การตอบคำถามทางเว็บไซท์ http://www.phuwarinlawyer.com/ เป็นเพียงความคิดเห็นเบื้องต้นทางกฎหมายซึ่งได้วินิจฉัยและตอบคำถามจากข้อเท็จจริงเพียงเท่าที่ปรากฏเท่านั้น โดยอาจมีรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อมูลอื่นๆ ที่ผู้ถามมิได้แจ้งข้อมูลมาอย่างครบถ้วนที่จะประกอบการวินิจฉัยอย่างเพียงพอ ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณประกอบการตัดสินใจ ************************************************************** ติดต่อปรึกษาทางโทรศัพท์ 081-9250-144 หรือ Line ID 081-9250-144 **กรณีหากไม่รับสายแสดงว่าติดภารกิจศาลหรือติดงาน กรุณาโทรติดต่อใหม่อีกครั้ง**
การมอบอำนาจคืออะไร และทำอย่างไร การมอบอำนาจ คือ การที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ตัวการ มอบให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ตัวแทน มีอำนาจทำการแทน และการกระทำนั้นมีผลในทางกฎหมายเสมือนว่า ตัวการทำด้วยตนเอง *การมอบอำนาจให้ทำกิจการใดที่กฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือ การมอบอำนาจให้ทำกิจการนั้นก็ต้องทำเป็นตัวหนังสือ เช่น การซื้อขายที่ดิน กฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือ ฉะนั้น การมอบอำนาจให้ขายที่ดินก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย โดยจะใช้แบบพิมพ์ของกรมที่ดินหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ต้องมีสาระสำคัญครบถ้วน แต่เพื่อความสะดวกควรใช้แบบพิมพ์ของกรมที่ดิน โดยผู้นั้นจะต้องทำหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้ไปทำการแทนและควรมอบบัตรประจำตัวของผู้มอบอำนาจให้กับผู้รับมอบอำนาจนำไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย เจ้าของที่ดินและผู้ที่จะซื้อที่ดินจะต้องระมัดระวัง หรือกระทำการให้รัดกุมรอบคอบอาจเกิดการฉ้อโกงหรือได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงได้ จึงขอให้ผู้มอบได้ปฏิบัติตามคำเตือนหลังใบมอบอำนาจโดยเคร่งครัด หนังสือมอบอำนาจควรใช้ตามแบบของกรมที่ดิน ซึ่งมีอยู่ ๒ แบบ สำหรับที่ดินมีโฉนดแล้วแบบหนึ่ง กับ ที่ดินที่ยังไม่มีโฉนดอีกแบบหนึ่ง หากจะใช้กระดาษอื่น ควรเขียนข้อความอนุโลมตามแบบพิมพ์ของกรมที่ดิน เพราะจะได้รายการที่ชัดเจนและถูกต้อง ข้อแนะนำปฏิบัติสำหรับการทำหนังสือมอบอำนาจ มีดังนี้ ๑.ให้กรอกเครื่องหมายหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เช่น ตึก ,บ้านเรือน , โรง ให้ชัดเจน ๒.ให้ระบุเรื่องและอำนาจจัดการให้ชัดเจน ว่ามอบอำนาจให้ทำอะไร เช่น ซื้อ ขาย จำนอง ฯลฯ ถ้ามีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติมก็ให้ระบุไว้ด้วย ๓.อย่ากรอกข้อความให้ต่างลายมือและใช้น้ำหมึกต่างสีกัน ถ้าใช้เครื่องพิมพ์ดีดก็ต้องเป็นเครื่องเดียวกัน ๔.ถ้ามีการขูด ลบ ตกแต่ง แก้ไข หรือขีดฆ่า ให้ระบุว่าขีดฆ่าตกเติมกี่คำ และผู้มอบอำนาจต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกแห่ง ๕.อย่าลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจก่อนกรอกข้อความโดยครบถ้วนและถูกต้องตามความประสงค์แล้ว หรืออย่าลงชื่อในกระดาษเปล่าซึ่งยังมิได้กรอกข้อความเป็นอันขาด ๖.ให้มีพยานอย่างน้อย ๑ คน ถ้าผู้มอบอำนาจพิมพ์ลายนิ้วมือต้องมีพยาน ๒ คน พยานต้องเซ็นชื่อจะพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้ กรณีที่ผู้มอบมีคู่สมรสและทรัพย์สินที่มอบอำนาจให้มาดำเนินการนั้นเป็นสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หากไม่มีหลักฐานที่คู่สมรสของผู้มอบยินยอมให้ทำนิติกรรมไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ต้องให้คู่สมรสของผู้มอบลงชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจด้วย ๗.หนังสือมอบอำนาจทำในต่างประเทศ ควรให้สถานทูต หรือสถานกงสุล หรือโนตารีพับลิค รับรองด้วย ๘.กรณีผู้มอบอำนาจมีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป และมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้มอบจะยังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่และมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์หรือไม่ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะสอบสวนคู่กรณี หรือเรียกบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือเรียกให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ บางเรื่องผู้มอบอำนาจเป็นผู้รับมอบอำนาจจากทั้งสองฝ่าย คือ เป็นตัวแทนทั้งฝ่ายผู้โอนและผู้รับโอน ในกรณีเช่นนี้ ผู้มอบอำนาจจะต้องระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจด้วยว่า ยินยอมให้ผู้รับมอบเป็นตัวแทนของอีกฝ่ายหนึ่งได้ด้วย (มาตรา ๘๐๔ แห่ง ป.พ.พ.) ในส่วนผู้รับซื้อหรือผู้รับสิทธิในนิติกรรมมีหน้าที่ระมัดระวังด้วย โดยจะต้องรู้จักตัวเจ้าของที่ดินที่แท้จริง เพราะจะซื้อที่ดินทั้งที เงินก็มาก ต้องรู้จักเจ้าของที่ดินว่ามีตัวตนหรือไม่ ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ มีเจตนาจะขายที่ดินหรือไม่ หากไม่รู้จักเจ้าของที่ดินที่แท้จริงเสียเลย ย่อมเป็นการผิดวิสัย ถ้าไม่แน่ใจก็อาจขอตรวจดูหลักฐานที่ดิน ที่สำนักงานที่ดินก่อนได้ จึงขอให้ผู้รับโอนได้ใช้ความระมัดระวัง เพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตนเอง ทำอย่างไรที่ดินของท่านจึงจะปลอดภัยจากผู้ทุจริต ๑.ไม่มอบโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ๒.อย่าลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ โดยไม่กรอกข้อความให้ครบถ้วน ๓.ควรไปติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับที่ดินของท่านอย่างน้อย ปีละ ๑ ครั้ง ********************************************************************* ที่มา : กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย (ข้อมูลจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุกรม กรมที่ดิน) credit photo : http://www.usawills.com/
ตอบคำถามคุณnustachai
ตอบคำถามคุณ peepeya เรื่องที่สอบถามไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมาย แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติของธนาคาร จึงควรที่จะสอบถามกับทางธนาคารโดยตรงว่าจะจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง เช่น รับมอบอำนาจไปแจ้งความว่าสมุดหาย แล้วเอาเอกสารไปขอเบิกจะได้หรือไม่ เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องสอบถามความชัดเจนจากธนาคารจะดีที่สุดครับ เพราะธนาคารจะสร้างเงื่อนไขเพื่อป้องกันการทุจริตหรือการแอบอ้างมาเบิกเงินในบัญชีของผู้อื่น แล้วภายหลังเจ้าของที่แท้จริงไม่เคยรับรู้ ธนาคารจะมีความผิดชำระเงินคืนแก่เจ้าของบัญชี