในชั้นศาลได้ ส่วนประเด็นข้อต่อสู้ต่าง ๆ นั้น ต้องปรึกษากับทนายความให้รัดกุมรอบคอบ และหาหลักฐานประกอบการต่อสู้คดีด้วย ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร มิใช่มีแต่คำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีหลักฐานสนับสนุน มิฉะนั้น ศาลอาจไม่รับฟังได้
ตอบคำถามคุณพรหมเพชร หลักกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานยักยอก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 บัญญัติว่า “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” แต่หากผู้กระทำความผิดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เช่น ยักยอกเงินต่างจำนวนต่างวันเวลากัน คือเอาไปหลายครั้ง กฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป และหากกรณีความผิดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป เช่น ร่วมกันวางแผนกระทำผิด มีการแบ่งหน้าที่กันทำ แบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากการกระทำความผิด ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นถือเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย ตามคำถามขอตอบเรียงลำดับดังนี้ 1. การที่น้องผู้หญิงได้นำเงินออกจากบัญชีเงินฝากของสมาชิกไปใช้ส่วนตัว เป็นเงิน 2500000 บาท ถือเป็นการกระทำความผิดอาญาฐานยักยอกมีความผิดตามมาตรา 352 ส่วนผู้จัดการสหกรณ์หากมีพยานหลักฐานเชื่อมโยงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในลักษณะเป็นตัวการร่วม ก็ถือว่ามีความผิด และอาจถูกดำเนินคดีไปด้วย 2. หากโจทก์นำสืบแสดงให้ศาลเห็นว่าน้องผู้หญิงกระทำความผิดจริง ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำคุก ส่วนจะเป็นกี่ปีนั้น เป็นดุลพินิจของศาล ไม่อาจตอบได้ เพราะไม่ได้เป็นคนตัดสินคดีเอง และการเอาเงินไปเป็นจำนวนมาก ปกติศาลจะไม่รอการลงโทษ หรือรอลงอาญา 3.คุณสมบัติของข้าราชการจะต้องไม่เป็นผู้ต้องเคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ดังนั้น หากคดีถึงที่สุดและไม่มีการรอลงอาญา ย่อมต้องถูกจำคุกจริง ๆ และทำ ให้ขาดคุณสมบัติของข้าราชการได้ แต่หากศาลพิพากษารอลงอาญา คือไม่ได้รับโทษจำคุกจริง ๆ แม้ไม่ขาดคุณสมบัติดังกล่าว แต่ก็อาจเข้าข่ายต้องห้ามตามหลักจริยธรรม คือ ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี ซึ่งทำให้ขาดคุณสมบัติตามข้อนี้ได้อีกเช่นกัน 4. คดียักยอกเป็นความผิดอันยอมความกันได้ หากมีการถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมเป็นอันระงับตามกฎหมาย ไม่ถูกฟ้อง ไม่ถูกศาลตัดสิน และถูกลงโทษ ซึ่งการถอนคำร้องทุกข์ส่วนมากเกิดจากผู้กระทำผิดชำระเงินคืนแก่ผู้เสียหาย แต่คดีนี้ผู้เสียหายเป็นหน่วยงานสหกรณ์ ต้องขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าหากมีการชำระเงินคืนทั้งหมดจะยอมถอนคำร้องทุกข์หรือไม่ เพราะบางทีอาจต้องการดำเนินคดีถึงที่สุดเพื่อมิให้เกิดการกระทำความผิดลักษณะนี้อีกก็ได้ 5.คดีอาญา บุคคลที่จะได้รับโทษตามกฎหมายคือผู้กระทำผิดเท่านั้น ไม่มีผลไปถึงบุคคลอื่น ใครทำผิด คนนั้นต้องรับโทษเองเป็นการเฉพาะตัว สามีไม่ได้ร่วมกระทำความผิด จึงไม่มีผลกระทบใด ๆ ให้ถูกลงโทษตามไปด้วย